ต้านปิดหัวลำโพง-แก้สีผังเมือง เอื้อนายทุนพัฒนาเชิงพาณิชย์

08 ธ.ค. 2564 | 08:43 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ธ.ค. 2564 | 16:58 น.
503

เสียงต้านปิดหัวลำโพงดังกระหึ่มสหภาพรถไฟ สามารถ-รสนา-ประภัสร์ ย้ำชัด ประชาชนเดือดร้อนเบื้องลึกสั่งหยุดเดินรถรอจังหวะแก้สีผังเมืองจาก“น้ำเงินเป็นแดง” เอื้อนายทุนพัฒนาเชิงพาณิชย์ 120 ไร่ ประชาชนค้านขอเพิ่มค่าโดยสารแทนหยุดเดินรถ

 

กระแสต่อต้านการปิดสถานีรถไฟกรุงเทพหรือหัวลำโพงยกระดับความเข้มข้นขึ้นตามลำดับเมื่อทุกภาคส่วน ผนึกพลังเป็นเสียงเดียว คานอำนาจรัฐ ให้หันมาฟังเสียงสะท้อนโดยเฉพาะประชาชนผู้ใช้บริการ  แม้ว่าท่าทีของกระทรวงคมนาคมจะยอมโอนอ่อนผ่อนตามเปิดรับฟังความคิดเห็นในวงกว้าง วันที่14ธันวาคม แต่ในเบื้องลึกแล้ว

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) และนายราชศักดิ์ ปิยะปัญญานนท์ อดีตพนักงานขับรถไฟ สะท้อนว่า เป็นการแสดงท่าทีชั่วคราว เพราะต่างมีธงที่จะนำที่ดินแปลงดังกล่าวพัฒนาเชิงพาณิชย์อยู่แล้ว หากทุกฝ่ายหยุดการเคลื่อนไหวเมื่อใดในไม่ช้าที่ดินหัวลำโพง อาจตกไปอยู่ในมือของนายทุน ที่พวกเขาเชื่อว่าน่าจะมีการชักใยอยู่เบื้องหลัง และอาจมีข้อตกลงเบื้องต้นบางประการไว้ก่อนแล้ว

ต้านปิดหัวลำโพง-แก้สีผังเมือง เอื้อนายทุนพัฒนาเชิงพาณิชย์

 

 

“ฐานเศรษฐกิจ” ลงพื้นที่สำรวจที่ดินที่ตั้งสถานีหัวลำโพง 120 ไร่ หากมองผิวเผินจากบริเวณด้านหน้าซึ่งเป็นโดมสัญลักษณ์ พบว่าพื้นที่ไม่กว้างขวางนักแต่เมื่อเทียบกับศักยภาพแล้วมีสูงทั้งในแง่ความงดงามทางสถาปัตยกรรมโบราณแบบตะวันตก ภายในตัวอาคารเชื่อมโยงด้วยรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน  เมื่อก้าวเข้าสู่ด้านในบริเวณชานชาลาจะเห็นว่า ที่ดิน สถานีหัวลำโพง เป็นแปลงขนาดใหญ่เต็มไปด้วยระบบรางรถไฟ และขบวนรถเข้า-ออก จึงเข้าใจว่าเหตุใดพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย นักวิชาการ นักเคลื่อนไหว นักการเมืองจึงออกมาคัดค้าน

ล่าสุดวันที่ 7 ธันวาคมได้มีการเปิดเวทีแสดงความคิดเห็นนัดสำคัญบริเวณสถานีหัวลำโพงซึ่งจัดขึ้นโดยสร.รฟท. ทั้งนี้นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ข้อคิดว่า หากมีการปิดให้บริการสถานีรถไฟหัวลำโพงในวันที่ 23 ธันวาคมนี้ จะส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบด้านค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นถึง 7 เท่า ซึ่งเป็นการจำกัดการเดินทางให้ประชาชนต้องใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและรถไฟสายสีแดงแทน เพื่อให้เดินทางไปทำงานได้ทันเวลาในแต่ละวัน

ต้านปิดหัวลำโพง-แก้สีผังเมือง เอื้อนายทุนพัฒนาเชิงพาณิชย์

 ขณะเดียวกันปัจจุบันพบว่า แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน ของสถานีรถไฟหัวลำโพงได้กลายเป็นพื้นที่สีแดงแล้วจากเดิมเป็นพื้นที่สีน้ำเงิน ที่ผ่านมาจากการลงพื้นที่เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนยังพบว่า 100% ประชาชนไม่เห็นด้วยในการปิดให้บริการสถานีรถไฟหัวลำโพง

ต้านปิดหัวลำโพง-แก้สีผังเมือง เอื้อนายทุนพัฒนาเชิงพาณิชย์

นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.) สะท้อนว่าจากกรณีการปิดสถานีหัวลำโพงนั้น ตามพระราชโองการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ที่ชัดเจนว่าทรงพระราชทานที่ดินพื้นที่สถานีหัวลำโพง เพื่อความสะดวกของประชาชนในการเดินทาง ซึ่งการที่จะเปลี่ยนการใช้ที่ดินส่วนนี้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้นไม่ใช่พระราชประสงค์ รวมถึงภารกิจและวัตถุประสงค์ของการรถไฟฯ เนื่องจากพระราชโองการก็คือกฎหมายสูงสุด สิ่งที่พวกท่านกำลังจะทำคือการล้มเลิกกฎหมายสูงสุดของประเทศ

 “การแก้กฎหมายมันต้องมีกระบวนการ ไม่ใช่ตามนโยบายแล้วนโยบายของใคร ของเจ้ากระทรวงหรือของรัฐบาล และในตอนที่รัฐบาลแถลงนโยบายก็ไม่มีการแถลงนโยบายเหล่านี้”

ต้านปิดหัวลำโพง-แก้สีผังเมือง เอื้อนายทุนพัฒนาเชิงพาณิชย์

 นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กทม. กล่าวว่า นโยบายหยุดเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพงของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเอาพื้นที่เหล่านี้ไปเปิดประมูลทำห้างสรรพสินค้า ถือเป็นนโยบายที่นำเอาสิ่งสวยงามของสถานีหัวลำโพง สถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าไปอัพราคาให้กับห้างสรรพสินค้า ไปเป็นประตูทางเข้าห้าง เอาคุณค่าเหล่านี้ไปสร้างมูลค่าเพิ่ม

  ดังนั้นวันนี้ต้องคัดค้าน เพราะการเดินทางสำคัญที่สุด ประชาชนที่ต้องการเดินทางเข้ามาหัวลำโพงต้องเดินทางมาได้ ไม่ใช่แค่หยุดอยู่ชานเมือง แต่ควรจะมีรถไฟจากพื้นภาคทุกภาคเข้ามา

“วันนี้เขาต้องการหยุดเดินรถไฟเพื่อเคลียร์พื้นที่สีน้ำเงินที่ไม่สามารถทำพาณิชยกรรมได้ใช่หรือไม่ เพราะการหยุดเดินรถไฟก็จะได้ไประบายสีผังเมือง ดังนั้นเราต้องต่อต้านไม่ให้หยุดเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพง”

 ด้านนายสาวิทย์ แก้วหวานที่ปรึกษาสร.รฟท. ย้ำว่า วันที่ 23 ธันวาคม จะต้องมีขบวนรถไฟจำนวน 22 ขบวน เข้าสถานีหัวลำโพงเช่นเดิม โดยเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมและรัฐบาล 3 ข้อ ดังนี้ 1.การให้มีบริการขบวนรถไฟรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ควรมีอยู่ต่อไป โดยให้มีขบวนรถไฟชานเมืองทุกสาย และรถบริการเชิงสังคม (PSO) ทางไกล อย่างน้อยเส้นทางละ 1 ขบวน มีต้นทาง-ปลายทางที่สถานีกรุงเทพ

  2.การแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ กทม. รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการขนส่งทางรางเป็นระบบหลักอย่างสมบูรณ์เต็มระบบ 3.การพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ เพื่อมาชดเชยผลการดำเนินงานที่ขาดทุนของรฟท.ควรดำเนินการจากที่ดินที่มีความพร้อม เช่น พื้นที่ย่านพหลโยธิน บางซื่อ จตุจักร รัชดาภิเษก สถานีแม่น้ำ รวมถึงภูมิภาคอย่างหัวหิน บุรีรัมย์ฯลฯ

นายกิจธพงษ์ รุ่งกิจวรเสถียร ผู้โดยสารรถไฟชานเมืองสายตะวันออกระบุว่า ไม่ต้องการให้ปิดหัวลำโพง โดยต้องคำนึงถึงประชาชนที่เดินทางระยะสั้นประจำ เพื่อเข้ามาทำงานย่านหัวลำโพงและละแวกใกล้เคียง เพราะค่าโดยสารถูก เพียง3บาทจากสถานีหัวหมาก ถึงหัวลำโพงและสามารถกำหนดเวลาได้ชัดเจน ทั้งนี้ยินดีให้ขึ้นค่าโดยสารเป็น5บาทเพื่อแลกกับการหยุดเดินรถ

ต้านปิดหัวลำโพง-แก้สีผังเมือง เอื้อนายทุนพัฒนาเชิงพาณิชย์