กรมสนับสนุนสุขภาพผนึกพันธมิตร ดันไทย ฮับเวลเนส ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

23 ส.ค. 2564 | 09:50 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ส.ค. 2564 | 17:10 น.

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพผนึกมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์-กฎบัตรไทย ใช้กลไกเวลเนส พลิกฟื้นเศรษฐกิจระหว่างการระบาดและภายหลังการระบาดของโควิดรายได้การบริการแพทย์แผนไทย-ท่องเที่ยวสุขภาพผู้สูงอายุ พื้นที่อันดามัน-อ่าวไทย2.5หมื่นล้าน

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร 5 องค์กรจัดประชุมกลไกและมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจระหว่างการระบาดและภายหลังการระบาดของโควิด-19 ด้วยการส่งเสริมสุขภาพ พร้อมการลงนามข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมและพัฒนา Wellness Hub ของประเทศไทย ผ่านระบบ Zoom Orientation Meeting เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564ที่ผ่านมา 

 

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยริวงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวระหว่างเปิดการประชุมว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ดำเนินนโยบายและมาตรการพัฒนาระบบเวลเนสมาโดยตลอด ตอบสนองนโยบายการพัฒนาไทยเป็นศูนย์กลางการบริการส่งเสริมสุขภาพของรัฐบาล และตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ โดยในช่วงการระบาดของโควิด-19

กรมสนับสนุนสุขภาพผนึกพันธมิตร ดันไทย ฮับเวลเนส ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

กรมฯ เห็นว่าการส่งเสริมสุขภาพหรือเวลเนสมีศักยภาพระดับสูงในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กิจการ คงสภาพการจ้างงาน เพิ่มการจ้างงานใหม่ และกระจายรายได้ลงสู่เศรษฐกิจฐานรากได้ จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สมาคมโรงแรมที่พักส่งเสริมสุขภาพอันดามันอ่าวไทย สมาคมการส่งเสริมสุขภาพไทย และคณะกรรมการกฎบัตรไทย สมาคมการผังเมืองไทย ดำเนิน “โครงการเขตเศรษฐกิจนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพวิถีใหม่เพื่อพลิกฟื้นประเทศหลังโควิด-19”

กรมสนับสนุนสุขภาพผนึกพันธมิตร ดันไทย ฮับเวลเนส ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตจากโรงแรมเป็นโรงแรมส่งเสริมสุขภาพหรือโรงแรมเวลเนส นอกจากนั้น ยังได้เตรียมการยกร่างมาตรฐานระบบเวลเนสเพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ปฏิบัติสำหรับโรงแรมเวลเนสและกิจการเวลเนสในประเทศ สนับสนุนการเสริมสร้างคุณภาพการบริการ ความปลอดภัย ภาพลักษณ์และสร้างความโดดเด่นในสายตาของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในฐานะหน่วยงานภาคีเครือข่าย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครรินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ได้ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและกฎบัตรไทย ดำเนินโครงการเขตเศรษฐกิจนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพวิถีใหม่เพื่อพลิกฟื้นประเทศหลังโควิด-19 ในปี 2564 ได้ฝึกอบรมโรงแรมเวลเนสในพื้นที่อันดามันและอ่าวไทยไปแล้ว 120 โรง ในปี 2565 จะฝึกอบรมเพื่อยกระดับสมรรถนะโรงแรมเวลเนสเพิ่มขึ้นอีก 200 โรง ซึ่งมหาวิทยาลัยคาดหวังให้โรงแรมกลุ่มเป้าหมายมีสมรรถนะและศักยภาพสูงสุดในการให้การบริการที่เป็นเลิศ

กรมสนับสนุนสุขภาพผนึกพันธมิตร ดันไทย ฮับเวลเนส ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

สามารถใช้งานวิจัยที่มหาวิทยาลัยมีอยู่พัฒนาเป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และการบริการเพิ่มมูลค่า สร้างความแตกต่าง นอกจากนั้นยังได้สนับสนุนให้นักวิจัยและคณาจารย์ในสาขาการแพทย์ แพทย์แผนไทย เภสัชศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ พยาบาล และเทคโนโลยีการอาหารร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้และให้คำปรึกษาแนะนำแก่โรงแรมและกิจการส่งเสริมสุขภาพแก่กลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างสมรรถนะและขีดความสามารถการแข่งขันในระดับสูงสุด

นายสมพงศ์ ดาวพิเศษ นายกสมาคมโรงแรมที่พักส่งเสริมสุขภาพอันดามันและอ่าวไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ก่อตั้งขึ้นตามนโยบายของกฎบัตรไทยและตามความต้องการของโรงแรมและกิจการเวลเนสในพื้นที่อันดามันและอ่าวไทยที่เข้าฝึกอบรมรุ่น 1 หลักสูตรการจัดการโรงแรมส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้บริหาร เป็นตัวแทนผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบเวลเนสทั่วทั้งระบบ

การแก้ไขข้อกฎหมาย กฎระเบียบ วิธีปฏิบัติ ให้เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ เบื้องต้น สมาคมฯ และกฎบัตรไทยได้ประสบผลสำเร็จในการสร้างแพคเกจด้านการเงินร่วมกับธนาคารกรุงไทย สร้างระบบสินเชื่อปรับปรุงฟื้นฟูโรงแรมให้เป็นโรงแรมเวลเนส พร้อมการสนับสนุนวงเงินหมุนเวียน คาดว่าภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ ธนาคาร สมาคมฯ และกฎบัตรไทยจะได้แถลงรายละเอียดต่อสาธารณะ

สำหรับประเด็นการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูโรงแรมเวลเนสที่เป็นสมาชิกของสมาคมนั้น เบื้องต้น สมาคมฯ จะสนับสนุนการใช้ระบบ prepaid หรือการชำระเงินล่วงหน้ากับ wholesale หรือตัวแทน (DMC) ซึ่งที่ผ่านมาได้มีผู้ประกอบการหลายรายได้ขายห้องพักล่วงหน้า โดยอาจกำหนดปริมาณห้องเป็นระยะเวลาหกเดือนหรือหนี่งปี โดยมีส่วนลดตามที่ได้ตกลงกัน

ประเด็นต่อมา กรณีที่สมาชิกมีความประสงค์จะใช้วงเงิน สมาคมฯ จะขอให้สมาชิกเตรียมเอกสารและรายละเอียด asset value เพื่อนำไปขอเพิ่มวงเงินกู้กับธนาคารพาณิชย์ โดยอาจเปรียบเทียบมูลค่าทรัพย์สินมูลค่าปัจจุบันกับวงเงินที่ขอกู้ โดยค้ำประกันเพิ่มเติมวงเงินรูปแบบตั๋วสัญญาใช้เงินหรือโอเวอร์ดร๊าฟ หรืออาจจะทำสัญญาขาย voucher ล่วงหน้ากับเอเย่นต์ทัวร์

โดยมีอัตราส่วนลดตามที่ได้ตกลงกัน สำหรับประเด็นด้านการตลาด สมาคมฯ ได้วางแผนร่วมกับกฎบัตรไทยพัฒนาเวลเนสแพคเกจซึ่งคาดว่า ในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ จะสามารถนำนักท่องเที่ยวสุขภาพประเภทผู้สูงอายุเข้ามายังพื้นที่อันดามันและอ่าวไทย สำหรับนักท่องเที่ยวสุขภาพนานาชาติ ปัจจุบันทีมงาน B-Healthy อยู่ระหว่างประสานเครือข่ายสุขภาพในต่างประเทศ คาดว่าจะสามารถนำนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวเข้าไทยได้ในช่วงไตรมาสสองปี 2565

ด้านนายนิติธร เทพบุตร อุปนายกสมาคมโรงแรมที่พักส่งเสริมสุขภาพอันดามันและอ่าวไทยและประธานกรรมการสุโข เวลเนส แอนด์ สปารีสอร์ต กล่าวว่า สมาคมฯ มีวาระเร่งด่วนในการทำตลาดท่องเที่ยวสุขภาพสนับสนุนกิจการโรงแรมและกิจการเวลเนสในช่วงการระบาดและภายหลังการระบาดของโควิด-19 โดยสมาคมฯ ให้ความสำคัญในการเพิ่มอัตราการพำนักและเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยว จะใช้จุดแข็งของการแพทย์ตะวันออกหรือ oriental medicine

 

ดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกประเภทต่างๆ ซึ่งช่วงการระบาดของโควิดจะให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศ เน้นการจัดแพคเกจการส่งเสริมดูแลสุขภาพ (preventive medicine) หรือเวชศาสตร์เชิงป้องกัน กิจกรรมนี้จะทำให้รัฐประหยัดงบประมาณการักษาพยาบาล พร้อมแพคเกจเวชศาสตร์ฟื้นฟูสำหรับผู้ป่วยจากโควิดหรือ long COVID

สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งสมาคมฯ ได้ร่วมกับแพลตฟอร์ม B-Healthy ทำตลาดเข้มข้นในปี 2565 ในกลุ่ม long COVID และการดูแลสุขภาพสำหรับผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)  นอกจากนั้น จะทำตลาดพิเศษสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้และให้มูลค่าการท่องเที่ยวในอัตราสูง โดยใช้ความแข็งแกร่งของ oriental medicine เป็นกลไกการดูแลสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงการระบาดและภายหลังการระบาดของโควิด สมาคมฯ ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์ ช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาแพคเกจร่วมกันระหว่างหน่วยงานและธุรกิจประกันภัยเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงบริการเวลเนสได้ง่ายขึ้น พร้อมการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบการ รวมทั้ง การผลักดันให้เกิดการวิจัยสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการวิจัยและการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์สมุนไพร

นายฐาปนา บุณยประวิตร เลขานุการกฎบัตรไทย นายกสมาคมการผังเมืองไทย ในฐานะหัวหน้าโครงการเขตเศรษฐกิจนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพวิถีใหม่เพื่อพลิกฟื้นประเทศหลังโควิด-19 กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎบัตรไทยและศูนย์ประสานการส่งเสริมสุขภาพอันดามัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กำหนดจัดประชุมแสดงแผนธุรกิจเวลเนสของ 120 โรงแรมที่เข้าฝึกอบรมหลักสูตรการจัดการโรงแรมส่งเสริมสุขภาพ รุ่น 1 ในระหว่างวันที่ 22-24 กันยายน 2564 ณ. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ซึ่งในงานนี้ กฎบัตรจะเชิญผู้แทนธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคารกรุงไทย

กรมสนับสนุนสุขภาพผนึกพันธมิตร ดันไทย ฮับเวลเนส ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ให้เข้าร่วมการพิจารณาแผนธุรกิจและลงนามข้อตกลงเบื้องต้นเพื่อสนับสนุนสินเชื่อการปรับปรุงฟื้นฟูกิจการและสินเชื่อเพื่อการหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง จากที่ประมาณการเบื้องต้น ทราบว่า จะมีความต้องการสินเชื่อเฉพาะกลุ่มโรงแรมที่เป็นสมาชิกของสมาคมโรงแรมที่พักส่งเสริมสุขภาพอันดามันและอ่าวไทยประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งหากมีการปรับปรุงโรงแรมตามแผนแล้ว ในปี 2565

กลุ่มโรงแรมดังกล่าวจะสามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท ไม่นับรวมการหมุนเวียนเศรษฐกิจในกลุ่มการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก ผลิตภัณฑ์และบริการเวลเนสที่ผลิตจากกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก ที่คาดว่าจะมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท

สำหรับพันธกิจของกฎบัตรไทยที่ต้องดำเนินการในแผนปฏิบัติการร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและองค์กรเครือข่าย ในปี 2565 กฎบัตรไทยมีแผนการเปลี่ยนแปลงโรงแรมเป็นโรงแรมส่งเสริมสุขภาพรวมปี 2564 เป็น 500 โรงแรม และจะประกาศ “เขตนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ” จำนวน 18 แห่ง โดยร่วมกับกรุงเทพมหานครและเทศบาลนครและเทศบาลเมืองทั่วประเทศ จำนวน 17 แห่ง

โดยเขตนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพจะเป็นพื้นที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเข้มข้น และเป็นพื้นที่ได้รับการพัฒนาเป็นย่านสุขภาพวิถีใหม่ นอกจากนั้น กฎบัตรไทยยังมีแผนการพัฒนาเครือข่ายเวลเนสในต่างประเทศเพื่อเป็นฐานลูกค้าให้กับกลุ่มโรงแรมเป้าหมายในไทย โดยเน้นการทำตลาดในญี่ปุ่น โอซีเนีย และยุโรป เฉพาะกลุ่มเป้าหมายรายได้สูง