บ้านใหม่-บ้านมือสอง ชะงัก รอรัฐออกมาตรการกระตุ้น 

11 ม.ค. 2564 | 09:09 น.
1.2 k

นายกสมาคมอสังหาฯ ถอดใจ รอรัฐออก 5 มาตรการกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัย หวั่น! รายเล็ก ฟุบต่อไร้สภาพคล่อง ขณะสมาคมนายหน้า โยงตลาดบ้านมือสอง จ่อทำหนังสือกระทุ้งซ้ำ ขอเข้าร่วมมาตรการ ด้านแสนสิริ ชี้ข้อเสนอหลายข้อทำได้ทันที ขอรัฐปลดล็อก เปิดโอกาสอสังหาฯ ชี้นำเศรษฐกิจ

 

หลังเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ได้ยื่นหนังสือข้อเสนอแนะแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้ช่วย แก้ปัญหาและกระตุ้นให้ผู้ซื้อเร่งตัดสินใจซื้อ หวังช่วยประคองสถานการณ์ตลาดในปัจุบันที่เริ่มส่อมีปัญหา ทั้งในแง่สภาพคล่องของผู้ประกอบการ และกำลังซื้อ กรณีได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซ้ำเติมอีกระลอก 

 

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุว่า  โดยล่าสุด ยอมรับว่า เหล่าผู้ประกอบการยังคงรอท่าทีของรัฐบาลในการตอบรับมาตรการดังกล่าว แต่เนื่องจาก คาด รัฐบาล คงมีความจำเป็นในการเร่งดำเนินการ ออกมาตรการอื่นๆ เพื่อมาบรรเทาความเดือดร้อน และเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ในด้านปากท้องของประชาชนภาพรวมก่อนเป็นอันดับแรก อีกทั้งกังวลว่า การออกมาตรการมากระตุ้นอสังหาฯ โดยเฉพาะ กรณีข้อ 1. ซึ่งขอให้ช่วยยืดระยะเวลา มาตรการการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และค่าธรรมเนียมการจดจำนอง ลงถึงอัตราต่ำสุด ในทุกระดับราคาบ้าน ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 หลังมาตรการเดิมสิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 นั้น การดำเนินการคงเป็นไปยาก เพราะอาจกระทบต่องบประมาณ และการจัดเก็บรายได้ของรัฐอยู่มากในภาวะเช่นนี้ จึงยังไม่มีการตัดสินใจใดๆออกมา 

หน่วยเหลือขาย ตัวประกันตลาดที่อยู่อาศัย 2564

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัว เริ่มมีความเป็นห่วงกลุ่มผู้ประกอบการรายกลาง-รายเล็ก ที่สายป่านไม่ยาวพอในการพยุงสถานการณ์ แบกรับสต็อกไม่ไหว เพราะแม้ก่อนหน้า รัฐบาลจะออกโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ แต่ยังไม่ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบ หรือ เพียงพอต่อช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติ ส่วนการขอสินเชื่้อใหม่ เริ่มเป็นไปยากลำบากขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินไม่กล้าเสี่ยงในการปล่อยกู้เต็มวงเงิน ส่วนการจะหาหลักประกันอื่นๆมาค้ำประกันในช่วงเวลานี้ ยิ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ต่างจากรายใหญ่ ที่สามารถใช้วิธีการระดมทุนอย่างอื่น เช่น การออกหุ้นกู้ มาประคองสถานการณ์ได้ 

 

“การระบาดรอบที่แล้ว รายเล็ก ตกอยู่ในภาวะ “เกือบสุดทางแล้ว” เจอระลอกใหม่ซ้ำ ยิ่งอยู่ยาก ส่วนในแง่กำลังซื้อ ก็ยากอีกเช่นกันในการกระตุ้น เพราะทุกคนได้รับผลกระทบ เราเองเข้าใจรัฐที่ล่าช้า เพราะมีข้อจำกัดในการจะพิจารณาออกมาตรการใดๆมา บางอย่างก็กระทบต่อรายได้ของรัฐ ทำได้แค่รอ”

ด้านผู้ประกอบการรายใหญ่ นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ภาค อสังหาฯ ซึ่งยึดโยงกับสภาพเศรษฐกิจโดยรวมนั้น หากรัฐบาล มีมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ย่อมจะส่งแรงกระเพื่อมเป็นบวกมายังภาคอสังหาฯ แต่ในทางกลับกัน ตลาดที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ก็เป็นตัวชี้นำเศรษฐกิจ และจีดีพีของประเทศได้เช่นกัน เนื่องจากเป็นห่วงโซยาว สร้างอานิสงส์ไปยังธุรกิจต่างๆ ซึ่งเกือบ 90% เป็นธุรกิจในประเทศ เช่น วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ก่อให้เกิดการจ้างงาน รายได้หมุนเวียนในระบบ ฉะนั้น อยากให้รัฐบาล ให้ความสำคัญ ในการช่วยเหลือ ออกมาตรการใดๆ มากระตุ้นตลาดไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม โดยเฉพาะในส่วนที่ดำเนินการได้ทันที เช่น การยกเลิกกฎเกณฑ์ควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือ แอลทีวี โดยที่ไม่กระทบต่อรายได้ของรัฐ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อ หรือ นโยบายสนับสนุนกลุ่มคนต่างชาติ ที่สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่มีข้อจำกัด เนื่องจากหากรายเล็กมีปัญหา ก็จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาพรวมได้ 

“มาตรการหลายข้อที่ทั้งสมาคม และผู้ประกอบการเสนอไปในหลายแง่ เป็นการกระตุ้นให้เกิดการซื้อ-ขาย สร้างเงินหมุนเวียนในระบบ ซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ จะมากหรือน้อย ขอให้รัฐช่วยพิจารณาอย่างเร่งด่วน”

 

 

 

 

ฝากตลาดบ้านมือสอง โดยนาย ประวิทย์ อนุศิริ นายกสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย เผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ กำลังพิจารณา ทำหนังสือแนบข้อเสนอแนะไปยังนายกรัฐมนตรีและกระทรวงการคลังเช่นกัน เพื่อขอให้รัฐออกมาตรการมาสนับสนุนตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะ การขอลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และค่าธรรมเนียมการจดจำนอง 0.01% ในกลุ่มราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ยาวจนถึงสิ้นปี 2564 ซึ่งไม่ควรจะครอบคลุมเฉพาะที่อยู่อาศัยใหม่เท่านั้น หลังจากที่ผ่านมา ตลาดบ้านมือสองถูกมองข้าม ทั้งๆที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ เทียบเคียง บ้านมือหนึ่ง และมีอัตราการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด- 19 ส่งผลให้มีคนจำนวนมาก มีปัญหาเรื่องการผ่อนชำระกับสถาบันการเงิน จากการถูกลดเงินเดือน เงินล่วงเวลา บางรายถูกเลิกจ้าง และมีความกังวลใจถึงความไม่แน่นอนในอนาคต หรือ ตัดสินใจย้ายกลับต่างจังหวัด ทำให้มีทรัพย์บ้าน ประกาศขายทิ้งเพื่อลดภาระเข้ามาในตลาดจำนวนมาก 

จากปัญหาดังกล่าว สมาคมฯ เห็นว่ารัฐบาลควรออกมาตรการมาช่วยเหลือสนับสนุนในการซื้อขายเปลี่ยนมือ อีกทั้งจะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ จากการเป็นธุรกิจต้นน้ำ เกี่ยวข้องหลายส่วน อีกทั้งรายได้ส่วนหนึ่ง จะกระจายไปยังนายหน้ารายย่อยในสาขาอาชีพต่างๆ ที่อยู่ในระบบ ช่วยเพิ่มค่าครองชีพในภาวะเช่นนี้ได้ 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,643 วันที่ 10 - 13 มกราคม พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธอส.ส่งท้ายปี63คนแห่ประมูลบ้านมือสองวันเดือน536รายการ

ธอส.เปิดประมูลบ้านมือ2 ผ่านออนไลน์กว่า 7,000 รายการ

12.12 ทำยอดขายบ้านมือสอง ธอส. พุ่ง ลูกค้าแห่ซื้อ มูลค่ารวมเกือบ 60 ล้านบาท

11.11 ธอส.ประมูลบ้านออนไลน์ 1 ชม.ขายได้69.9 ล้าน