‘วีรันดา’ เปิดพิมพ์เขียว ลุยแหลกตลาด โรงแรม    

12 ธ.ค. 2563 | 09:56 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ธ.ค. 2563 | 17:07 น.

คอลัมน์ผ่ ามุมคิด ‘วีรันดา’ เปิดพิมพ์เขียว  ลุยแหลกตลาด โรงแรม    

 

 

 


    ท่ามกลางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผันผวนจากปัจจัยลบ ตลาดฟุบ เซ่นโควิด-19 นำมาซึ่งผู้ประกอบการประเมินพอร์ตลงทุน และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ เตรียมรับแผลกดทับทางเศรษฐกิจในช่วงปี 2564 ทั้งนี้ พบอสังหาฯ หลายรายเบี่ยงเข็ม กระโดดข้ามไปยังธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการแพทย์ เพื่อรับโอกาสหลังสถานการณ์คลี่คลาย ขณะบริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้เล่นตลาดฮอสพิทัลลิตี้ของไทย ยาวนาน 16 ปี ซึ่งพัฒนาทั้งโรงแรม และเรสซิเดนซ์ ในเมืองท่องเที่ยวสำคัญ

 

โดยนายวีรวัฒน์ องค์วาสิฏฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท กลับมองโอกาสในวิกฤติ รุกปรับตัวต่อยอดในธุรกิจเดิม ที่มีความชำนาญ อาศัยความแข็งแกร่งทางการเงิน ผุดโมเดลร่วมลงทุน-รับบริหาร จับจังหวะโรงแรมหลายแห่งไปต่อไม่ไหว ปรับโฉมรับคนไทย หวังขยายพอร์ต เปิดโลเคชั่นใหม่อย่างรวดเร็ว และสร้างการเติบโตทางรายได้ 2 หลักในช่วงปีหน้า หลังประเมินเทรนด์ท่องเที่ยวในประเทศยังอยู่อีกนาน หัวหิน พัทยา เชียงใหม่ รั้งเมืองยอดฮิต ลุยเปิดใหม่รับวอลลุ่มนโยบายกระตุ้นภาคท่องเที่ยวของรัฐบาล

ภาพรวมธุรกิจ 
    ปัจจุบันบริษัท เป็นผู้บริหารโรงแรมและรีสอร์ท รวม 5 แห่ง  เช่น โครงการวีรันดา รีสอร์ท แอนด์ วิลล่า หัวหิน-ชะอำ, วีรันดา ไฮ รีสอร์ท เชียงใหม่, โซ แบงคอก และอื่นๆ ในเครือ ซึ่งนับเป็นโรงแรมยอดฮิตในกลุ่มคนไทยและต่างชาติ จากดีไซน์โดดเด่น นอกจากนี้ยังมีโครงการคอนโดมิเนียมเพื่อขาย ซึ่งเป็นโมเดลคู่ขนานในโลเคชั่นที่มีศักยภาพ เช่น โครงการ วีรันดา เรสซิเดนซ์ หัวหิน ปัจจุบันมียอดขายแล้ว 90% รวมถึงกิจการร้านอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้แบรนด์ เช่น  KOF และ Gram Pancakes ซึ่งได้มาจากการเข้าซื้อเพิ่มเติม และอยู่ระหว่างขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้ ณ ไตรมาส 3 ส่วนใหญ่มาจากยอดการโอนกรรมสิทธิ์ ในโครงการคอนโดฯ ขณะสัดส่วนรายได้จากโรงแรม แม้อยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก แต่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นจากไตรมาสก่อน จากการทยอยกลับมาเปิดให้บริการครบในเดือนกันยายนที่ผ่านมา เฉลี่ยอัตราเข้าพักในทุกโลเคชั่นราว 80%

 

 

 

ท่องเที่ยวไทยรอเวลา
    อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมธุรกิจโรงแรมนั้น โดยเฉพาะโรงแรมขนาดใหญ่ มองคงอยู่ในภาวะ “เหนื่อย” อีกสักระยะ โดยเฉพาะโลเคชั่นที่เน้นนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น สมุย ขณะกทม. นั้น ผู้ประกอบการได้มองข้ามช็อตการวัดตัวเลขอัตราการเข้าพักไปแล้ว เพราะทำอย่างไรก็ไม่เหมือนเดิม ขอเพียงไม่ขาดทุนติดลบเป็นพอ ส่วนสถานการณ์ปีหน้า ขึ้นอยู่กับปัจจัยเกี่ยวเนื่องต่างๆ เช่น ระยะเวลาการกระจายวัคซีนโควิดไปยังทั่วโลก และผลสำเร็จ-ผิดพลาดอย่างไร จากการนำร่องเริ่มฉีดให้กับคนแรกของโลก โดยส่วนตัวมีความหวังในทิศทางบวก ว่าสถานการณ์ในแถบประเทศยุโรป จะเริ่มเป็นปกติได้ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 และ
จะมีส่วนช่วยฟื้นภาคท่องเที่ยวของไทย กลับมาได้อย่างเร็วสุดในช่วงปลายปี 2564 โดยเฉพาะตลาดที่ผูกพันธ์กับสุขภาพ คาดทำเลกรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต จะโดดเด่นจากดีมานด์ต่างชาติ ที่ต้องการเข้ามาอยู่อาศัยระยะยาว จากจุดแข็งเรื่องสาธารณสุข วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และค่าครองชีพ  

โควิดจุดเปลี่ยนลงทุน
    นายวีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า แม้ประเมินภาคการท่องเที่ยวไทยอาจฟื้นตัวได้เร็วสุดช่วงปลายปี 2564 แต่ตราบใดที่ต่างชาติยังเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไม่ได้ ภาคการท่องเที่ยว จึงจำเป็นต้องปรับตัว ซึ่งตลาดที่มีบทบาท และเป็นโอกาสของธุรกิจโรงแรมขณะนี้ คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทย โดยได้แรงเสริมจากนโนบายรัฐ “เราเที่ยวด้วยกัน” ทำให้ในบางโลเคชั่นคึกคัก อัตราการเข้าพักสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาด้วยซ้ำ แต่อีกด้าน พบมีโรงแรมหลายแห่งไม่สามารถปรับตัวไปต่อได้ ด้วยรูปแบบหรือ โลเคชั่นเดิม ที่ถูกพัฒนาเพื่อเจาะลูกค้าต่างชาติเป็นหลัก แม้แต่โรงแรมของบริษัทเอง “ร็อคกี้ รีสอร์ท” ซึ่งตั้งอยู่ที่สมุย ก็ได้รับผล
กระทบเช่นกัน จึงเข้าไปรีโนเวต ปรับปรุงรายละเอียดบางส่วน เพิ่มความบูทีค เพื่อให้ตอบรับกับความนิยมของคนไทยมากขึ้น 
    อย่างไรก็ตาม มองวิกฤติครั้งนี้ เป็นโอกาส ที่จะแทรกตัวเข้าไปในช่องว่างทางธุรกิจได้ หลังมีกรณีที่เจ้าของโรงแรมหลายแห่ง มีเงินทุนไม่เพียงพอ ถูกธนาคารปฎิเสธสินเชื่อ ในการขอรีโนเวตโรงแรม จึงมีแผนขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นในอนาคต ทั้งการลงทุนเอง ร่วมทุน เช่า หรือรับบริหารให้กับโรงแรม และรีสอร์ทนั้นๆ ผ่านโมเดลธุรกิจใหม่ การเป็นนายทุนให้เริ่มแรก งบลงทุนไม่เกิน 10-20 ล้านบาทต่อแห่ง พ่วงแบรนด์น้องใหม่ “a Veranda Collect” ต่อท้าย เพื่อเป็นการเพิ่มแวลู ความน่าสนใจให้กับโรงแรมนั้น ขณะเดียวกัน จะทำให้การขยายธุรกิจของบริษัทรวดเร็วมากขึ้นจากทำเลที่หลากหลาย 
    “หัวใจหลักของโมเดลนี้  เราจะขยายเองก็ได้ในทำเลเดียวกันโดยไม่มีชื่อซ้ำ หรือการเข้าไปร่วมลงทุน-ร่วมบริหาร ขยายพอร์ตโรงแรมให้ใหญ่ขึ้น กึ่งลักษณะเชนจ์โรงแรมของคนไทย เพราะเจ้าของย่อมอยากคงชื่อโรงแรมของตนเองไว้เป็นเทรนด์ที่จะได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะพบมีหลายโรงแรมเปิดมานาน แต่ด้วยโลเคชั่น ณ วันนี้ไปได้ไกลกว่านั้น เป็นจังหวะในการรีแบรนด์ เราจะเข้าไปแต่งหน้า ทาปาก ดีไซน์ ลงทุนต่อยอดให้ เพื่อเรียกแขกคนไทยพยุงวิกฤติ”

เน้นเมืองท่องเที่ยวฮิตตลอดกาล

 

 ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเจ้าของโรงแรมต่างๆ ติดต่อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทจะเน้นเรื่องคุณภาพ, การลงทุนที่ไม่เกินไป หรือ ชนกับโรงแรมที่มีอยู่ในคอลเลกชั่นเดิม ซึ่งปีหน้าเบื้องต้น วางแผนไว้ลงทุนอย่างต่ำ 2 โครงการ เซ็กเมนต์โรงแรม 3 ดาวขึ้นไป โลเคชั่นดี วิวสวย ทั้งโอกาสในจังหวัด กระบี่ พังงา ภูเก็ต เขาใหญ่ และเชียงใหม่ เป็นใช้แบรนด์ปักหมุดโลเคชั่นใหม่ และแสวงหารายได้-กำไรเพิ่มเติม ขณะทำเล “หัวหิน” ที่พักตากอากาศยอดนิยม ใกล้กรุงเทพฯ ที่อัตราการเข้าพักสวนวิกฤติ ทั้งได้แรงกระตุ้นจากนโยบาย “เที่ยวด้วยกัน” จึงมองเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการเปิดรีสอร์ทแบรนด์ใหม่ ที่บริษัทพัฒนาเอง 
    

 

 

สำหรับ “เวอโซ หัวหิน-วีรันดา คอลเล็กชัน” ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับคอนโดฯ หรู วีรันดา เรสซิเดนซ์ บริเวณหาดตะเกียบ คาดจะเป็นโลเคชั่น ที่คนไทยให้การตอบรับดีไปจนถึงปลายปีหน้า ส่วน “ร็อคกี้ รีสอร์ท-วีรันดา คอลเล็กชั่น” แหลมพันวา ภูเก็ต อยู่ระหว่างการออกแบบ ก็มองเป็นไทม์มิ่งที่ดีในการก่อสร้าง จากต้นทุนไม่สูงเหมือนอดีต เดิมตลาดนี้เป็นยุโรป แต่จีน เกาหลี และไทย กำลังโต น่าจะได้รับการตอบรับหลังเปิดประเทศเช่นกัน 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,635 วันที่ 13 - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2563