นายชัยรัตน์ ธรรมพีร ฐานะอุปนายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งประกอบไปด้วย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ได้ทำหนังสือส่งถึง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อนำเสนอแนะแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวม ทั้งหมด 5 ข้อ เนื่องจากสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2562 เป็นต้นมา ประกอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้ธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวต่อเนื่องจนถึงจุดวิกฤต ที่จะทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องปิดกิจการ ซึ่งจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ทาง 3 สมาคมฯ ประกอบด้วย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ขอเรียนว่า กำลังซื้อในตลาดขณะนี้คงเหลืออยู่ใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้ซื้อเพื่อการอยู่อาศัยจริง ผู้ซื้อเพื่อการลงทุน และผู้ซื้อต่างชาติ ดังนั้น จึงใคร่ขอนำเสนอมาตรการเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาและกระตุ้นให้ผู้ซื้อทั้ง 3 กลุ่ม เร่งการตัดสินใจซื้อเพื่อประคองสถานการณ์ ดังนี้
1.ลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และค่าธรรมเนียมการจดจำนอง ลงถึงอัตราต่ำสุดเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในทุกประเภท ทุกระดับราคา ทั้งที่อยู่อาศัยใหม่ และบ้านมือสองจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
2.ขอให้รัฐบาลสนับสนุนการยกเลิกการบังคับใช้มาตรการ LTV เป็นการชั่วคราวเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีกำลังซื้อสามารถซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อการลงทุนได้มากขึ้น โดยเชื่อว่าทุกสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) มีระบบการพิจารณาที่เข้มงวดอยู่แล้ว
3.ขอให้มีการประกาศขยายการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ออกไปอีก 2 ปี โดยให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เพื่อช่วยบรรเทาภาระให้กับประชาชน และผู้ประกอบการทั่วประเทศ
4.ขอให้ผู้ซื้อห้องชุดชาวต่างชาติได้รับวีซ่า โดยมีระยะเวลาตามมูลค่าของห้องชุด
-มูลค่า 3-5 ล้าน ต่อห้อง ได้รับวีซ่าเป็นเวลา 5 ปี
-มูลค่า 5-10 ล้าน ต่อห้อง ได้รับวีซ่าเป็นเวลา 10 ปี
-มูลค่าเกิน 10 ล้านต่อห้อง ได้รับสิทธิมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย
5.ขอให้นำโครงการบ้านดีมีดาวน์ มาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัยที่ภาครัฐสนับสนุนเงินลดภาระการผ่อนดาวน์ในรูปแบบของ Cash Back ให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยกลับมาใช้อีกครั้ง และขอเพิ่มวงเงินจากเดิม 50,000 บาท ต่อราย เป็น 100,000 บาท ต่อราย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองได้มากขึ้น เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ลุ้นอสังหาฯ2564 พลิกเป็นบวก
9 เดือน คอนโดฯเปิดใหม่หายวูบ 56.6%
ทั้งนี้ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย อยู่ระหว่างเตรียมจัดงาน “มหกรรมบ้านและคอนโดฯ ครั้งที่ 42” ในวันที่ 4-7 มีนาคม 2564 ที่พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการอสังหาฯ ทั้งในกทม. และต่างจังหวัด ให้ความสนใจ จับจองพื้นที่ นำโครงการที่อยู่อาศัยมาเข้าร่วมแล้วกว่า 1,000 โครงการ ผู้ประกอบการมากกว่า 280 ราย หลังจากช่วงปี 2563 สมาคมตัดสินใจงดจัดดังกล่าวไป เนื่องจากสถานการณ์โควิด -19 โดยคาดว่ามหกรรมครั้งที่ 42 ที่จะเกิดขึ้น จะได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคอย่างคึกคัก จากดีมานด์อัดอั้น และปัจจัยบวก เช่น เรื่องอัตราดอกเบี้ยต่ำ , โปรโมชั่นภายในงาน ส่วนลดสูงสุดมากกว่า 50 % ถือเป็นโอกาสในการซื่้อ จึงคาดการณ์จะมียอดเงินสะพัดมากกว่า 3,500 ล้านบาท