สภาผู้บริโภค เผย รักษาการเลขาธิการ กสทช. ใช้อำนาจโดยมิชอบปลด “หมอลี่”

09 ก.ค. 2566 | 15:00 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2566 | 09:28 น.
527

สภาองค์กรของผู้บริโภค เผย "ไตรรัตน์" รักษาการเลขาธิการ กสทช. ใช้อำนาจโดยมิชอบปลด นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ที่ปรึกษาประธาน กสทช. ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 7 กรกฏาคมนี้

ความคืบหน้าภายหลังจาก นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ และ รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ได้มีคำสั่งลงวันที่  7 กรกฏาคม 2566 ให้ "หมอลี่" หรือ นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ที่ปรึกษาประธาน กสทช. ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่โดยทันทีในวันที่ 7 กรกฏาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุด กลุ่มผู้บริโภคและภาคประชาสังคมร่วมกันประณามการกระทำของ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ และ รักษาการแทนเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ออกคำสั่งปลด “หมอลี่” หรือ นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ที่ปรึกษาประธาน กสทช. ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่โดยทันทีในวันที่ 7 กรกฏาคมนี้

 

 

การกระทำของนายไตรรัตน์ถือว่าเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ และผิดระเบียบ กสทช. ที่เลขาธิการมิได้มีอำนาจปลดที่ปรึกษาประธาน กสทช. อีกทั้งการกระทำครั้งนี้ส่อให้เห็นพฤติกรรมที่ต้องการรวบอำนาจการบริหาร กสทช. และกำจัดเสี้ยนหนามภายในใช่หรือไม่ เนื่องจากนายแพทย์ประวิทย์ มีความเชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและกฎระเบียบของ กสทช. มายาวนาน ซึ่งที่ผ่านมามีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ด้านการรักษาผลประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง

นอกจากนี้ เป็นที่ตั้งข้อสังเกตว่า การปลดฟ้าผ่าในครั้งนี้อาจเกี่ยวพันกับการรายงานผลของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก ซึ่งนายแพทย์ประวิทย์ เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการ และต่อมาผลของการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้นำไปสู่การพิจารณาของบอร์ด กสทช. ที่มีเสียงข้างมากให้ปลดนายไตรรัตน์เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ประธานบอร์ด กสทช. นายแพทย์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ กลับไม่ลงนามตามมติดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่การปลดนายไตรรัตน์มีผลแล้ว ตามมติเสียงข้างมาก ทำให้นายไตรรัตน์ใช้อำนาจโดยมิชอบออกคำสั่งปลดเจ้าหน้าที่บริหารภายใน กสทช. เป็นจำนวนมาก รวมทั้งการปลดนายแพทย์ประวิทย์ในฐานะที่ปรึกษาประธาน กสทช.

กว่า 25  ปีที่ผ่านมา นายแพทย์ประวิทย์ มีผลงานโดดเด่นด้านการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งในระหว่างช่วงดังกล่าวได้เข้ามาทำงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคม โดยเริ่มจากการเป็นผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการคมนาคม (สอบ.) ระหว่างปี 2550 - 2554 และต่อมาได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ระหว่าง ปี 2554 - 2565 จนปัจจุบันนี้ถือได้ว่านายแพทย์ประวิทย์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการโทรคมนาคมทั้งด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านกฎหมายและการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างหาคนเทียบได้ยาก

 

การทำงานในช่วง 1 ปี ของนายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา (ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา ประธาน กสทช. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565) นั้น นายแพทย์ประวิทย์ได้ดำรงตำแหน่งอื่น ๆ ไปพร้อม ๆ กัน ดังนี้

1. ประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม

2. ประธานคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจ ระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จากัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จากัด (มหาชน) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง

3. หัวหน้าคณะทำงานพหุภาคีเพื่อแก้ไขปัญหาแก๊งโทรศัพท์ (Call Center) และข้อความสั้น (SMS) หลอกลวง

4. ประธานคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม

5. คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณี การดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย

6. ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการด้านการแข่งขันและราคา

7. ประธานคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง

 การปลดนายแพทย์ประวิทย์จากตำแหน่งดังกล่าวจึงไม่อาจตีความอย่างอื่นไปได้นอกจากเป็นการขจัดเสี้ยนหนามของการรวมอำนาจเพื่อแสวงหาประโยชน์ใน กสทช.