"กรมชลฯ" ชู 3 โครงการเร่งด่วน หวังแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมลุ่มน้ำชี

09 ก.พ. 2567 | 17:19 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.พ. 2567 | 17:25 น.

กรมชลประทาน ชู 3 โครงการเร่งด่วน "ประตูระบายน้ำบ้านท่าสวรรค์ ประตูระบายน้ำบ้านโนนเขวา ประตูระบายน้ำบ้านท่าสองคอน" หวังแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมลุ่มน้ำชี

นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมคณะ นำสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดมหาสารคาม เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชี พร้อมเสนอแผนหลักการพัฒนาอาคารบังคับน้ำในลำน้ำชี ในเขตจังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชู 3 โครงการเร่งด่วน "ประตูระบายน้ำบ้านท่าสวรรค์ ประตูระบายน้ำบ้านโนนเขวา ประตูระบายน้ำบ้านท่าสองคอน" มุ่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค การเกษตรในช่วงฤดูแล้ง และรับมือน้ำท่วม ช่วยบรรเทาปัญหาในพื้นที่ 7 จังหวัดลุ่มน้ำชี ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างยั่งยืน

วันนี้ (9 ก.พ. 67) ที่ห้องประชุมลำน้ำชี สำนักงานชลประทานที่ 6 นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้นำคณะผู้บริหารและสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดมหาสารคาม เพื่อติดตามสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชี เนื่องจากลำน้ำชีเป็นลำน้ำที่ความยาว 830 กิโลเมตร ไหลผ่านหลายจังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดกาพสินธุ์ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร จนไหลไปบรรจบแม่น้ำมูลที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจังหวัดเหล่านี้ถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจของภาคอีสาน แต่หลายพื้นที่ถูกระบุว่าเป็นพื้นที่แล้งซ้ำซาก ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรต่ำกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของภาคอีสาน นอกจากภัยแล้งแล้ว พื้นที่ที่อยู่ติดลำน้ำชีซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำก็ยังประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำทุกปี 

ที่ผ่านมา กรมชลประทาน ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ลำน้ำชี โดยได้มีโครงการก่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำต่างๆ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำปะทาว เขื่อนลำคันฉู จังหวัดชัยภูมิ ตลอดจนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก แต่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้เพียง 5,900 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 52 ของปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปีเท่านั้น จึงเป็นที่มาของโครงการที่กรมชลประทานกำลังดำเนินการศึกษาแผนหลักรวมถึงความเหมาะสม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาคารบังคับน้ำในลำน้ำชี"


 

สำหรับการพัฒนาอาคารบังคับน้ำในลำน้ำชี และโครงการพัฒนาอื่นๆที่มีโครงข่ายเชื่อมโยงกัน ตั้งแต่อ่างเก็บน้ำลำน้ำชี จนถึงเขื่อนยโสธร-พนมไพร ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดยโสธร กรมชลประทาน ได้ทำการศึกษาจัดทำแผนหลักในการพัฒนาอาคารบังคับน้ำในลำน้ำชีเพิ่มเติม จำนวน 9 โครงการ โดยคัดเลือก 3 โครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ได้แก่

1. โครงการประตูระบายน้ำบ้านท่าสวรรค์ จังหวัดขอนแก่น
2. โครงการประตูระบายน้ำบ้านโนนเขวา จังหวัดขอนแก่น
3. โครงการประตูระบายน้ำบ้านท่าสองคอน  จังหวัดมหาสารคาม

ทั้งนี้ กรมชลประทานจะเร่งดำเนินการศึกษาจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ควบคู่กับการสำรวจและออกแบบเบื้องต้นเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยรวมทั้งความต้องการของประชาชนในพื้นที่ หากดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนจะทำให้ลำน้ำชีสามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นประมาณ 73.10 ล้าน ลบ.ม. สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ทำการเกษตรในฤดูแล้งได้ประมาณ 74,000 ไร่ เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับอุปโภคบริโภค ภาคการเกษตร การประมง และอื่นๆ ตลอดจนช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัย เพื่อให้ความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป

ต่อมาในช่วงบ่าย รองฯวิทยา พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่บริเวณเขื่อนมหาสารคาม ตำบลหนองบัว อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม เพื่อรับฟังปัญหาของประชาชนในพื้นที่ พร้อมติดตามสถานการณ์น้ำ และผลการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนมหาสารคาม