BTS ยกเลิก ตั๋วรายเดือน- ค่ารถไฟฟ้าแพง จุดเปลี่ยน ซื้อ-ขาย คอนโดมิเนียม

15 ต.ค. 2564 | 13:15 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ต.ค. 2564 | 20:34 น.
2.6 k

ดร.ยุ้ย ฉายภาพอสังหาฯ หลังโควิด ชี้ " บีทีเอสยกเลิกตั๋วรายเดือน" สะเทือนทิศทางตลาดคอนโดฯแน่! จับตา "ค่าโดยสารรถไฟฟ้า" พุ่ง 40-70% ต่อคน ปิดฉากคอนโดฯติดรถไฟฟ้าปลายสาย เปิดทำเลที่อยู่อาศัยฯใกล้แหล่งงานแทน

ประเด็น 'ค่าโดยสารรถไฟฟ้า' ของไทยแพงเกินเหตุ สวนทางรายได้ขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เคาะรายจ่าย ตลอดสายสูงสุด 104 บาท เสียเงินไป-กลับ เกิน 60% ของค่าแรงรายวันนั้น ยังคงเป็นเรื่องที่สังคมคัดค้าน และวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมของราคาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจาก รถไฟฟ้า BTS ยกเลิกบัตรโดยสารเที่ยวเดินทางประเภท 30วัน หรือ ตั๋วเดือน บังคับใช้ตั้งแต่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ยิ่งเป็นการสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภคในยุคโควิด19 อย่างมาก

BTS ยกเลิก ตั๋วรายเดือน- ค่ารถไฟฟ้าแพง จุดเปลี่ยน ซื้อ-ขาย คอนโดมิเนียม

บีทีเอสยกเลิกตั๋วเดือน กระทบ 40.6 ล้านเที่ยวคน

ล่าสุด นางสาว เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ วิพากษ์ถึงประเด็นดังกล่าว อันเนื่องมาจาก จะเป็นอีกจุดเปลี่ยนของตลาดคอนโดมิเนียมที่เคยเฟื่องฟูยุคก่อนหน้า ว่า จำนวนเที่ยวคนที่ได้รับผลกระทบ (กรณียกเลิกใช้บัตรโดยสารประเภท 30วัน) แบ่งเป็น 

  • บุคคลทั่วไป ได้รับผลกระทบมากถึง 36.2 ล้านเที่ยวคน
  • นักเรียน ได้รับผลกระทบมากถึง 4.37 ล้านเที่ยวคน

รวมผู้โดยสารทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบ  ประมาณ 40.6 ล้านเที่ยวคน

 

" บุคคลทั่วไป จะเดินทางได้เพียง 2 ใน 3 จากที่เคยเดินทางได้ และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 40 -70% เพื่อให้สามารถเดินทางได้เท่าเดิม  ขณะที่นักเรียน เที่ยวการเดินทางจะลดลงมากกว่าครึ่งของที่เคยเดินทางได้ และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 80 –130% " 

 

เปรียบเทียบค่ารถไฟฟ้าเมื่อ BTS ยกเลิกตั๋วรายเดือน 

จากเดิม กรณีที่มีบัตรประเภท 30วัน จะสามารถเดินทางได้ทั้งหมด 23 สถานี 

  • บุคคลทั่วไป มีค่าใช้จ่าย อยู่ที่ 465 -1,300 บาท จะเดินทางได้สูงสุด 50เที่ยว 
  • นักเรียน มีค่าใช้จ่าย อยู่ที่ 360 -950 บาท จะเดินทางได้สูงสุด 50เที่ยว

 

BTS ยกเลิก ตั๋วรายเดือน- ค่ารถไฟฟ้าแพง จุดเปลี่ยน ซื้อ-ขาย คอนโดมิเนียม

กรณีคิดตามระยะทางจริง (ตามสถานี) สามารถเดินทางได้เพียง 1-4 สถานีเท่านั้น 

  • บุคคลทั่วไป จากราคาบัตรเดินทางสูงสุด 1,300 บาท จะสามารถเดินทางได้สูงสุด 29เที่ยว (ราคาต่อเที่ยวสูงสุด 31 บาท จะเดินทางได้ 3-4 สถานี)
  • นักเรียน จากราคาบัตรเดินทางสูงสุด 950 บาท จะสามารถเดินทางได้สูงสุด 21เที่ยว (ราคาต่อเที่ยวสูงสุด 24 บาท จะเดินทางได้ 1-2 สถานี)

 

อัตราค่าโดยสารที่เรียกเก็บในเส้นทางสัมปทาน จาก สถานีหมอชิต - สถานีอ่อนนุช และจากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ - สถานีสะพานตากสิน รวมส่วนต่อขยาย จากสถานีสะพานตากสิน - สถานีวงเวียนใหญ่ ยังคงอยู่ในอัตรา 16 -44 บาท (ไม่รวมส่วนต่อขยาย สถานีโพธิ์นิมิต – สถานีวงเวียนใหญ่ และ สถานีบางจาก - สถานีการเคหะฯ ที่เพิ่มอีก 15 บาท และส่วนต่อขยาย สถานีห้าแยกลาดพร้าว - สถานีคูคต ยังไม่คิดค่าบริการ ณ ตอนนี้)

  • เช่น เดินทางจากสถานีอ่อนนุช - สถานีอโศก  ค่าเดินทาง 33 บาท/เที่ยว
  • เช่น เดินทางจากสถานีแบริ่ง (ส่วนต่อขยาย) - สถานีอโศก  ค่าเดินทาง 33 + 15 = 48 บาท/เที่ยว 

ค่ารถไฟฟ้าแพง จุดเปลี่ยนตลาดคอนโดฯ

ผู้บริหาร บมจ.เสนาฯ กล่าวอีกว่า ประเด็นค่ารถไฟฟ้าที่ผู้บริโภคต้องจ่ายแพงขึ้น จะส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในอนาคตอย่างแน่นอน เนื่องจาก ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดคอนโดฯ บูมจากการมาของรถไฟฟ้า เปลี่ยนเทรนด์ การซื้อคอนโดฯแทนรถยนต์ส่วนตัว เช่น มีคอนโดฯ แถวแพรกษา สมุทรปราการ แต่นั่งรถไฟฟ้ามาทำงานย่านอโศก จ่ายค่าตั๋วรายเดือนราว 3,000 บาท อยู่ในระดับรายจ่ายที่พอรับได้ แต่วันนี้ ปัจจัยเปลี่ยนไป บีทีเอสยกเลิกตั๋วเดือน ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่จำเป็นต้องเดินทางทุกวัน เท่ากับมีค่าใช้จ่ายที่จะต้องจ่ายเพิ่มบวก 22 บาทต่อเที่ยว เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ย 26 บาท ของ บัตร 30วัน (50 รอบ = 1,100 บ.) 


" รถไฟฟ้าแต่ละสาย ก่อนหน้าทำให้คนไม่จำเป็นต้องหาซื้อคอนโดฯใจกลางเมืองที่มีราคาแพง ขนาดห้องเล็ก แต่เลือกอยู่ถัดออกไป ราคาห้องถูกกว่า ได้ห้องที่กว้างกว่า ยิ่งไกลยิ่งถูก เพราะบริหารจัดการค่ารถไฟฟ้าต่อเดือนได้เท่ากัน ราว 3,000 บาท แต่วันนี้ปัจจัยที่จะเลือกซื้อคอนโดฯ  จะถูกวิเคราะห์จากค่าเดินทางเป็นหลักอีกด้วย ครั้งจะให้ขยับมาซื้อใจกลางเมือง ยิ่งไม่มีทางเป็นไปได้ในยุคนี้ คาดผู้คนบางส่วนจะหนีไปอยู่ในทำเลที่ใกล้กับแหล่งงาน โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ติดหรือใกล้รถไฟฟ้าอีกต่อไป ฉะนั้น ทำเลที่ดีในอนาคต ไม่จำเป็นต้องใกล้รถไฟฟ้า แต่เป็นทำเลที่ใกล้แหล่งงาน และมีไลฟ์สไตล์รองรับ เดินทางสั้นๆด้วยจักรยานยนต์รับจ้าง นี่เป็นอีกจุดเปลี่ยน ที่จะมีผลต่อผู้พัฒนาโครงการในอนาคต จากการมองโลเคชั่นที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ,ราคาการใช้ชีวิตของเขาเป็นหลัก ซึ่งก็จะทำให้ตลาดที่จะขายได้แคบลงไป โดยเฉพาะทำเลปลายสายรถไฟฟ้าน่าจะไปได้ยาก "  

BTS ยกเลิก ตั๋วรายเดือน- ค่ารถไฟฟ้าแพง จุดเปลี่ยน ซื้อ-ขาย คอนโดมิเนียม

คอนโดฯ กำลังจะตาย?

อย่างไรก็ตาม คอนโด - บ้าน หรือ ที่อยู่อาศัย เป็นปัจจัยสี่ที่จำเป็น และแม้สถานการณ์โควิด ขณะนี้จะคลี่คลายลงแล้ว แต่พบพนักงาน , มนุษย์เงินเดือนมากกว่า 50% ยังคงทำงานที่บ้าน พูดคุย ประชุมงานผ่านออนไลน์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็มีความเป็นได้ ที่จะทำให้ตลาดบ้านยังคงเติบโต เพราะหากเทียบกับ บ้านหลังใหญ่ กับ คอนโด ในราคาที่ทำกัน อย่างไรเสียคนก็เลือกซื้อบ้านมากกว่า 

 

แต่เหตุผลที่คาดว่า ตลาดคอนโดฯ ยังสามารถไปต่อได้ คือ ทิศทางราคาคอนโดฯ มีการปรับลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากตลาดยังไม่มีแรงผลักดันให้ฟื้นตัวมากพอที่จะดูดซับซัพพลายส่วนเกินที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งผู้บริโภคอาจได้รับอานิสงค์จากการแข่งขันด้านราคา ผ่านการระบายสต็อกสินค้าไปอีกสักระยะ ขณะโครงการคอนโดฯใหม่ๆ ซึ่งมีเทรนด์ของโปรดักส์ ฟังก์ชั่น และดีไซน์ที่แทบไม่แตกต่างกันในอนาคตนั้น จุดชนะสำคัญ จะอยู่ที่ราคา ฉะนั้น ภาพของการแข่งขันเพื่อทำให้ราคาถูกลง เจาะกำลังซื้อที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน 


" ภาวะเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มชะลอตัว กระทบต่อรายได้ของประชาชนลดลง และภาระหนี้สินครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ทำให้อัตราการปฏิเสธสินเชื่อในระดับสูงขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับภาพรวมเศรษฐกิจที่ถดถอยส่งผลให้กำลังซื้อขาดความเชื่อมั่น ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังไม่เร่งเปิดโครงการใหม่จากความไม่แน่นอนของโควิด-19 แต่ในแง่ของผู้ซื้อที่มีความพร้อม ถือเป็นจังหวะที่ดีในการซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงนี้ เพราะราคาขายดร็อปลงมาค่อนข้างมาก อัตราดอกเบี้ยต่ำ "


ขณะที่ภาพรวมภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยคาดว่าฟื้นตัวในปี 2565 หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายภายในสิ้นปีนี้ และวัคซีนเข้ามาในประเทศมากขึ้น คนส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนมากกว่า 70% วิถีชีวิตคนเริ่มกลับมาทำงานมีรายได้ปกติ สังคมมีความปลอดภัยระดับหนึ่ง เมื่อเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้นก็จะส่งผลบวกต่อภาพรวมธุรกิจอื่นด้วย โดยเฉพาะตลาดอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ปีนี้ถือเป็นปีที่ต้องมีการปรับตัวให้เร็วและให้ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรายวัน