SC เขย่าอสังหาฯไทย เปิดสูตร-ถอดเกม เป้ารายได้แสนล.

17 ก.พ. 2565 | 09:33 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.พ. 2565 | 16:41 น.

การประกาศแผนธุรกิจของเบอร์ใหญ่ในตลาดแนวราบ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จากัด (มหาชน) หรือ SC ซึ่งนำโดย 'ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์' กับเป้าหมายสำคัญ เขย่าสูตร ลุยสร้างรายได้รวมกว่า 1 แสนล้านบาท ในปี 2568

ปี 2565 นับเป็นปีเริ่มต้น วัฎจักรใหม่ ของ "ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์" ที่น่าจับตามอง หลังผู้พัฒนาฯหลายราย ผ่อนคลายความกังวล วิกฤติโควิด-19 พร้อมคาดการณ์ 'ตลาดที่อยู่อาศัย' ซึ่งหดตัวรุนแรงจะเริ่มกลับมาฟื้นตัว โดยมีปัจจัยจากมาตรการรัฐ และ การปรับตัวของราคาขาย และจำนวนซัพพลายใหม่ที่สมดุล-เหมาะสม เป็นเทรนด์บวก เกิดภาพความเคลื่อนไหวของดีเวลลอปเปอร์ในเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะเกมบุกลงทุนใหม่อย่างมหาศาลช่วง 1-5 ปีข้างหน้า 

เช่นเดียวกับ การประกาศแผนธุรกิจของเบอร์ใหญ่ในตลาดแนวราบ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จากัด (มหาชน) หรือ SC ซึ่งนำโดย 'ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์' กับเป้าหมายสำคัญ เขย่าสูตร ลุยสร้างรายได้รวมกว่า 1 แสนล้านบาท ในปี 2568  'ฐานเศรษฐกิจ' ถอดมุมมอง : เมื่อบ้านแพง เป็นสมรภูมิเก่าที่ต้องรักษาส่วนแบ่ง ขณะวิถีคนเมือง คือ โอกาสคอนโดมิเนียมที่จะตกขบวนไม่ได้

SC เขย่าอสังหาฯไทย เปิดสูตร-ถอดเกม เป้ารายได้แสนล.  

อสังหาฯเกมของบิ๊กเพลเยอร์

นายณัฐพงศ์ ประเมินภาพรวมธุรกิจอสังหาฯไทย เชื่อมั่นว่า ช่วงท้ายของปี 64 ตลาดผ่านจุดที่แย่สุดแล้ว ระบุ ปีนี้จะกลับมาคึกคักในแง่การลงทุนใหม่ แต่ทั้งนี้ กลับเป็นเกมของผู้พัฒนาฯรายใหญ่เท่านั้น จากความได้เปรียบ ของการเข้าแหล่งเงินทุน แง่ผู้ซื้อ ความท้าทายหลัก ยังมาจากสภาพเศรษฐกิจ และระดับหนี้ครัวเรือน ที่ไต่ สู่ 91% ต่อจีดีพีเป็นภาพน่ากังวล เมื่อประเทศมีหนี้สูง แต่คนรายได้ต่ำ ในระยะยาว ย่อมกระทบดีมานด์ที่อยู่อาศัยกลุ่มต่ำกว่า 10 ล้านบาท  ส่วนเงินเฟ้อ ยังไม่น่าห่วง เพราะวันนี้ผู้พัฒนาฯ ยังรับมือได้กับราคาวัสดุที่ปรับขึ้นราว 1-2% ได้ เชื่อไตรมาส 2 หรือ 3 สถานการณ์จะดีขึ้น 

 

วิเคราะห์ แนวราบ ยังเป็นน่านน้ำสำคัญของธุรกิจนี้ เพราะจุดเปลี่ยนโควิด19 ทำให้บ้านเป็นโซลูชั่นหลักที่จำเป็น ฉะนั้น ดีมานด์จะยังพุ่งต่อ ท้าทายอย่างเดียว คือ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ขณะแนวสูง  ปีนี้ไม่น่าจะแย่กว่าปีก่อน เพราะดีมานด์-ซัพพลายปรับสมดุล และกลุ่มลูกค้าต่างชาติมีแนวโน้มดีขึ้น จากยุโรป อเมริกา และ สหราชอาณาจักร ปลดล็อคการเดินทาง ส่งผลช่วงครึ่งปีหลัง มีโอกาสที่จะเข้ามาช่วยดูดซับสต็อกพร้อมขายของตลาดได้

SC เขย่าอสังหาฯไทย เปิดสูตร-ถอดเกม เป้ารายได้แสนล.

ถอดกลยุทธ์ 4 ปี บ้านแพง SC ดันเป้าแสนล.

คีย์แมนคนเดิม กล่าวว่า ปัจจัยข้างต้นกลายเป็นเกมต่อสำหรับ SC ซึ่งเติบโตมาจากสมรภูมิบ้านแนวราบอยู่ก่อนแล้ว อีกทั้ง ตลอดช่วง 2 ปีวิกฤติ ได้จัดเตรียมคน-ระบบ และลงทุนที่ดินเยอะที่สุดกว่าหมื่นล้านบาท หวังรองรับการกลับมาพุ่งแรง โดยมีสภาพคล่องหมื่นล้าน ที่พร้อมจะลงทุน และรับมือกับความเสี่ยงใหม่ๆ เป็นฟันเฟือง กลายเป็นตัวเร่งให้ปี 2565  บริษัทเติบโตเร็วขึ้นกว่ายุทธศาสตร์ราว 1 ปี  ตั้งเป้าเปิดโครงการใหม่สูงเป็นสถิติใหม่ 27 โครงการ 4 หมื่นล้านบาท เป้ารายได้ และ ยอดขายที่ 2.2 หมื่นล้านบาท ขณะงบซื้อที่ดินรวมลงทุนในต่างประเทศสูงถึง 1.15 หมื่นล้านบาท โดยรายได้ปีแรก 2ใน 3 จะมาจากโปรดักส์แนวราบ อย่างแบรนด์ เรือธง แกรนด์ บางกอก บูเลอวาร์ด,บางกอก บูเลอวาร์ด ,เวนิว ไอดี และ คฤหาสน์แบรนด์ใหม่ ราคาเริ่ม 50ล้าน  แต่ทั้งนี้ เป้าหมายใหญ่ กลับเป็นแผนระยะ 4 ปี ที่ถูกวางโรดแมปไว้ รายได้เติบโตแตะ 1 แสนล้านบาท

 

" ปีที่แล้วยอดขายบ้านของตลาดทะลุ 1.2 แสนล้านบาท สูงสุดในหลายรอบ10 ปี จากโลเคชั่นกลายเป็นสเปซ เราตื่นเต้นมาก และปีนี้จะผลักดันให้เป้ารายได้ที่ตั้งไว้สูงสุดในประวัติศาสตร์ทะลุเกิน 2 หมื่นล้าน ขณะ 4 ปี รายได้จากแนวราบจะแตะ 2 หมื่นล้าน ในปี 2568 "  


ส่วนคอนโดฯ เปิด 2 โครงการใหม่ มูลค่า 6.5พันล้านบาท บนทำเล รถไฟฟ้า BTS 2 สถานี คือ วงเวียนใหญ่ และ  ทองหล่อ หลังประเมินอีก 5 ปี ดีมานด์ที่น่าสนใจ คือ ซูเปอร์ลักชัวรีที่แข็งแรงอยู่ก่อนแล้ว ขับเคลื่อนผ่านบริษัท สโคป  อีกกลุ่ม คือ กำลังซื้อกลุ่มใหญ่คนทำงานเจน y 4 ปี ผุดใหม่ 10 โครงการ  10 ทำเล ราคา 1-2 แสนต่อตร.ม.

SC เขย่าอสังหาฯไทย เปิดสูตร-ถอดเกม เป้ารายได้แสนล.
รักษาเบอร์ 1 กำไร- สังคม

นายณัฐพงศ์ ยังระบุทิ้งท้าย ถึงโมเดลการทำธุรกิจยุคใหม่ว่า นอกจาก แข่งขันในสมรภูมิเดิม และเล็งหาโอกาสใหม่ๆ ซึ่งมีแผนปรับออฟฟิศหลักขนาดใหญ่ ไปสู่ ธุรกิจให้บริการ "เวิร์คเคชั่น" และขยายธุรกิจกลุ่มโรงแรม เพื่อเติมเต็มรายได้แล้ว  เป้าหมายสูงสุดที่ประกาศไว้ คือ  เบอร์ 1 ในตลาดบ้าน จึงเน้นลงทุนดุดัน ทุกราคาและทำเล เพื่อให้จำนวนโครงการมากพอ  และ 2 การรักษาคุณภาพของแบรนด์ ทั้งโปรดักส์ บริการหลังการขายและแก้ปัญหาอย่างจริงใจ

 

แต่อย่างไรก็ตาม การเติบโตอย่างยั่งยืน กลับจะมาจาก 3 แกนหลัก คน - กำไร - สังคม (สิ่งแวดล้อม) เพราะปัจจุบันทุกสิ่งในโลกเชื่อมต่อกัน และโควิดสะท้อนได้อย่างลึกซึ้ง จากคนป่วย 1 คน สะเทือนไปทั้งโลก 400 ล้านคน สร้างผลกระทบมหาศาล และ นำมาซึ่งสิ่งใหม่ๆมากมาย เพราะฉะนั้น บริษัทจะเน้นสร้างคุณค่าของโปรดักส์ และ ความรับรู้ของสังคมในแง่บวก ผ่านโครงการที่มีมาตรฐาน หรือ องค์กรเบอร์ 1 ที่คนอยากทำงานมากที่สุด เพื่อให้คุณค่า หันกลับมาสร้างกำไร และกำไรจะเป็นหลักให้องค์กรสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน  เช่น บริษัทมีแผนลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลง 20% ภายในปี 2568  

 

" การเติบโตของโลกธุรกิจยุคใหม่ มองแต่ผลกำไรอย่างเดียว อาจกลายเป็นเรื่องล่าสมัย " 

 

ที่มา : https://www.scasset.com/th/