จากเหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ 7 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา เมื่อรักษาการเลขาธิการ กสทช. นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล มีคำสั่งสำนักงาน กสทช. ที่ 683/2566 สั่งให้นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา พ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช.ให้มีผลทันที โดยที่ผู้ถูกปลดไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
ซึ่งจากคำสั่งดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสต่อต้านคัดค้านออกมาจากไม่ขาดสายโดยเฉพาะจากองค์กรด้านคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจาก น.พ.ประวิทย์ เคยเป็นกรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและมีบทบาทสำคัญต่อการดูแลประโยชน์ของผู้ใช้บริการมาอย่างยาวนาน อีกทั้ง ยังมีการโยงใยไปว่าสาเหตุที่ต้องปลด เป็นเพราะ น.พ.ประวิทย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคระกรรมการสอบสวน รักษาการเลขาธิการ กสทช. กรณีปล่อยให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ละเมิดข้อตกลงการรับเงินสนับสนุนในการถ่ายทอดฟุตบอลโลกจาก กสทช. ไม่ทำตามกฎ Must Carry ทำให้เกิดจอดำกับผู้ให้บริการ IPTV ซึ่งก็มีข้อสงสัยในอำนาจหน้าที่ของเลขาธิการ กสทช. ว่าสามารถจะปลดที่ปรึกษาของประธานได้จริงหรือ
คำถามที่เกิดขึ้น มีคำตอบอยู่แล้วในระเบียบสมัย กทช. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ว่าด้วยการจ้างที่ปรึกษา ผู้ปฏิบัติงาน เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการประจำคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ที่ได้อ้างไว้ในคำสั่งปลด ซึ่งระเบียบนี้มีผลใช้บังคับอยู่ แม้ต่อมาตัวคณะกรรมการจะกลายมาเป็น กสทช. ตามบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.กสทช. ปี 2553
ขั้นตอนการแต่งตั้งที่ปรึกษามีกำหนดไว้ในข้อ 10 กล่าวคือ ประธานหรือกรรมการที่ต้องการจะแต่งตั้งบุคคลใดเป็นที่ปรึกษาของตน โดยประธานมีสิทธิตั้งได้ไม่เกิน 4 คน ส่วนกรรมการตั้งได้ไม่เกิน 3 คน ก็จะส่งรายชื่อบุคคลนั้นให้เลขาธิการ กสทช. ตรวจสอบว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ หากครบถ้วนก็ให้เลขาธิการ กสทช. เป็นผู้ลงนามแต่งตั้ง ซึ่งก็เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานธุรการ สนับสนุนการทำงานของ คณะกรรมการ กสทช.
และเมื่อแต่งตั้งที่ปรึกษาไปแล้ว ที่ปรึกษาจะพ้นจากตำแหน่งได้นั้น ก็มีระบุไว้ในข้อ 9 ฉะนั้น หากนอกเหนือเหตุจากการตาย ลาออก ติดคุก มีส่วนได้เสีย หรือขาดคุณสมบัติ ผู้ที่มีอำนาจเลิกจ้างหรือปลดที่ปรึกษาก็คือ ประธาน กสทช. หรือกรรมการ กสทช. คนที่เสนอแต่งตั้งที่ปรึกษาท่านนั้นเข้ามา
หากวิเคราะห์จากกรณีของ น.พ.ประวิทย์ฯ ที่ได้รับการเสนอแต่งตั้งโดยประธาน กสทช. (ศาสตราจารย์คลีนิค สรณฯ ) และสำนักงาน กสทช. ก็ได้มีคำสั่งแต่งตั้งไปตามนั้น โดยผู้ลงนามคือ รักษาการแทนรองเลขาธิการ กสทช. ตามคำสั่งที่ 494/2565
แต่เมื่อมีคำสั่งปลดออกหรือให้พ้นจากตำแหน่ง ที่ปรากฏว่าเป็นการลงชื่อในเอกสารปลดเป็นเลขาธิการ กสทช.หรือรักษาการนั้น แท้จริงเป็นเพียงผู้ทำหน้าที่ทางธุรการตามคำสั่งของประธานหรือกรรมการ กสทช.เท่านั้น ซึ่งเลขาธิการ กสทช. ไม่มีอำนาจหรือสิทธิใดๆ ที่จะสั่งให้ที่ปรึกษาของประธานหรือของกรรมการท่านใดพ้นจากตำแหน่งได้ หากไม่ได้รับคำสั่งจากประธานหรือกรรมการผู้เสนอชื่อแต่งตั้งในตอนแรก
ดังนั้น ประธาน กสทช. ผู้ที่เสนอแต่งตั้ง น.พ.ประวิทย์ให้มาเป็นที่ปรึกษา ก็ย่อมเป็นผู้ที่ใช้อำนาจออกคำสั่งปลด น.พ.ประวิทย์ หาใช่รักษาการเลขาธิการ ตามที่กระแสข่าวได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้