สภาพัฒน์ สั่งศึกษาให้ชัด   สร้าง เทอร์มินัล 2   งบ 5.7 หมื่นล้าน

31 ม.ค. 2564 | 11:16 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.พ. 2564 | 08:38 น.
697

 สภาพัฒน์  (สศช.)  สั่ง ศึกษาให้ชัด   แผนสร้างเทอร์มินัล 2   หลัง   “คมนาคม” สั่งลุย 2 เร่ง ทอท.ดำเนินการ 60 วัน รับผู้โดยสาร120 ล้านคนต่อปี  พร้อมชงครม.ไฟเขียว มี.ค.นี้ คาดเปิดประมูล ก.ย.64

 

 

 

 

 

ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(ทสภ.)ที่มีนาย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติให้ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารทั้ง 3 แห่ง วงเงินประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย โครงการพัฒนาส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) หรือเทอร์มินัล 2  วงเงินประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท และโครงการพัฒนาส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1 ด้านทิศตะวันตก (West Wings)  และตะวันออก (East Wings) วงเงินรวมประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการเดินทางของผู้โดยสารนั้น

 

สภาพัฒน์ สั่งศึกษาให้ชัด    สร้าง เทอร์มินัล 2   งบ 5.7 หมื่นล้าน

 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า เบื้องต้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)สั่งให้ทบทวนผลการศึกษาแนวทางการพัฒนา ทสภ. ให้ชัดเจน พร้อมนำเรื่องดังกล่าวที่มีมติในที่ประชุมเสนอต่อสำนักงานการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติม 

 

“ยืนยันว่าสศช.ไม่ได้ขัดข้อง   พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้ บรษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท.ดำเนินการ ตามข้อแนะนำให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน  หลังจากนั้นจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือนมีนาคม 2564 และดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อประมูลโครงการฯ หาผู้รับจ้างคาดว่าจะได้เอกชนผู้รับจ้าง ราวเดือนกันยายน  2564”

 

               

 

 

 

อย่างไรก็ตามปัจจุบันอาคารผู้โดยสารสามารถรองรับได้ 45 ล้านคนต่อปี โดยการก่อสร้างอาคารทั้ง 3 แห่ง จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของ ทสภ.เป็น 120 ล้านคนต่อปี ประกอบด้วย อาคารผู้โดยสารปัจจุบัน รองรับได้ 45 ล้านคนต่อปี  ส่วนอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT 1) สามารถรองรับได้ 15 ล้านคนต่อปี  ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดบริการปี 2565  ด้าน North Expansion สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี ใช้ระยะเวลาก่อสร้างราว  24 เดือน  คาดแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2566   ขณะที่ West Wings รองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคนต่อปี และ East Wings สามารถรองรับได้ 15 ล้านคนต่อปี  ทั้งด้าน West & East Wings ใช้ระยะเวลาก่อสร้างราว 28 เดือน คาดแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2567

 

 

“ปัจจุบันแผนพัฒนา ทสภ. อยู่ระหว่างก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) เส้นที่ 3 หากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้ ทสภ. สามารถรองรับผู้โดยสารได้เป็น 90 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น อยู่ที่ 90 เที่ยวบินต่อชั่วโมง  จากปัจจุบัน 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง  หากเราไม่สร้างอาคาร 3 ส่วนพร้อมกัน  จะทำให้ประเทศเสียโอกาส   เนื่องจากรายได้ของประเทศ  ส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยว คิดเป็น 80% ที่เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางทางอากาศ  ถ้าเราสามารถพัฒนาให้รองรับนักท่องเที่ยวได้มากเท่าไร  ทำให้ประเทศชาติมีโอกาสรับรายได้จากการท่องเที่ยวมากขึ้นเท่านั้น“

 

              

ผู้สื่อข่าว"ฐานเศรษฐกิจ"รายงานว่า ล่าสุดสำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้นำเสนอผลการศึกษาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้ 1.การเปลี่ยนแผนการขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือจะทำให้เกิดความแออัดที่เทอร์มินัล 1 และจะทำให้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ซึ่งกำลังจะเปิดใช้ในอีกไม่นานทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์แบบ

 

เพราะไม่มีผู้โดยสารจากส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกมาป้อนให้ตามที่ได้วางแผนไว้  ทั้งนี้ ส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกนั้น ครม.ได้อนุมัติแล้วตั้งแต่ปี 2553 มีแบบรายละเอียดการก่อสร้างแล้ว โดย ทอท.ได้จ่ายค่าจ้างออกแบบแล้วด้วย และได้รับความเห็นชอบผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว

 

 

 

 

 

2.ขีดความสามารถของส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือซึ่ง ทอท.อ้างว่าจะรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปีนั้นเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากมีหลุมจอดประชิดอาคารเพียง 14 หลุมเท่านั้น ทั้งนี้ ได้มีการศึกษาเปรียบเทียบความจุของหลุมจอดประชิดอาคารที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันพบว่าเป็นไปไม่ได้ที่หลุมจอดประชิดอาคารจำนวน 14 หลุม จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 30 ล้านคนต่อปี

 

 

 3.ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือจะก่อให้เกิดหลากหลายปัญหาตามมา เช่น   ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกเพราะต้องใช้รถไฟฟ้าไร้คนขับถึง 3 สาย จึงจะได้ขึ้นเครื่องบิน และทำให้รถใช้มอเตอร์เวย์เข้า-ออกสนามบินสุวรรณภูมิมากขึ้น เนื่องจากส่วนต่อขยายด้านทิศเหนืออยู่ใกล้มอเตอร์เวย์ ส่งผลให้รถติดบนมอเตอร์เวย์ ผู้โดยสารจะต้องเผื่อเวลาการเดินทางไปสนามบินเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

 

 

4.การก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 42,000 ล้านบาท โดย ทอท.อ้างว่าจะรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับการขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ซึ่งสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปีเช่นเดียวกัน แต่ใช้เงินลงทุนเพียงประมาณ 12,000 ล้านบาทเท่านั้น หรือประหยัดเงินได้ถึง 30,000 ล้านบาท

 

 

5.เป็นการยากที่สนามบินสุวรรณภูมิจะมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 150 ล้านคนต่อปี ตามที่ ทอท.กล่าวอ้าง เนื่องจากมีข้อจำกัดในเขตการบินหรือแอร์ไซด์ อีกทั้ง ไม่มีความจำเป็นจะต้องเพิ่มความจุให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 150 ล้านคนต่อปี เพราะในอนาคตผู้โดยสารจะกระจายไปใช้สนามบินดอนเมืองและสนามบินอู่ตะเภาด้วย โดยใช้รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และจากการดูข้อมูลจำนวนผู้โดยสารในสนามบินต่างๆ ทั่วโลก พบว่ามีเพียง 2 สนามบินเท่านั้นที่มีผู้โดยสารถึง 100 ล้านคนต่อปี ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือเพื่อทำให้สนามบินมีความจุถึง 150 ล้านคนต่อปี

 

 

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อเสนอแนะให้ ทอท.ดำเนินการ เร่งขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันออก ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2553 รวมทั้งขยายด้านทิศตะวันตกด้วย เพื่อให้สนามบินสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 75 ล้านคนต่อปี   รวมทั้งดำเนินการตามข้อเสนอแนะของสภาพัฒน์ที่ให้ขยายด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ตามด้วยก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ด้านทิศใต้ใกล้ถนนบางนา-ตราด เพื่อให้สนามบินสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 120 ล้านคนต่อปี เป็นลำดับแรกก่อน แล้วจึงนำส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือมาพิจารณาว่ายังคงมีความจำเป็นอีกหรือไม่

หน้า7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ” สภาพัฒน์ค้านแล้ว 2 ครั้ง

เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ... หายนะสุวรรณภูมิ?

‘ศักดิ์สยาม’หย่าศึก เปิดโมเดลเทอร์มินัล2สุวรรณภูมิ

ฟัง2ด้าน หนุน-ค้าน นอร์ธเทอร์มินัล‘สุวรรณภูมิ’

”คมนาคม” ชงบิ๊กตู่ ตั้งคณะกรรมการฯ สร้างเทอมินัล 2