'สุพัฒนพงษ์' ย้ำ อสังหาฯสำคัญ เดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจ ดึงต่างชาติอยู่ไทย

26 ก.พ. 2565 | 08:00 น.
681

รองนายก ระบุ เดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจไทย แม้โอมิครอนลุกลาม ตุนวัคซีน 90 ล้านโดส รับมือ เลี่ยงปิดประเทศซ้ำ ปูทางภาคอสังหาฯฟื้น เปิด 3 ปัจจัยท้าทาย และ ปรับตัว ไม่ทิ้งนโยบายดึงต่างชาติ ลุยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กระตุ้นความต้องการที่อยู่อาศัย

26 ก.พ.2565 - นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุ ถึงนโยบายของภาครัฐ ต่อการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ว่า อสังหาฯ มีความสำคัญ และนับเป็นเครื่องชี้วัดของเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง เนื่องจากเป็นปัจจัยพื้นฐาน สืบเนื่องธุรกิจหลายสาขา

 

ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญ ผ่านการออกมาตรการกระตุ้น ช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง ขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ , แผนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ภาคตะวันออก (อีอีซี) , การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมส่วนกลางไปยังภูมิภาค ,สร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ทั้งระบบราง และ ระบบขนส่ง ทั้งนี้ เพื่อต้องการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวมให้เติบโต ปูทางความมั่นในการลงทุนของภาคเอกชน 

ศก.ฟื้นหนุนอสังหาฯ

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ ในการสร้างความมั่นใจด้านระบบสาธารณสุข ผ่านการจัดหาวัคซีนที่เพียงพอตามเป้าหมาย เพื่อผ่อนคลายมาตรการทางสังคม เปิดการค้าขาย นำไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและ การเปิดประเทศ 1 พ.ย.ได้สำเร็จ ทำให้ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจภาคต่างๆดีขึ้นตามลำดับ พบต่างชาติทยอยเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น เกิดเม็ดเงินสะสมมากขึ้น ยอดบริษัทขอส่งเสริมการลงทุนสูงรวม 6.4 แสนล้านบาท

 

ส่วนอันดับความน่าเชื่อถือของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี จากการสำรวจของสถาบันชั้นนำ เช่น ฟิตช์ เรตติ้ง เป็นต้น  สะท้อนไทยมีเสถียรภาพความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของสัญญาณบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ปี 2565 แบบค่อยเป็นค่อยไป ส่งแรงบวกต่ออสังหาฯ 

ย้ำไม่ปิดประเทศดันจีดีพีโต3-4%

สำหรับปี 2565 นอกจากสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง รัฐบาลยังจะเร่งสร้างความมั่นใจต่อการระบาดรอบใหม่ เตรียมวัคซีน 90 ล้านโดสเพื่อเป็นเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนตลอดทั้งปี ให้เกิดความมั่นใจ จากโอกาสกลับไปปิดประเทศที่คงไม่เกิดขึ้น อีกทั้งล่าสุด ได้ผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยววเข้ามาได้มากขึ้น test and go ทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวปีนี้น่าจะตามเป้า 5-7 ล้านคน  ซึ่งจะเป็นโอกาสดีของภาคอสังหาด้วย และสิ่งที่จะเป็นอานิสงส์มากสุด คือ แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กทม. ปริมณฑล โดยปีนี้จะมีรถไฟฟ้าอีก 2 สายแล้วเสร็จ คาดจะช่วยทำให้การขยายตัวของที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 

 

อีกด้าน เพื่อเป็นการการช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ จะทำให้กลุ่มคนที่มีปัญหาฟื้นตัวได้ดี เพื่อไม่ให้มีทรัพย์ โครงการบ้าน - ที่อยู่อาศัย ถูกยึด และไหลกลับเข้ามาในตลาด กระทบต่อราคาอสังหาฯในอนาคต  

 

" ภารกิจสำคัญของรัฐบาล ตอนนี้ คือ อัตราเงินเฟ้อ กระทบต่อความมั่นใจของผู้บริโภค และเอกชน รัฐบาลกำลังดูแลให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม แก้ปัญหาการสต็อกสินค้า ดำเนินคดีผู้กักตุนอย่างจริงจัง ส่วนราคาพลังงาน เป็นปัจจัยภายนอกควบคุมยาก อย่างไรก็ดี มีนโยบายการรับมือ เพื่อประคองเศรษฐกิจไทยให้เป็นไปอย่างราบรื่น เชื่อจีดีพีปีนี้จะโตได้ 3-4%ตามเป้า "

 

กระตุ้นอสังหาฯรับความท้าทายใหม่

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นภาคที่อยู่ฯ รัฐบาลได้ขยายมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนฯ และจดจำนอง สำหรับบ้านมือ 1 และ มือ 2 รวมถึงช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านมาตรการทางภาษี และ สนับสนุนสินเชื่อ ด้วยการปลดล็อกมาตรการ LTV แล้ว คงจะทำให้เกิดสภาพคล่อง ดึงเม็ดเงินเข้าสู่อุตสาหกรรม และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง - การจ้างงาน ของอสังหาฯได้อีกมาก ส่วนแนวทางอื่นๆ พร้อมรับฟัง และนำไปหารือเพิ่มเติม 

 

อย่างไรก็ดี มองความท้าทายของอสังหาฯ มีอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.นโยบายของประเทศเกี่ยกับ  Cop26 การตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ใน ปี 2050  2. การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคยุคใหม่ ที่สนใจกับ เทคโนโลยี ความสะดวกสบาย การเรียนและทำงานที่บ้าน 3. นโยบายสนับสนุนรถ EV ไฟฟ้า กระตุ้นความต้องการใช้งาน ฉะนั้นในภาคอสังหาฯ มีความจำเป็นต้องปรับตัว และพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ด้วย 

 

ส่วนแนวทางนโยบายกระตุ้นการเข้ามาอยู่อาศัยของชาวต่างชาติ 4 กลุ่ม เช่น ผู้ที่มีทักษะสูง , กลุ่มคนต่างชาติวัยเกษียณ และ คนมีฐานะ ผ่านการแลกเปลี่ยนวีซ่าระยะยาวนั้น ยืนยัน ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มดีมานด์ให้กับตลาด เปลี่ยนผ่านการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการพึ่งพานักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศเป็นครั้งคราว เนื่องจาก การเข้ามาอยู่อาศัย ที่มีการใช้จ่ายต่อหัวสูง จะกระตุ้นได้ยั่งยืนกว่า 

 

" รัฐบาลมีหน้าที่ส่งเสริมระบบนิเวศให้เอื้ออำนวยกับภาคอสังหาฯ ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งมวลชน และโครงสร้างด้านดิจิทัลเทคโนโลยี นายกฯ เองให้ความสำคัญมาตลอด 7 ปี จากสิ่งที่เร่งผลักดัน คาดอีก 5 ปี จะเห็นผลเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากเอกชนเช่นกัน ในการฝ่าความท้าทายใหม่เพื่อให้อสังหาฯ ผลักดันเศรษฐกิจไทยอย่างก้าวหน้าและยั่งยืนต่อไป "  นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย