เวนคืนที่ดินไฮสปีด ชาวบ้านยอมถอย จ่าย5เท่าราคาประเมิน

04 เม.ย. 2564 | 02:00 น.
18.6 k

ชาวบ้านอู้ฟู่ ได้ชดเชยเวนคืน ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ตั้งแต่ 1 ล้าน-100 ล้าน รฟท.ทุ่มงบแจกไม่อั้น กว่า 5,000 ล้าน พร้อมยอมออกนอกพื้นที่ โรงงาน-บ้านจัดสรรหนักสุดมองว่าได้ไม่คุ้มเสีย

การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เร่งชดเชยค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)ระยะทาง 250 กิโลเมตร 

โดยเฉพาะช่วงตั้งแต่เขตลาดกระบังกรุงเทพมหานคร ไปจนถึงสนามบินอู่ตะเภา มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 931 แปลง 850 ไร่กว่า 700 สัญญาที่ผ่านมามีเจ้าของที่ดินทยอยเช็นสัญญาเหลือ 150 แปลง ยังไม่เซ็นสัญญาทั้งนี้หากใครไม่ยินยอมจะใช้วิธีออกประกาศเร่งด่วนเข้าครอบครองพื้นที่พร้อมวางเงินชดเชยไว้กับธนาคาร เพราะต้องการส่งมอบพื้นที่ให้กับบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบินจำกัดตั้งขึ้นโดย กิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตรในฐานะผู้รับสัมปทาน ภายในเดือนตุลาคมนี้

การเวนคืนมี 11 จุด พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากสุดจังหวัดฉะเชิงเทรา 500 ไร่ กว่า 400 แปลง เปิดหน้าดินใหม่ลดปัญหาโค้งหักศอก สร้างตัวสถานีและศูนย์ซ่อมบำรุงครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางเตย ตำบลวังตะเคียน ตำบลบ้านใหม่ เขตอำเภอเมืองซึ่งตำบลวังตะเคียงถูกเวนคืนมากกว่า200แปลง

อย่างไรก็ตามในความสูญเสียกลับพบว่า รฟท. ได้ ทุ่มงบประมาณเยียวยา ให้ใกล้เคียงราคาตลาด ตั้งกรอบวงเงิน 3,700 ล้านบาท และ ล่าสุดเพิ่มงบประมาณ อีก 2,100 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564

หากย้อนไปในช่วงต้นของโครงการ ชาวบ้าน, กลุ่มเอ็นจีโอหรือองค์กรเอกชน รวมกลุ่มต่อต้าน ที่รุนแรงที่สุดคือ ฉะเชิงเทรา ต่อมาในภายหลังได้พิจารณาเกณฑ์ค่าชดเชยให้สมน้ำสมเนื้อจนเป็นที่พอใจเพื่อมิให้ไฮสปีดสายประวัติศาสตร์เส้นนี้ต้องล่าช้า

 

 

ขณะปัจุบันแหล่งข่าวรฟท.ระบุว่า การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน สำหรับสร้าง เส้นทางไฮสปีดฯ แต่ละสำนักงานที่ดิน ระหว่างชาวบ้านกับรฟท.เป็นไปอย่างคึกคักพร้อมรับเช็กสะพัดไปแล้ว 200-300 ใบ ค่าเวนคืนที่เบิกจ่ายสูงถึง 3-6 เท่า ของราคาประเมินกรมธนารักษ์ปี 2559 -2563 ประชาชนส่วนมากพอใจหากใครขายในช่วงนี้ย่อมถูกกดราคาหรือไม่มีใครซื้อเนื่อง จากสถานการณ์โควิด

เกณฑ์การชดเชยยอมรับไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่หากเป็นบ้านจัดสรรจะให้ชดเชยเฉลี่ย 2.5 เท่าเนื่องจากกรมธนารักษ์ประเมินไว้สูงแล้วเพราะมีการพัฒนาวางระบบสาธารณูปโภคเข้าแปลงที่ดิน หากเป็นเลือกสวนไร่นา บ้านเรือนชาวบ้านจะให้เฉลี่ย 3-เกือบ 6 เท่าเพราะราคาประเมินค่อนข้างต่ำในภาพรวมได้รับค่าชดเชยไปกันตั้งแต่ 1 ล้านบาท-กว่า 100 ล้านบาท

ไล่ตั้งแต่ เขตลาดกระบัง แขวง คลองสาม แขวงประเวศ แขวงลาดกระบัง บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิจำนวน 111 แปลง ได้รับค่าชดเชย 3.08 เท่า เช่นที่ดินให้เช่าของวัดลาดกระบังสำหรับเจ้าใหญ่ได้รับเงินชดเชย ตั้งแต่1ล้านถึง 20 ล้านบาทโดย กทม.สูงสุด 3.1 เท่าใกล้แอร์พอร์ตเรลลิงค์ สถานีลาดกระบัง เนื้อที่ 9 ไร่เป็นพื้นที่ทำป้ายวางตู้คอนเทนเนอร์ได้ค่าชดเชย 20 ล้านบาทส่วนฉะเชิงเทรารับชดเชย 4 เท่า ส่วนใหญ่เป็นที่ดินเกษตรราคาประเมิน 600-800 บาทต่อตารางวา ชาวบ้านบางรายได้รับเงิน 6 ล้านบาท ทั้งที่เสียที่ดินไปไม่มาก ส่วนบ้านจัดสรรได้รับชดเชยเฉลี่ย 2.5 เท่าเนื่องจากราคาประเมินสูง 20,000-25,000 บาทต่อตารางวาและมีโรงงานผลิตยาได้รับชดเชยกว่า
50 ล้านบาท

ขณะจังหวัดชลบุรี บริเวณตำบลบ้านสวนหนองข้างคอกเวนคืน 30 แปลง 30-40 ไร่ ได้รับชดเชย 4 เท่าของราคาประเมินฯอำเภอบางละมุงใกล้สถานี จำนวน 70 แปลง 100 ไร่ ตำบลนาเกลือ หนองปรือชดเชย 3.5 เท่า เช่นเดียวกับอำเภอศรีราชาตำบลบางพระ, ตำบลสุรศักดิ์ได้ชดเชยกว่า 5 เท่า 25 แปลง เนื้อที่ 20-30 ไร่ ขณะพัทยาได้ชดเชย 3-4 เท่า เนื่องจากราคาประเมินสูง ในจังหวัดชลบุรีมีบริษัทพัฒนาที่ดินในพื้นที่ติดต่อขอทำสัญญารับเงินชดเชยไป 10 ล้านบาท ทำเลศรีราชา ซื้อที่ดินรอพัฒนา ขณะบางโครงการพัฒนาเป็นบ้านจัดสรรขายแล้ว รับค่าชดเชย 30-40 ล้านบาท นอกจากนี้ พื้นที่อำเภอ สัตหีบ บริเวณตำบลเขาชีจรรย์ และตำบลบางเสร่ เวนคืนกว่า 100 แปลง ค่าชดเชย 3-4 เท่าขณะอำเภอบ้านฉางตำบลสำนักท้อนชดเชย 5 เท่าเนื่องจากราคาประเมินฯ ต่ำตารางวาละหลัก 100 บาท ส่วนโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ที่ระยองได้รับชดเชย กว่า 100 ล้านบาท

สำหรับโครงการบ้านจัดสรรที่กระทบรุนแรงคือ “เดอะแกรนด์บางแสน” ถูกเวนคืนครึ่งโครงการจากทั้งหมด 147 หน่วยตั้งอยู่ ตำบลห้วยกะปิซอย 17อำเภอเมืองจังหวัดชลบุรีราคาขายตารางวาละ 26,000 บาท 

ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,667 วันที่ 4 - 7 เมษายน พ.ศ. 2564