รถไฟฟ้าสายสี“ม่วงใต้”ผ่า เมือง ต้าน เวนคืน รื้อตึกเก่าเกาะรัตนโกสินทร์

08 ม.ค. 2565 | 11:40 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ม.ค. 2565 | 18:57 น.
3.1 k

รถไฟฟ้าสีม่วงใต้ ชนดะ ตึกเก่าแก่ เกาะรัตนโกสินทร์-สามเสน ข้างวัชระพยาบาล  โรงแรม บูรพาสามยอด ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่ากทม.รสนา ค้าน รื้อทิ้ง จี้กทม.เก็บอนุรักษ์ หลังชาวบ้านค้านเวนคืนที่วัดเอี่ยมวรนุช  ด้านรฟม. ลุยเวนคืนพื้นที่ว่าง ราษร์บูรณะลดกระแสร้อน ตอกเข็มปีนี้

 

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)มีแผนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กิโลเมตรวงเงิน1แสนล้านบาท พร้อมเวนคืนส่งมอบพื้นที่ ภายในปี2565 อย่างไรก็ตามแม้จะผ่านการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชน แต่มีหลายฝ่ายยังกังวลว่าการเวนคืนก่อสร้างรถไฟฟ้าเส้นนี้อาจสร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง

รถไฟฟ้าสายสี“ม่วงใต้”ผ่า เมือง ต้าน เวนคืน รื้อตึกเก่าเกาะรัตนโกสินทร์

 

โดยเฉพาะอาคารเก่าแก่สถาปัตยกรรมโบราณ ในเขตกรุงเทพชั้นใน  โดยนางสาวรสนา โตสิตระกูล นักรณรงค์ด้านสุขภาพและสิทธิผู้บริโภค ว่าที่ ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครระบุว่า  อาคารเก่าแนวถนนพระสุเมรุ อายุกว่า80ปีซึ่งเป็นกลุ่มอาคารบนเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน ซึ่งกำลังจะถูกรื้อในกลางปี 2565 เพื่อก่อสร้างเป็นทางขึ้นลงรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้

อย่างไรก็ตามนางสาวรสนา ต้องการให้ผู้ว่ากทม.ช่วยรักษาไว้เนื่องจากเป็นย่านอาคารเก่าสำหรับการท่องเที่ยว เป็นถนนคนเดินโดยที่จุดที่ตั้งของตึกแถวดังกล่าวอยู่บริเวณถนนพระสุเมรุเชื่อมต่อมายังถนนผ่านฟ้าลีลาศ และต่อมาที่คลองโอ่งอ่างที่กทม.ลงทุนปรับปรุง ได้แก่จุดที่1

บริเวณด้านหน้าหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ธนาคารกรุงเทพ  สี่แยกผ่านฟ้า  จุดที่ 2 คือบริเวณภัตตาคารผ่านฟ้า ฝั่งตรงข้ามลึกเข้ามาทางถนนพระสุเมรุจุดที่ 3 คลังเก็บสินค้าฝั่งตรงข้ามตึกแถวเก่า 14 คูหา จุดที่ 4 คือตึกแถวเก่า 7 คูหา ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับจุดที่ 3เป็นต้น

รถไฟฟ้าสายสี“ม่วงใต้”ผ่า เมือง ต้าน เวนคืน รื้อตึกเก่าเกาะรัตนโกสินทร์

“ฐานเศรษฐกิจ”สำรวจพื้นที่บริเวณสถานีสามยอดซึ่งจะเป็นจุดตัดระหว่างMRT สายสีน้ำเงินและสีม่วงใต้ บริเวณสามยอด มีโรงแรมร้าง “ บูรพาสามยอด” อายุ39ปี ที่บริษัทโรงแรมบูรพาสามยอดจำกัด  เลิกกิจการเพราะหมดสัญญาเช่าที่ดินกับสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ส่งผลให้ ส่วนหนึ่งเป็นจุดขึ้นลงสถานี สามยอดสายสีม่วงใต้ และอีกส่วน สำนักทรัพย์สินฯพลิกโฉมเป็นสวนสาธารณะสำหรับคนกรุงเทพฯ

รถไฟฟ้าสายสี“ม่วงใต้”ผ่า เมือง ต้าน เวนคืน รื้อตึกเก่าเกาะรัตนโกสินทร์

เพื่อก่อสร้างเป็นสถานีสามยอดของสายสีม่วงใต้และพื้นที่บางส่วนจะพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ ปอดแห่งใหม่สำหรับคนเมืองคาดว่าสามารถทุบได้ทันทีหาก ลงมือก่อสร้างรถไฟฟ้า ส่วนชาวบ้านบริเวณวัดเอี่ยมวรนุช  ถนนสามเสน ซึ่งจะเป็นที่ตั้งเป็นจุดขึ้นลงของสถานี บางขุนพรหม ยอมรับว่า เดิมวัดเก่าแก่อายุ237ปี ถูกเวนคืน ถึงตัวศาลา แม้ปัจจุบันรฟม.รับปากจะปรับแนวไม่ให้กระทบ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังต้องเฝ้าระวัง

 แหล่งข่าวจากรฟม. ยอมรับว่า อาจมีประชาชนคัดค้านเนื่องจาก เส้นทางรถไฟฟ้า ดังกล่าวผ่านจุดสำคัญของกรุงเทพชั้นใน มีสถาปัตยกรรมโบราณอีกทั้ง ศาสนสถาน  โบราณสถานจำนวนมาก และข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ เมื่อถามถึงความจำเป็นเพราะ รถไฟฟ้าเส้นนี้ จะรองรับการเดินทาง แกปัญหาจราจรติดขัดในเขตเมืองได้เป็นอย่างดีในอนาคต

 “ที่ผ่านมาได้ทำความเข้าใจ กับประชาชนเจ้าของที่ดินเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะ วัดเอี่ยมวรนุช ซึ่ง เดิม จะมีการเวนคืนตั้งแต่ส่วนของศาลา ภายหลังขยับแนวเวนคืนบริเวณรั้วของวัดเท่านั้น “

รถไฟฟ้าสายสี“ม่วงใต้”ผ่า เมือง ต้าน เวนคืน รื้อตึกเก่าเกาะรัตนโกสินทร์

นอกจากนี้พื้นที่หลายจุด ที่มีการคัดค้าน  โดยรฟม.ได้ทำความเข้าใจกับประชาชน ได้แก่  บริเวณอาคารเก่าแก่และตลาด บนถนนสามเสน  พื้นที่บริเวณแยกสามยอด อาคารเก่าบริเวณวชิระพยาบาล เช่นเดียวกับ อาคารบริเวณเกาะรัตนโกสิทร์ ถนนพระสุเมรุ ตั้งแต่ผ่านฟ้า สามยอด หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ซึ่งมีร้านกาแฟที่ต้องรื้อถอนแต่ทั้งนี้เพื่อ ความรวดเร็ว  รฟม.ได้ลงพื้นที่ บริเวณช่วงปลายเส้นทาง ก่อน เพราะไม่กระทบตัวอาคาร โซน ราษฎร์บูรณะ ประกอบกับอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19

ขณะราคาที่ดิน ตลอดแนวสายสีม่วงใต้ ขยับสูงต่อเนื่อง โดยนายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด  ระบุว่า ที่ดินแนวถนนสามเสนปัจจุบัน อยู่ที่ 1.5-2แสนบาทต่อตารางวา หาก รถไฟฟ้าเปิดให้บริการ อาจขยับไปที่  5-6 แสนบาทต่อตารางวา  เท่ากับสถานีบางโพ ขณะที่บางซื่อทำเลยอดฮิต อนาคตทะลุ 1ล้านบาทต่อตารางวา ขณะราคาปัจจุบันอยู่ที่ 7-8 แสนบาทต่อตารางวา เป็นต้น

สำหรับทำเลที่น่าจับตา “ DDproperty” เว็บไซต์ อสังหาริมทรัพย์  สำรวจพบว่า สายสีม่วงใต้ ส่วนต่อขยาย จากสถานีเตาปูน ช่วยเชื่อมกรุงเทพฯ ทั้งฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร รวมถึงสมุทรปราการเข้าด้วยกัน จึงเป็นระบบขนส่งมวลชนที่นำคนจากปริมณฑลและชานเมืองเข้าสู่ใจกลางเมืองในย่านเมืองเก่า เช่น สะพานพุทธ วังบุรพา ผ่านฟ้า และบางขุนพรหม ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

ช่วยบรรเทาการจราจรติดขัดบริเวณพระราม 2 ที่ประชาชนยังไม่มีทางเลือกอื่นในการเดินทาง โดยการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหนือช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปมาจากนนทบุรี และการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีน้ำเงินช่วยพาไปสู่เขตเศรษฐกิจใหม่

ที่สำคัญ  รถไฟฟ้าเส้นนี้ ช่วยส่งเสริมย่านเมืองเก่า ให้เป็นแหล่งเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เนื่องจากมีสถานที่สำคัญทางราชการอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย แหล่งอาหารอร่อยอย่างย่านบางลำพู  หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ป้อมมหากาฬ วัดราชนัดดา วัดเทพธิดา และวัดสระเกตุ เป็นต้น

รถไฟฟ้าสายสี“ม่วงใต้”ผ่า เมือง ต้าน เวนคืน รื้อตึกเก่าเกาะรัตนโกสินทร์