กรมที่ดินหนุนขยายเพดาน ต่างชาติซื้ออสังหาฯไทย

28 ก.ค. 2564 | 13:16 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ค. 2564 | 20:24 น.
831

กรมที่ดินหนุนศบศ. ขยายเพดานต่างชาติซื้ออสังหาไทย ห้องชุด-บ้านหรู ย้ำต้องมีเงื่อนไขเข้ม คอนโดต้องตั้งอยู่บนพื้นที่ไม่น้อยกว่า 5 ไร่พัฒนา โครงการใหม่เท่านั้น

ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) เตรียมออกมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยขยายเพดานให้ชาวต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ ห้องชุดในไทยได้เกิน 49% ตลอดจนให้สิทธิ์เพิ่มที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว เพื่อให้สิทธิ์นักลงทุนต่างชาติ เข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ไทยและนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวภาคเอกชนให้ความสนใจ เพราะอย่างน้อยนอกจากจะระบายสะต๊อกคอนโดมิเนียมได้มากขึ้นแล้วยังขยายในเรื่องของการขายบ้านหรูให้ต่างชาติ

 

ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อมากกว่าคนไทยจากเดิมกฎหมายไทยไม่เปิดให้ต่างชาติซื้อที่ดินพร้อมที่อยู่อาศัยได้ ขณะความคืบหน้าอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมาย นำเข้าที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) และเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อยกร่างเป็นพระราชกำหนดต่อไป 

กรมที่ดินหนุนขยายเพดาน ต่างชาติซื้ออสังหาฯไทย

นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรมที่ดินสนับสนุนมาตรการขยายเพดานการถือครองกรรมสิทธิ์ในห้องชุดที่เพิ่มขึ้นรวมถึงบ้านแนวราบ ของ ศบศ. ที่เตรียมเสนอเข้าครม.พิจารณาโดยมองว่า สามารถช่วยกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯได้ แต่ทั้งนี้กรมได้มีเงื่อนไขเพิ่มเติมกลับไป ในบางประเด็น โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมจะต้องเป็นโครงการใหม่มีขนาดพื้นที่ภายในโครงการไม่น้อยกว่า 5 ไร่ เป็นต้น

กรมที่ดินหนุนขยายเพดาน ต่างชาติซื้ออสังหาฯไทย

ทั้งนี้ เมื่อต้องการขายให้กับกลุ่มต่างชาติดังนั้นสินค้าต้องมีคุณภาพที่ดี รวมทั้งระดับราคาที่ต้องกำหนดให้สอดคล้อง ความคืบหน้าอธิบดีอธิบายว่ากลุ่มของศบศ.เป็นผู้ดำเนินการ กรมที่ดินในฐานผู้สนับสนุนและแนะนำเท่านั้น

 

สำหรับการถือครองอาคารชุดของชาวต่างชาติกฎหมายเดิมชาวต่างชาติสามารถถือครองกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ไม่เกิน 49% ของพื้นที่ขายทั้งหมดในคอนโดฯ และอีก 51% เป็นสิทธิของคนไทยในการถือครองกรรมสิทธิ์ มาตรา 19 ทวิ พระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551)

 

ขณะร่างแก้ไขกฎหมายใหม่ แก้ไขอัตราการถือกรรมสิทธิ์ โดยจะขยายเพดานให้ชาวต่างชาติเข้าถือครองได้มากขึ้น อาจถึง 70-80% โดยเพิ่มเงื่อนไขสำหรับต่างชาติที่ถือครองเกิน 49% ไม่มีสิทธิออกเสียงในการประชุมนิติบุคคลอาคารชุด

 

ขณะการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติ ตามกฎหมายเดิมห้ามมิให้ชาวต่างชาติซื้อบ้านหรือที่ดินในประเทศไทย เว้นแต่จะเข้าเงื่อนไขตามกฎหมาย มาตรา 96 ทวิ ประมวลกฎหมายที่ดิน

 

สำหรับร่างแก้ไขกฎหมายใหม่ กำหนดให้ชาวต่างชาติสามารถซื้อบ้านเดี่ยวสำหรับอยู่อาศัยเฉพาะโครงการบ้านจัดสรรราคาประมาณ 10-15 ล้านบาทขึ้นไป โดยซื้อได้ไม่เกิน 49% ของโครงการ ส่วนระยะเวลาการเช่าอสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติตามกฎหมายเดิม อนุญาตให้ชาวต่างชาติเช่าอสังหาริมทรัพย์ นานสูงสุดไม่เกิน 30 ปี (มาตรา 540 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) ขณะร่างแก้ไขกฎหมายใหม่ ได้ขยายให้ชาวต่างชาติสามารถทำสัญญาเช่าได้สูงสุด 50 ปี +40 ปี

กรมที่ดินหนุนขยายเพดาน ต่างชาติซื้ออสังหาฯไทย

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้เคยระบุว่า ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไว้รัสโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยถูกมองเป็นบ้านหลังที่สองของชาวต่างชาติ รวมถึงกลุ่ผู้สูงอายุที่เกษียณ เนื่องจากมีความปลอดภัยกว่าในหลายประเทศ มีการสาธารณสุขที่ดี มีอาหารที่สมบูรณ์

 

“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดี ซึ่งไทยต้องทำตัวให้เป็นประเทศที่น่าลงทุน น่าอยู่อาศัย ทำให้ประเทศไทยเป็นบ้านหลังที่สอง”

 

นอกจากนี้ คนกลุ่มนี้ยังมีมีเงินบำนาญ เงินเก็บ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ยังมีประกันสุขภาพที่เป็นรัฐสวัสดิการ โดยรัฐบาลต้องดำเนินการแก้กฎ กติกาต่างๆ ให้สะดวกขึ้นสำหรับชาวต่างชาติ กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการสร้างรายได้การลงทุน เพิ่มการจ้างงานภายในประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ศบศ. ได้ออกมาตรการ กระตุ้นเศรษฐกิจไทยดูดเงินเศรษฐีต่างชาติผ่าน 4 กลุ่มเป้าหมายได้แก่  

1. กลุ่มประชากรโลกที่มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy global citizen) ซึ่งรวมถึงนักลงทุนที่มีกำลังซื้อสูง ภายใต้โปรแกรม Flexible Plus Program 

2.ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy pensioner) 

3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand professional) 

 4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (High-skilled professional)

 

หน้า 20 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,700 วันที่ 29 - 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564