ปั้น ‘มีนบุรี’ เมืองใหม่  รับจุดตัดสายสีส้ม-ชมพู 

04 ธ.ค. 2563 | 13:24 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ธ.ค. 2563 | 18:46 น.
7.5 k

    ผังเมืองกทม.ใหม่ จุดพลุ มีนบุรี เมืองใหม่ย่านที่อยู่อาศัยอาศัยรวม-แหล่งงานชั้นสูง เทียบชั้นสีลม-สาทร ปรับสีผังเอื้อใช้ประโยชน์ที่ดิน พื้นที่สีแดง ย่านพาณิชยกรรม หลังรถไฟฟ้า 2 สาย พลิกทำเลทองกวาดคนเข้า-ออกเมืองโซนตะวันออก  

 

 

 

 
    มีนบุรีกลายเป็นย่านเศรษฐกิจใหม่ที่น่าจับตาสร้างความเจริญเติบโตในพื้นที่ ทันทีที่ รถไฟฟ้าสายใหม่ 2 เส้นทางสายสีส้มตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) มาบรรจบเปลี่ยนแปลงเป็นอินเตอร์เชนจ์ใหญ่จุดศูนย์กลางการรับส่งผู้โดยสารจากโซนตะวันออกของกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี เข้าสู่ใจกลางเมืองได้อย่างสะดวกรวดเร็ว 
    เมื่อสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร พลิกโฉมครั้งสำคัญ ปรับการใช้ระโยชน์ที่ดินตามผังเมืองรวมฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ให้ ย่านมีนบุรี กลายเป็นซับเซ็นเตอร์หรือศูนย์ชุมชนชานเมือง, เมืองใหม่รองรับที่อยู่อาศัยแนวสูงและแหล่งงานชั้นสูงแห่งใหม่ ในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ที่สำคัญ ยังมีแนวคิด พัฒนาพื้นที่รอบสถานี หรือ TOD โดยแหล่งข่าวจากกทม.ย้ำว่า มีความคาดหวังยกระดับย่าน มีนบุรี เทียบเท่าย่านธุรกิจสำคัญอย่าง สีลม-สาทร เนื่องจากมีความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดจากการเอื้อต่อการพัฒนาจากผังเมือง เปลี่ยนจากพื้นที่สีเหลือง ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยและพื้นที่สีส้ม ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง  เป็นพื้นที่สีแดง ย่านพาณิชยกรรม

ปั้น ‘มีนบุรี’ เมืองใหม่  รับจุดตัดสายสีส้ม-ชมพู 

 

เปิดให้เจ้าของที่ดิน นักลงทุนพัฒนาพื้นที่ได้มากขึ้น รูปแบบมิกซ์ยูสทั้งศูย์การค้าโรงแรม คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน ตึกสูงใหญ่ ซึ่งล่าสุดกลุ่มเดอะมอลล์ ได้หารือมายังกทม.ว่าได้ซื้อที่ดินแปลงใหญ่ เตรียมพัฒนาศูนย์การค้า ระดับพื้นที่มากกว่า 1 แสนตารางเมตร แม่เหล็กดึงการพัฒนาเข้าพื้นที่ โดยใช้รถไฟฟ้าสายสีส้มวิ่งขนคนทะลุทะลวงจากปลายเส้นทางฝั่งตะวันออกเข้าสู่ใจกลางเมืองอย่างพระราม 9-รัชดาภิเษกประตูน้ำข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังโซนตะวันตกฝั่งธนบุรีสามารถกวาดผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรางกระจายการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิ์ภาพ อีกทั้ง รถไฟฟ้าสายสีชมพูวิ่งไปตามถนนรามอินทราเชื่อมโยงไปยังโซนเหนือของกทม.ผ่านถนนนิมิตใหม่และด้านใต้ย่านลาดกระบัง ส่งผ่านไปยัง แครายจังหวัดนนทบุรี เชื่อมผ่านเส้นทางสายสีม่วง และรถไฟฟ้าสายอื่น 
    

 

ขณะเดียวกันเนื่องจากย่านมีนบุรีเป็นชุนชนชานเมืองขนาดใหญ่ที่เติบโตได้ด้วยตัวเองจากการมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่แฟชั่นไอแลนด์เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ ทำให้มีคนเข้าพื้นที่และเกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยรอบ โดยผังเมือง ได้แบ่งมีนบุรี ออกเป็น 2 โซน ประกอบด้วย โซนเมืองเก่า รัศมีตั้งแต่ แฟชั่นไอแลนด์ไปยัง รามอินทรากิโลเมตรที่ 8 (กม.8) ให้เป็นแหล่งอยู่อาศัย และการช็อปปิ้งโดยบริเวณนี้เปิดพื้นที่พัฒนาตึกสูง ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน อีกทั้งยังนำที่ดิน ซึ่งเป็นสวนสาธารณะ บริเวณสำนักงานเขตมีนุบุรี

 

พัฒนาเป็นสวนเฉลิม พระเกียรติและมีจุดจอดรถบริเวณใต้ดินเชื่อมต่อรถไฟฟ้า ขณะเดียวกันโซนเมืองใหม่ จะอยู่ย่านตลาดมีนบุรี ปลายทางจุดตัดรถไฟฟ้า 2 สาย (ส้ม-ชมพู) ตัดผ่านบริเวณนี้จะเป็นย่านทันสมัย การพัฒนาเชิงพาณิชย์ ตึกสูง สร้างแหล่งงานใหม่ในอนาคต ผสมผสานย่านที่อยู่อาศัยเพื่อสะกัดการเดินทางไม่ให้คนเข้าสู่ใจกลางเมืองลดความแออัด สำหรับจุดเด่นของมีนบุรียังมีที่ดินแปลงว่างรอพัฒนาอยู่มาก เมื่อมีรถไฟฟ้า ไปถึงราคาขยับสูง 2 แสนบาทต่อตารางวาและมีแนวโน้มปรับตัวสูงตามความ ต้องการของการใช้ประโยชน์ที่ดิน 

 

 

 

 

 “มีนบุรี เมืองเก่าแก่โบราณเติบโตคู่กับกทม .มาอย่างยาวนาน และสามารถเดินทางเข้าออกเมืองไปฉะเชิงเทรา ต่อไปยังภาคตะวันออกของประเทศ โดยอนาคตจะมีรถไฟฟ้า รองรับที่ปลายทาง ซึ่งต่างจากย่านบางกะปิ จุดตัดสายสีส้ม-สายสีเหลือง ซึ่งบริเวณนั้นเป็นจุดเปลี่ยนถ่าย การเดินทางต่อไปยังพื้นที่อื่น” 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,632 วันที่ 3 - 5 ธันวาคม พ.ศ. 2563