อสังหาฯ ฝ่า 5 ปัจจัยลบ เศรษฐกิจไทย เข็น ขายใหม่ 3.46 แสนล.

23 มี.ค. 2565 | 14:36 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มี.ค. 2565 | 21:45 น.

อสังหาฯไทย ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโลก เกมขัดแย้งมหาอำนาจ วิกฤติยูเครน ลุ้น กทม. - ปริมณฑล ปี 65 ขายใหม่ขยับ 16% ทะลุ 3.46 แสนล้าน ขณะสภาพัฒน์ รับเศรษฐกิจไทยเสี่ยง 5 ด้าน ดอกเบี้ยปรับ -สงครามยืดเยื้อ 2 ผู้พัฒนาฯ ดัง เดินหน้าขุดเรียลดีมานด์ เตือนรับมือต้นทุนพุ่ง

ปี 2565 ถือเป็นบันไดขั้นแรก การฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยไทย ก่อนคาดจะกลับมาเทียบเท่าสถานการณ์ปกติ ในช่วงปี 2567 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังถูกหลายปัจจัยท้าทายจากความผันผวนของโลก และความเสี่ยงกระทบซ้ำฐานการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างน่าจับตามอง

อสังหาฯ ฝ่า 5 ปัจจัยลบ เศรษฐกิจไทย เข็น ขายใหม่ 3.46 แสนล.

เศรษฐกิจไทย เฝ้าระวัง 5 ปัจจัยเสี่ยง

นาย วิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยอมรับ ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ มีความเปราะบางสูง จากเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ที่วางไว้ 3.5 - 4.5% และกรอบเงินเฟ้อ 1.5-2.5%  เนื่องจาก ขณะนี้เผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลัก 5 เรื่อง ได้แก่

  1. ความกังวลที่โควิด-19 อาจมีการกลายพันธุ์เพิ่มเติม
  2. ความผันผวนของโลก
  3. ปัญหาอสังหาฯในประเทศจีน
  4. ปัญหาเศรษฐกิจโลกจากประเทศอ่อนแอ และ
  5. ปัญหาความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน 

อสังหาฯ ฝ่า 5 ปัจจัยลบ เศรษฐกิจไทย เข็น ขายใหม่ 3.46 แสนล.

โดยเฉพาะประเด็นความผันผวนของโลก และสงคราม ส่งผลให้ขณะนี้ราคาน้ำมัน ,ราคาสินค้า เปลี่ยนแปลงสูงสุด จนน่ากังวลต่อเศรษฐโลก สิ่งที่ท้าทายกลับเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย ที่ยังไม่แข็งแกร่งดีพอ จากภาพการฟื้นตัว 1.6% ในปี 2564 แบบตัว K (ไม่เท่าเทียม) พบภาคท่องเที่ยวและบริการ ยังเป็นจุดอ่อน ขณะโควิด-19 ทิ้งร่องรอยทางเศรษฐกิจมากมาย ทั้ง ภาคธุรกิจ ครัวเรือน และภาครัฐ เกิดภาพ หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นหลายประเทศ จะกดดันต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้  ส่วนภาคอสังหาฯ ผู้ประกอบการเริ่มกังวล จากภาวะต้นทุนการพัฒนาสูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มขยับ 

 

"สิ่งที่เศรษฐกิจไทยต้องเฝ้าระวัง คือ แรงกระแทกต่อการปรับนโยบายการเงินของสหรัฐ หากดีเดย์ปรับดอกเบี้ยขึ้น แต่เงินเฟ้อไม่ลด เศรษฐกิจโลกจะหดตัวรุนแรง ซ้ำเติมการเล่มเกมใหม่ๆของคู่ขัดแย้ง กระทบห่วงโซ่การส่งออกของไทย ส่วนโควิดถ้าไม่จบ ภาคท่องเที่ยวไม่ฟื้น อาจฉุดจีดีพีไทยลด 0.5% "

 

ที่อยู่อาศัยขายใหม่ขยับ 16.1% เตือนทาวน์เฮ้าส์พุ่ง

เจาะตลาดที่อยู่อาศัย กทม.-ปริมณฑล นาย วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ระบุ ว่า ปีนี้ยังต้องประเมินการฟื้นตัว จากการขยายตัวของ จีดีพี , อัตราเฉลี่ยของดอกเบี้ย MRR และผลกระทบเชิงนโยบายและสถานการณ์ที่สำคัญ เช่น อัตราเงินเฟ้อทั่วไป  ค่าแรง ,ค่าวัสดุก่อสร้าง ,รายได้ของผู้คน และ อัตราดูดซับบ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียม โดยประเมินร่วมว่ายังไม่กระทบรุนแรง  แต่หากสถานการณ์เปลี่ยน ตัวเลขในแง่ต่างๆ อาจหดตัวลงราว 10% 

อสังหาฯ ฝ่า 5 ปัจจัยลบ เศรษฐกิจไทย เข็น ขายใหม่ 3.46 แสนล.

เบื้องต้น คาดจะมีที่อยู่อาศัยขายได้ ราว 77,222 หน่วย เพิ่มขึ้น 24.7 % มูลค่า 346,389 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.1 %  โดยเฉพาะโครงการบ้านจัดสรร ส่วนคอนโดฯ จะเพิ่มขึ้น 40.1 % แต่สิ่งที่ท้าทาย คือ จำนวนหน่วยเหลือขาย REIC คาด ณ สิ้นปี 2565 จะมีหน่วยเหลือขาย160,472 หน่วย มูลค่า 762,810 ล้านบาท โดยเฉพาะการเร่งตัวของสต็อกกลุ่มทาวน์เฮ้าส์ จากแผนเปิดตัวใหม่ และโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา หรือ สร้างเสร็จแล้วแต่ยังขายไม่ออก รวมถึงหากโควิค 19 ลุกลามจนต้องล็อกดาวน์ อสังหาฯคงไม่กระเตื้องเท่าที่ควร  ระวังบ้านมือสองทดแทนบ้านใหม่ 

 

เสนาฯ - บริทาเนียรับมือต้นทุน

ทั้งนี้ ในแง่การปรับตัวของผู้ประกอบการ นางสาว เกษรา   ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า ขณะนี้ ผู้ประกอบการ กังวล กับภาวะวิกฤติ ที่ต่างไปจากทุกครั้ง เนื่องจากในอดีต เวลาเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ หรือ อื่นๆ  มักทำให้ราคาของสินค้าตกลง , คนซื้อน้อยลงจากเศรษฐกิจไม่ดี ขณะเดียวกัน ต้นทุนก็จะลดลงตามไปด้วย เป็นโอกาสการซื้อตุน ไว้เพื่อรองรับการกลับมาเติบโต  แต่วิกฤติโควิดครั้งนี้ ทำลายทฤษฎีข้างต้นลง  ซึ่งอสังหาฯ เผชิญกับต้นทุนเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่แรงงาน และ วัสดุก่อสร้าง ที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันโลก เช่นเดียวกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน และค่าจ้างพุ่ง ทั้งการพัฒนาบ้านและคอนโดฯ อย่างไรก็ตาม พบว่า เรียลดีมานด์ (การซื้อที่อาศัยเพื่ออยู่จริง) ยังพอมี ทำให้ผู้ประกอบการปรับตัว และขายได้ต่อ แต่แนะให้ระวังต้นทุน และกระแสเงินสดมากเป็นพิเศษ  

อสังหาฯ ฝ่า 5 ปัจจัยลบ เศรษฐกิจไทย เข็น ขายใหม่ 3.46 แสนล.

เช่นเดียวกับ นาง ศุภลักษณ์ จันทร์พิทักษ์       ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บริทาเนีย  ระบุว่า บริษัทยังสามารถเติบโตได้โดดเด่น ในกลุ่มแนวราบราคาแพง สะท้อนความต้องการของเรียลดีมานด์ โดยกุญแจความสำเร็จ คือ การปรับโปรดักส์ทั้งในและนอกบ้าน เพื่อรองรับวิถีใหม่ของผู้คน พร้อมปรับเปลี่ยนการตลาดไปสู่ออนไลน์เป็นหลัก ปี 2565 เปิดใหม่ 9 โครงการ 10,800 ล้านบาท

อสังหาฯ ฝ่า 5 ปัจจัยลบ เศรษฐกิจไทย เข็น ขายใหม่ 3.46 แสนล.