บิ๊กอสังหาฯ Call Out จี้รัฐ จัดหาวัคซีน ฟื้นธุรกิจ

14 ส.ค. 2564 | 12:33 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ส.ค. 2564 | 19:41 น.
1.0 k

3 บิ๊ก ซีอีโออสังหาฯ ค่ายใหญ่ เศรษฐา ทวีสิน - ธนพล ศิริธนชัย และ ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม Call Out เรียกร้องรัฐบาล เร่งจัดหาวัคซีนโควิด- 19 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย หวั่นล็อกดาวน์ยืดเยื้อ ปิดตายการเดินเครื่องธุรกิจ ทั้งพื้นที่เชิงพาณิชย์ และตลาดที่อยู่อาศัย ล้มทั้งระบบ

วิกฤติโควิด - 19 ของไทย ซึ่งเดินทางสู่จุดพีค สูงสุดในแง่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน ใกล้แตะระดับ 2.3 หมื่นราย (ข้อมูล 12 ส.ค.) ยอดสะสมมากกว่า 8 แสนราย ในระยะเวลาเพียง 4 เดือนเศษ (ตั้งแต่1 เม.ย. 2564)  ตามคาดการณ์ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไม่ผิดเพี้ยน อย่างไรก็ตาม ความน่ากังวลทางเศรษฐกิจ กลับยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อจุดพีคที่ว่า อาจเป็นเพียงสเต็ปแรกให้รัฐบาลออกมาตรการดูแลควบคุมโรคเข้มข้นขึ้นไปอีก เมื่อล่าสุด คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ระบุ ไวรัสสายพันธุ์เดลต้ารุนแรง แพร่เชื้อลามแล้วทุกจังหวัด และแม้ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ก็ยังสามารถติดเชื้อได้ ไม่ต่างจากสถานการณ์ทั่วโลกนั้น อาจทำให้ไทย ยังคงอยู่ในความเสี่ยงสูงต่อไป ย้ำขณะนี้ วิกฤติไทยยังไม่ถึงจุดพีค ดับฝันโอกาสฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

 

โควิดยังไม่ถึงจุดพีค ปิดตายอสังหาฯ

นั่นเท่ากับว่า หากสถานการณ์โควิด ยื้ดเยือไม่จบสิ้น ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ โอกาสเร่งเครื่องในการทำธุรกิจ เพื่อกู้รายได้ทั้งปียิ่งยากขึ้น ทำให้ขณะนี้ภาคเอกชน ทั้งตัวแทนธุรกิจ - กกร.เริ่มออกมาส่งเสียงกร้าว กดดันให้รัฐบาลเร่งกอบกู้วิกฤติ จี้จัดสรรนโยบายทุกทาง ตั้งแต่ด้านสาธารณสุข ทั้งการเรียกร้อง ให้เปิดเสรีการนำเข้าวัคซีนอย่างเร่งด่วน ,การกระจายวัคซีนคุณภาพอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง ควบคู่กับนโยบายกระตุ้นทางเศรษฐกิจ ที่ ณ เวลานี้ การเทเม็ดเงินใส่มือประชาชนอย่างหว่านแห เป็นระลอกๆ อาจไม่ใช่แนวทางออกอีกต่อไป เพราะไม่ก่อให้เกิดการจับจ่าย และขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้จริง อีกทั้ง หากไม่รีบแก้ไข ปล่อยการปิดตายทางเศรษฐกิจไว้นาน อาจทำให้บาดแผลทางเศรษฐกิจลึกลงไปอีก เช่น แนวโน้มการว่างงาน - ถูกเลิกจ้าง , ปัญหาหนี้ครัวเรือนชนเพดาน และ สภาพคล่องของธุรกิจทุกอุตสาหกรรมล้มระเนระนาด 

 

เจาะลึกในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ครึ่งปีแรก แทบทุกหมวดได้รับผลกระทบถ้วนหน้า ไล่ตั้งแต่ธุรกิจพื้นที่ค้าปลีก ถูกล็อกดาวน์ปิดตาย ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดในรอบ 20 ปี ขณะเจ้าของ จำเป็นต้องเยียวยาผู้เช่า เก็บรายได้ได้ไม่เต็มหน่วย รอ 2 ปีถึงฟื้น ไม่ต่างจากตลาดสำนักงาน ซึ่งเผชิญความท้าทาย ตั้งแต่ปีก่อนหน้า เนื่องจาก บริษัทน้อย-ใหญ่ พิจารณาปรับลดพื้นที่เช่า จากนโยบาย Work From Home ส่งผลพื้นที่ว่างสูงขึ้น และกดอัตราค่าเช่า ลงสู่จุดต่ำสุด

 

แต่ที่หดตัวรุนแรงมากสุด คือ ตลาดโรงแรม ที่ผู้ประกอบการ อยู่ในภาวะขาดสภาพคล่องรุนแรง จากภาคท่องเที่ยวหยุดชะงัก ด้านตลาดที่อยู่อาศัย แม้เรียลดีมานด์ (ซื้ออยู่อาศัยจริง) ยังเกิดขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดทางสังคม ทำให้การซื้อ - ขาย ถูกชะลอออกไป รวมถึง ปัญหาหนี้ครัวเรือนจากกำลังซื้อกลุ่มใหญ่ กำลังเป็นปัญหาทางรายได้ของผู้พัฒนาโครงการปีนี้ คาดทั้งปี ตลาดหดตัวซ้ำ เข้าขั้นวิกฤติ และส่อซึมยาวอีก 2-3 ปี หลายค่ายประเมินหน่วยเปิดใหม่หายไม่ต่ำกว่า 30% ขณะหน่วยเหลือขายสะสม พุ่ง 2.2 แสนหน่วย 

 

'ฐานเศรษฐกิจ' สำรวจแผนตั้งรับ และความเห็นของผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จาก 3 บิ๊ก CEO ระดับท็อปของตลาด ซึ่งถึงแม้ต่างมั่นใจในเป้าหมายรายได้ปีนี้ แต่ก็เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งบรรเทาความเสียหายทางเศรษฐกิจในทุกแนวทาง โดยโจทย์สำคัญที่สุด ณ ปัจจุบัน คือ การเร่งควบคุมการระบาด และกระจายวัคซีน เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นกำลังซื้อทั้งระบบ

เฟรเซอร์สฯมั่นใจผ่านวิกฤติ

นายธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT พอร์ตอสังหาฯรายใหญ่ระดับประเทศ ในกลุ่มเจ้าสัวเจริญ ระบุ แม้ช่วงที่ผ่านมา ภาพรวมเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างมาก และมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อต่อไปถึงสิ้นปี แต่ด้วยความหลายหลายของธุรกิจอสังหาฯครบวงจร ประกอบกับแนวทางบริหารจัดการเชิงรุก และการควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้ FPT มีความทนทาน และสามารถรับมือกับผลกระทบได้ ทั้งนี้ ประเมิน หากสถานการณ์ยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คาดการณ์ อาจส่งผลให้บริษัทสร้างรายได้ คาดเคลื่อนจากเป้าบ้าง (1.7 หมื่นล้านบาท) แต่มั่นใจว่าจะสามารถผ่านวิกฤตนี้ไปได้ 

 

ทั้งนี้ นอกเหนือ สามย่านมิตรทาวน์ และธุรกิจโรงแรม ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ธุรกิจอื่นๆ ยังสามารถทำได้ตามเป้าหมาย จากการปรับกลยุทธ์ให้สอดรับกับสถานการณ์ โดยที่อยู่อาศัย รายได้ตามเป้าในรอบครึ่งปีแรก  อสังหาฯเพื่ออุตสาหกรรมเติบโตจากอานิสงค์ ธุรกิจ e-commerce ส่วนอาคารสำนักงาน มีรายได้จากผู้เช่าชั้นนำคอยพยุง

 

แสนสิริ ชูหาวัคซีน เป็นวาระแห่งชาติ

ขณะ บิ๊ก บมจ. แสนสิริ ' นายเศรษฐา ทวีสิน ' ซึ่งออกมา Call Out เป็นระยะๆผ่านช่องทาง สื่อโซเซียลมีเดีย ล่าสุดมีการเรียกร้องให้รัฐบาล เร่งปูแนวทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยอย่างด่วน หลังงัดข้อมูลธนาคารโลก ประเมินว่า วิกฤติโควิดครั้งนี้ จะทำให้คนจน ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 1.5 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลต่อกำลังซื้อในทุกอุตสาหกรรม นับเป็น การพังทลายของระบบเศรษฐกิจการค้า ที่ยังหาจุดจบไม่ได้

บิ๊กอสังหาฯ Call Out จี้รัฐ จัดหาวัคซีน ฟื้นธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าวิกฤติโควิดครั้งนี้ ใหญ่เกินกว่า รัฐบาลจะรับไหว แต่ไม่ใช่สาเหตุที่จะเลี่ยงความรับผิดชอบ โดยเฉพาะการวางแผน 120 วันเปิดประเทศ ซึ่งยึดโยงกับแผนกระจายวัคซีน ซึ่งขณะนี้ยังทำได้ต่ำกว่าเป้า 6 แสนโดสต่อวัน จากข้อจำกัดวัคซีนมีไม่เพียงพอ จึงเรียกร้องนายกรัฐมนตรี พิจารณาทางเลือกอื่นๆ ในการหาวัคซีน มากกว่าฝากความหวังให้ 4-5 หน่วยงานหลักเท่านั้น โดยเสนอ ให้นำหลักเศรษฐศาสตร์ระดับภูมิภาค และ เศรษฐศาสตร์ทางการเมืองระหว่างประเทศมาใช้ประโยชน์ และยกเป็น 'วาระแห่งชาติ'

 

ด้านกลยุทธ์รับมือความเสี่ยง เศรษฐกิจล้ม พบ แสนสิริ ยังคงเดินหน้า แผนออกหุ้นกู้ เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านการบริหารต้นทุนทางการเงิน และดอกเบี้ย รวมถึงใช้เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียน สำหรับแผนพัฒนาโครงการใหม่อีก 20 โครงการในช่วงนับหลังจากนี้ มูลค่ารวม 19,400 ล้านบาท โดยยังคงเป้ายอดขายและเป้าโอน 3.1หมื่นล้านบาท

ศุภาลัยประเมินจุดพีคเผื่อปีหน้า 

อีกค่ายใหญ่ ในตลาดที่อยู่อาศัย บมจ.ศุภาลัย ซึ่งปีนี้ ตั้งเป้าหมายท้าทาย ทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท โดยนายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม คีย์แมนคนสำคัญ ประเมินสถานการณ์เลวร้ายสุด แบบไม่อยากให้เกิดขึ้น คือ โควิด19 อาจลากยาวไปจนถึงช่วงต้นปี หรือ กลางปี 2565 ผิดคาดจากที่ประเมิน ว่าครึ่งปีหลังนี้ ทุกค่ายจะกลับมาเปิดตัวโครงการใหม่อย่างคึกคัก ห่วงสุด ตลาด กทม.- ปริมณฑล ที่ยังมีอุปสรรค จากความเสี่ยงการระบาดใหม่ในแคมป์คนงาน และ แรงงานบางส่วนไม่กลับมา ทำให้การเดินหน้าโครงการกลับมาได้ไม่ 100% ซึ่งคงกระทบต่อการโอนกรรมสิทธิ์ของผู้ประกอบการหลายราย ในช่วงสิ้นปี ส่งผลต่องบการเงิน ปี 2564 พลาดเป้า 

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กังวลสุด คือ การฟื้นตัวกลับ ทางเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์คลี่คลาย ซึ่งคงใช้เวลาอีกอย่างน้อยราว 6 เดือน ถึงบูททั้งระบบให้กลับมาได้ ระบุว่า มีหลายรายในอุตสาหกรรมอสังหาฯ เรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการมากระตุ้นกำลังซื้อ แต่ส่วนตัวมองว่า นั่นไม่ใช่ทางออกอีกต่อไป เพราะเมื่อไหร่ที่วัคซีนมาช้าลง แม้แค่ครึ่งเดือน มาตรการใดๆ ก็คงไม่มีผลต่อตลาด เราไม่ต้องการมาตรการแจกเงิน เพราะมีบทเรียนแล้วว่า ไม่ได้ช่วยให้ยอดขายเพิ่มขึ้น แต่การผ่อนคลายความยุ่งยากในการทำธุรกิจลง เช่น ขั้นตอนการอนุมัติ เปิดแคมป์ จะช่วยตลาดได้ดีที่สุด

 

ขณะเดียวกัน มองไปถึงความหวังถึงการกลับมา ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้แบบปกติอีกครั้ง ของกทม. เฉกเช่น โมเดล 'ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์' ที่ยอมรับว่าทำได้ดี แม้จะไม่ทั้งหมด แต่เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมค์ ส่วนแนวทางตั้งรับของบริษัทนั้น พยายามใช้ช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ ปรับปรุงภายในองค์กร และพัฒนาโปรดักส์ เดินหน้าเปิดใหม่ 22 โครงการ ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะการเจาะตลาดต่างจังหวัด โดยหวังทั้งอุตสาหกรรม จะผ่านสถานการณ์เลวร้ายที่ลากยาว 2 ปีนี้ได้ไปด้วยกัน