ชป. ตั้งโต๊ะวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ เตรียมปรับแผนระบายน้ำสำรองไว้ใช้ฤดูฝนหน้า

12 ก.พ. 2567 | 16:27 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2567 | 16:30 น.

กรมชลประทาน ตั้งโต๊ะวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เตรียมปรับแผนระบายน้ำสำรองไว้ใช้ฤดูฝนหน้า

วันนี้ (12 ก.พ. 67) ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ธเนศร์  สมบูรณ์  ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา  เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป  

 

สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (12 ก.พ. 67) พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 53,435 ล้าน ลบ.ม. (70% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 15,039 ล้าน ลบ.ม. (60% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) 

กรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มี ด้วยการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก รักษาระบบนิเวศ  การเกษตร อุตสาหกรรม และสำรองไว้ใช้ในต้นฤดูฝนหน้าตามลำดับ จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งประเทศไปแล้วกว่า 12,771 ล้าน ลบ.ม. (52%) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 4,557 ล้าน ลบ.ม. (53%)  ปัจจุบันทั้งประเทศมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 8.38 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 145 ของแผนฯ  เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 5.63 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 186 ของแผนฯ  ด้านสถานการณ์ค่าความเค็มยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้ แต่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ขอความร่วมมือจากเกษตรกรโดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาที่เก็บเกี่ยวนาปรังรอบแรกแล้วเสร็จ ขอให้งดทำนาปรังรอบสองเพื่อลดความเสี่ยงที่ผลผลิตจะเสียหายจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ โดยจะมีการพิจารณาปรับลดการระบายน้ำลง เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ รวมทั้งสำรองไว้ใช้ช่วงต้นฤดูฝนหน้า พร้อมกำชับไปยังโครงการชลประเทศทั่วประเทศให้ติดตามสภาพอากาศและการคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำรายพื้นที่ได้อย่างสอดคล้องและเหมาะสม ตลอดจนประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง