จับตา วัสดุแพง - แรงงานขาด ดันราคาบ้านพุ่ง 3-5%

17 ม.ค. 2565 | 10:45 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2565 | 17:51 น.
690

เปิดมุมมอง อาภา อรรถบูรณ์วงค์ ประเมิน "โอมิครอน" ไม่รุนแรง ดันเศรษฐกิจโตตามเป้า พลิกเกมคอนโดฯปี 65 ฟื้นตัว 10-15% จับตาต้นทุนพัฒนาโครงการใหม่แพงขึ้น เหตุ ราคาน้ำมันป่วน เหล็กพุ่ง และแรงงานยังขาด คาดส่งผลราคาบ้านปีนี้ปรับอย่างต่ำ 3-5% ขณะริชี่บุกหนัก 6 พันล้าน

นาง อาภา  อรรถบูรณ์วงศ์  ประธานกรรมการบริหาร  บริษัท ริชี่เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) (RICHY) ฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทย ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย ปี 2565 ว่า แม้ขณะนี้ โลกและประเทศไทย กำลังเผชิญกับความสับสนใหม่ จากการกลายพันธุ์ของโควิด19 "โอมิครอน" และ "เดลตาครอน" และไม่มีใครตอบได้ว่า วิกฤตินี้จะอยู่ยาวนานแค่ไหน มีผลต่อการวางแผนธุรกิจทั้งในระยะสั้นและยาว 

แต่อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากชุดข้อมูล การระบาดในกลุ่มประเทศแอฟริกา ที่เป็นต้นกำเนิดของ "โอมิครอน" หรือ แม้แต่ในสหราชอาณาจักร พบการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นมากก็จริง แต่อัตราการเสียชีวิตต่ำ โดยมีวงรอบการระบาดสั้นเพียง 1 เดือนครึ่ง จึงประเมินได้ว่า ความรุนแรงของโรคไม่ได้น่ากลัวมากนัก 
 

เชื่อมั่น ศก.ไทยโต 3-5% 

ขณะเดียวกัน ส่วนตัวเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขของไทย จากการมีวัคซีนที่ดี , ยารักษาโรค , บุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์ - ความชำนาญ และสถานที่ดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก นับเป็นพื้นฐานรองรับความสุ่มเสี่ยงร้ายแรงได้ บวกกับข้อดี คนไทยต่างให้ความร่วมมือสูง ทุกคนช่วยกันป้องกันตัวเอง และรับผิดชอบต่อสังคมได้ดีระดับหนึ่ง

 

ดังนั้น จึงคิดว่าการระบาดของ "โอมิครอน" จะไม่รุนแรง จนนำมาสู่การปิดประเทศเหมือนในอดีต ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเดินต่อได้ จากแนวโน้มการส่งออก และการลงทุนในอีอีซี ผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจตามเป้า จีดีพี 3-5%  และดันความต้องการด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นปัจจัยสี่ ให้ฟื้นตัวตามไปด้วย 

 

" จำนวนผู้ติดเชื้อในไทยที่ยังทรงตัวต่ำกว่า 1หมื่นรายต่อวัน เป็นข่าวที่ค่อนข้างบวก ตามสมมุติฐาน อยู่ในควบคุมได้ และหากประชาชนให้ความร่วมมือดี เศรษฐกิจคงต่อโตได้ 3-4% ในทางกลับกัน ถ้าสถานการณ์เลวร้าย ผู้ติดเชื้อขึ้นหลัก 2 หมื่นราย เศรษฐกิจปีนี้คงต่ำกว่า 3% ความต้องการที่อยู่อาศัยคงน้อยลงไปด้วย  เพราะคนจะซื้อรถ ซื้อบ้านได้ ต้องเหลือกิน- เหลือใช้ก่อน " 

จับตา วัสดุแพง - แรงงานขาด ดันราคาบ้านพุ่ง 3-5%

 

แนะอสังหาฯคุมสภาพคล่องต่อ

อย่างไรก็ตาม นายกสมาคมอาคารชุด ระบุว่า แม้สถานการณ์ระดับมหภาคขณะนี้เป็นเชิงบวก แต่ในแง่ธุรกิจอสังหาฯ ยังต้องระมัดระวังการลงทุน หัวใจสำคัญ คือ การรักษาสภาพคล่อง กระแสเงินสดให้ดี เพราะการพัฒนาโครงการ เป็นธุรกิจที่ใช้เงินหนักและเงินจม ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เหมือนธุรกิจบริการ ที่รอใบสั่งซื้อ และทำตามออเดอร์ แต่อสังหาฯ มีระยะเวลาและกระบวนการยาวนาน บ้านแนวราบ ลงทุนไปก่อนอย่างต่ำ 1 ปีครึ่ง ขณะโครงการคอนโดฯ นานถึง 3 ปี เป็นปัญหาที่ผู้พัฒนา ต้องหารายได้ให้ทันกับรายจ่ายภายในบริษัท 

 

แง่มุมมองต่อภาคอสังหาฯ ปี 2565 โดยเฉพาะตลาดคอนโดฯ นั้น นางอาภา สะท้อน หากเศรษฐกิจฟื้นตัวดี ภาพตลาดที่เคยตกต่ำลงไปนับ 30%ในช่วงปีที่ผ่านมา ปีนี้่ก็คงกลับมาได้อย่างแน่นอน สะท้อน ช่วงเดือน ธ.ค. สถานการณ์บ้านเมืองเริ่มกลับมาปกติ ขณะคนเมือง กลับมาอยู่ในจุดเดิม คือ รถติดหนาแน่น นั่นคือตัวแปรสำคัญ ที่เชื่อว่า ความต้องการคอนโดฯ จะยังเกิดขึ้นไม่เปลี่ยน เพราะคอนโดฯ อยู่ในฐานะ "บ้านจำเป็น" ของคนที่ต้องการเลี่ยงรถติด ปีนี้คาดอย่างต่ำตลาดจะกลับมาโตจากปีที่แล้ว 10-15% 

 

หวั่นต้นทุนแพงดันราคาที่อยู่พุ่ง 3-5% 

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ มีปัจจัยลบให้ต้องติดตาม เรื่องต้นทุนก่อสร้างโครงการ เพราะทั้ง วัสดุก่อสร้างและแรงงานยังเป็นปัญหา โดยเฉพาะราคาเหล็ก วัสดุขั้นปฐมภูมิ ราคาขึ้นจาก 13 เป็น 26 บาท ส่งผลให้วัสดุอุปกรณ์อื่นๆที่ต้องใช้เหล็ก มีราคาแพงขึ้นไปด้วย บวกราคาน้ำมัน มีผลต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าทุกประเภท ขณะเดียวกัน ภาคอสังหาฯ ยังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา หลังจากต่างด้าว 90% หนีกลับประเทศ และฝ่ายความมั่นคงยังกีดกันการกลับเข้ามา คนงานไม่เพียงพอ พบขณะนี้แทบทุกโครงการมีการก่อสร้างล่าช้า 10-20% ซึ่งจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้ปีนี้ราคาบ้าน-คอนโดใหม่ๆ ขยับอย่างต่ำ 3-5%

 

" โครงการใหม่แพงขึ้นแน่นอน เพราะเหล็กขึ้น 40-50% เมื่อต้นน้ำขึ้น กลางน้ำ และปลายน้ำก็บวกเพิ่มตาม เห็นภาพชัดขึ้นในปีนี้ หลังจากปีที่แล้ว ผู้พัฒนายอมกัดเนื้อตัวเอง ไม่อยากเพิ่มราคาให้ขายยาก แต่ปีนี้ สินค้าเก่าเริ่มหมด จากการทำสงครามราคานาน 2 ปี ฉะนั้นของใหม่ 3-5% มีขึ้นแน่นอน เพราะแค่ค่าแรงงานก็บวกเพิ่ม 10-20%แล้ว จากดีมานด์เยอะกว่าคนทำ " 

 

ส่วนการแก้ปัญหา ผ่านการไล่ซื้อเก็บต้นทุนเก่า เช่น ซื้อเหล็ก ซื้อพลาสติกเก็บไว้ คงไม่ใช่แนวทางที่ดีนัก แนะให้ผู้ประกอบการยอมรับ และหันไปลดทอนส่วนอื่นแทน พยายามผลักต้นทุนให้ลูกค้าน้อยที่สุด 

 

ริชี่ลงทุนใหม่ 6พันล. เจาะพระราม9

ทั้งนี้ ปี 2565 นับเป็นปีเสือทองสำหรับบริษัท ริชี่ หลังดำเนินธุรกิจมาครบ 20ปี โดยบริษัทยังวางเป้าการเติบโต จากจำนวนหน่วยพร้อมขายและโอนฯ 6-7พันล้านบาท และการรับรู้รายได้จากธุรกิจรีเทล (เดอะริช มอลล์) ซึ่งจะมีรายได้เข้ามาปีแรก31 ล้านบาท ขณะเดียวกันเตรียมเปิดโครงการใหม่อีก 4 โครงการ มูลค่ากว่า 6 พันล้านบาท

 

ได้แก่ โครงการทาวน์โฮม  ริชตัน @สวนหลวง - พัฒนาการ และ โครงการ  ริชตัน @ดอนเมือง -เพิ่มสิน อีก 2 โครงการ เป็นคอนโดฯ ที่จะเปิดตัวหลังช่วงกลางปีนี้ โดย 1 ในนั้น เจาะทำเลพระราม 9 (หลังเซ็นทรัล) ซึ่งเป็นที่ดินเก่า (ปั้มแก๊ส ปตท.) ซึ่งซื้อมาตั้งแต่ช่วง 3 ปีก่อนหน้า และชะลอการลงทุนไปจากสถานการณ์โควิด และพาร์ทเนอร์ทุนจีน ไม่สามารถเข้ามาเจรจาได้  โดยประเมินว่า สถานการณ์ช่วงครึ่งปีหลัง โควิดจะคลี่คลายและเปิดทางให้ต่างชาติกลับเข้ามาได้ ปีนี้เตรียมงบซื้อที่ดินอีก 1.4 พันล้านบาท 

 

"คาดหวังการเปิดประเทศ ต่างชาติกลับเข้ามา ทำเลพระราม9 มีศักยภาพสูง ฮอตมาก ที่ผ่านมาบิ๊กอสังหาฯ เข้ามาผุดโครงการมากมาย เพราะจุดนี้ถือเป็นฮับที่อยู่อาศัยฯ มีดีมานด์คนทำงาน และองค์ประกอบรองรับเกิน 100% คาดการเปิดตัวจะไม่เป็นรองใคร"