ขวางรื้อหัวลำโพง ยันไม่ตอบโจทย์ประชาชน

15 ธ.ค. 2564 | 10:00 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ธ.ค. 2564 | 16:54 น.
3.2 k

“สมาคมนักผังเมือง” โวย คมนาคมอ้างพัฒนาพื้นที่สถานีหัวลำโพง แค่แก้ปัญหารฟท.ขาดทุน หลังเสียงส่วนใหญ่ค้าน ประภัสร์-รสนาย้ำกระทบประชาชน รฟท.เปิดรับฟังความเห็น “อนาคตสถานีหัวลำโพง ประวัติศาสตร์คู่การพัฒนา” ศักดิ์สยาม รวมทุกความเห็นชงครม.ใน 2 สัปดาห์

 

กลายเป็นไฟลามทุ่งสำหรับนโยบาย ลดบทบาทการเดินขบวนรถเข้าสถานีรถไฟกรุงเทพ(หัวลำโพง) ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคมนี้ เพื่อนำพื้นที่อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศูนย์กลางการเดินทางระบบราง ออกพัฒนาเชิงพาณิชย์ หารายได้ล้างหนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยไม่สนใจว่าประชาชนผู้ใช้บริการจะได้รับผลกระทบต่อการเดินทางมากน้อยเพียงใด

 

ชงครม.ฟังเสียงสะท้อน

การลุกฮือที่เกิดขึ้นส่งผลให้รฟท.ดับร้อนเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ภายใต้หัวข้อ “อนาคตสถานีหัวลำโพง ประวัติศาสตร์คู่การพัฒนา” วันที่ 14 ธันวาคม มีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นกว่า 300 คน โดยนายศักด์สยาม ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อ้างว่า

ความคิดเห็นในครั้งนี้เป็นเพียงคอนเซปต์ ดีไซน์ เพื่อให้ที่ปรึกษาทำการศึกษาพื้นที่หัวลำโพง โดยยังจะไม่ถึงขั้นเปิดประมูลให้เอกชนร่วมทุนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์แต่ทั้งนี้ไม่ว่าเสียงสะท้อนจะออกมาอย่างไร จะนำสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 2 สัปดาห์ หรือไม่เกินสิ้นปีนี้
 

ขวางรื้อหัวลำโพง ยันไม่ตอบโจทย์ประชาชน

 

แก้สีผังเมืองต้องทำเพื่อส่วนรวม

ย้อนไปก่อนหน้านี้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) และสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมป์ได้จัดเวที สะท้อนเสียงให้สถานีหัวลำโพงต้องเป็นศูนย์กลางระบบรางของประเทศควบคู่ไปกับศูนย์กลางคมนาคมระบบรางแห่งใหม่ หรือสถานีกลางบางซื่อ

เพื่อลดผลกระทบประชาชนผู้มีรายได้น้อยและหากยืนยันไม่นำที่ดินเอื้อประโยชน์นายทุน ซึ่งไม่จำเป็นต้องขอแก้สีการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตามผังเมืองรวมกรุงเทพ มหานครจาก พื้นที่สีน้ำเงิน(สถาบันราชการและสาธารณูปโภค) เป็นพื้นที่สีแดง(ประเภทพาณิชยกรรม)

ขณะสมาพันธ์คนงานรถไฟ (สพ.รฟ.) ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังกรมโยธาธิการกระทรวงมหาดไทยว่าการปรับสีผังเมืองบริเวณหัวลำโพงเพื่อพัฒนาเชิงพาณิชย์ ในทางปฏิบัติสามารถดำเนินการได้หรือไม่ คำตอบคือ ต้องดูเจตนาของการใช้ประโยชน์สอดคล้องกับกรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าของเรื่อง

ยืนยันว่า ยังไม่ได้รับเรื่องการปรับสีผังเมืองบริเวณดังกล่าวหากจะปรับสีผังได้ต้องเข้าสู่ขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นและมองว่าในที่สุดแล้วต้องขึ้นอยู่คณะกรรมการผังเมืองว่าจะเห็นเป็นอย่างไร ที่สำคัญการเปลี่ยนสีผังเมืองต้องใช้เพื่อสาธารณะหรือส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อคนใดคนหนึ่ง
 

ขวางรื้อหัวลำโพง ยันไม่ตอบโจทย์ประชาชน

 

ซัดวางโมเดลหาประโยชน์

นายพนิต ภู่จินดา อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนายกสมาคมนักผังเมืองไทย สะท้อนในวงเสวนา การอนุรักษ์และพัฒนาสถานีหัวลำโพง จัดขึ้นโดยสมาคมสถาปนิกสยามฯว่าก่อนที่จะมีการพัฒนาสถานีหัวลำโพงต้องมีการหารือถึงรายละเอียดการเดินทางในกรุงเทพฯว่าจะใช้ยานพาหนะรูปแบบใดที่มีประสิทธิภาพต่อการเดินทางมากที่สุด

 หากสอบถามจากเหล่านักการเมืองส่วนใหญ่ต้องการให้พึ่งพาระบบรางเป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนถึงบทบาทสถานีหัวลำโพง ได้เป็นอย่างดี เพราะในช่วงที่ผ่านมามีการปล่อยผ่านการพัฒนาจุดหมายปลายทางเกิดขึ้นใกล้สถานีหัวลำโพงมากกว่าสถานีกลางบางซื่อ สะท้อนจากพื้นที่โดยรอบหัวลำโพง

โดยเฉพาะย่านพระราม 4เต็มไปด้วยโครงการขนาดใหญ่ของเอกชน เช่น วันแบงค็อก ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ฯลฯ ซึ่งรฟท.ไม่ได้มองประเด็นนี้เป็นสำคัญ แต่กลับมองว่าจะใช้ที่ดินอย่างไรในการแก้ปัญหาการขาดทุนของรฟท.โดยไม่คำนึงด้านการเดินทาง ส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดินของรฟท.นั้นพบว่ารฟท.

ถูกวางโมเดลเพื่อให้มีสินทรัพย์ในการหาประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ “มุมมองนักวิชาการมองว่ารฟท.ไม่ควรนำที่ดินสถานีหัวลำโพงเพียงแปลงเดียวมาพัฒนาพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดทุนทั้งที่รฟท.มีที่ดินและสินทรัพย์เป็นจำนวนมาก”

 

ต้องมีรถเข้าหัวลำโพง

 ขณะวงสะท้อนความคิดเห็นอนาคตหัวลำโพงฯ ที่จัดขึ้นโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรฟท. มองว่ากล่าวว่า การเดินรถเข้าหัวลำโพงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะทำให้ประชาชนสับสนมาก โดยที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่าจะมีการปิดให้บริการเดินรถไฟที่สถานีหัวลำโพง

รวมทั้งจะมีการพัฒนาบริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ว่ารฟท.ควรชี้แจง ให้ทราบ ไม่ใช่ให้กระทรวงคมนาคมและส่งผู้ช่วยผู้ว่ารฟท.มาชี้แจงกับประชาชน เพราะถืออยู่ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานรฟท. ได้รับเงินเดือนมากกว่าผู้อื่นจะหลบหน้าสื่อหรือประชาชนไม่ได้

“ช่วงที่ผมเป็นผู้ว่ารฟท.ไม่เคยหลบหน้าสื่อ ควรคิดตรงนี้ใหม่ ไม่มีความจำเป็นเลยที่ต้องมาเปิดรับฟังความคิดเห็น ถ้ามีการชี้แจงอย่างชัดเจน แต่รฟท.บอกว่าไม่มีการรื้อบริเวณหน้าสถานีหัวลำโพง แต่จากภาพที่ออกมาพบว่าบริเวณหน้าสถานีหัวลำโพง เป็นทางเข้าไปสู่อาณาจักรที่มีการจำหน่ายสินค้าราคาแพงและมีอาคารสูงขนาดใหญ่ ส่งผลให้ประชาชนไม่เห็นด้วย ถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ แต่ยังคงต้องมีสถานีหัวลำโพงอยู่”           

 นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า กรณีที่ลดบทบาทการนำรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง หลังเกิดการเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่อนั้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากการสร้างส่วนโครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง (Missing Link) ที่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง เนื่องจากเกิดจากความผิดพลาดของรัฐบาล

 

สาระหลักรฟท.ต้องทำเรื่องระบบเดินรถ 

นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กรุงเทพฯ กล่าวว่า สิ่งที่ภาครัฐกำลังดำเนินการทำให้รู้สึกว่ารัฐบาลกำลังลดและด้อยค่าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ซึ่งสิ่งที่รัฐต้องทำคือต้องคำนึงถึงผลกระทบของประชาชน ไม่ใช่เลิกหรือลดบทบาทของหัวลำโพง

เพื่อนำที่ดินไปทำประโยชน์ซึ่งตรงนี้มองว่าสาระหลักของการรถไฟฯ ต้องทำเรื่องระบบการเดินรถ ส่วนเรื่องการหารายได้ในส่วนอื่นๆ ก็ต้องสนับสนุนเรื่องการเดินรถของประชาชน และประโยชน์ของรัฐ แต่ไม่ใช่ว่าจะยกเลิกการเดินรถในส่วนนี้ เพื่อนำไปทำมาหากิน หากเป็นเช่นนั้นเท่ากับว่าการรถไฟฯ ขายสมบัติของชาติ

 

ไม่มีการพูดปิดหัวลำโพง

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่ายืนยันว่าจากการประชุมทั้ง 7 ครั้ง ไม่มีการพูดปิดหัวลำโพง เป็นเพียงการลดบทบาทหน้าที่ของสถานีขณะที่ผ่านมารฟท.ได้มีการศึกษาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีหัวลำโพงตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งกระทรวงเล็งเห็นถึงการพัฒนาสถานีรถไฟโดยรอบ (TOD) เป็นสิ่งสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการเดินทางให้แก่ประชาชนในอนาคต

 นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า การพัฒนาสถานีหัวลำโพง จะไม่มีการทุบสถานีหัวลำโพงแน่นอน และไม่มีการปิดสถานีหัวลำโพงแต่อย่างใด

 

เปิด 2 สถานีไม่คุ้มทำขาดทุน

ด้านนายอำนวย ปรีมนวงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) บริษัทลูกรฟท. ให้เหตุผลของการปิดสถานีหัวลำโพงตามนโยบายกระทรวงคมนาคม ว่า เนื่องจาก มีสถานีกลางบางซื่อแล้วและต้องเลือกใช้แห่งใดแห่งหนึ่ง ไม่เช่นนั้นจะประสบปัญหาขาดทุน ขณะที่ดินมีมูลค่าสูงควรนำไปพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าทางเศณษฐกิจสร้างรายได้ให้กับการรถไฟ