กรมชลประทาน สร้างความมั่นคงด้านน้ำ ยกระดับรายได้เกษตรกร

10 ก.พ. 2567 | 17:45 น.

กรมชลประทาน ขับเคลื่อนองค์กรอัจฉริยะ สร้างความมั่นคงด้านน้ำ ยกระดับรายได้เกษตรกร

“ประเทศไทย” ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ซึ่งสร้างความเสียหายในวงกว้างต่อภาคการผลิตต่างๆโดยเฉพาะภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากและมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นจากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มขึ้น ฤดูกาลมีความแปรปรวน และเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เป็นวัฏจักรและบ่อยครั้งขึ้น ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารและความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลก

นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน มีพันธกิจสำคัญในด้านพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน บริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ป้องกันและบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ โดยเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภายใต้วิสัยทัศน์ "องค์กรอัจฉริยะที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ(Water Security) เพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการภายในปี 2580"

สำหรับการดำเนินงานตามภารกิจของกรมชลประทานมุ่งมั่นพัฒนาสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ภายใต้ยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งประกอบด้วย 4 Phase ดังนี้ Phase ที่ 1 :เสริมสร้างพลังสู่การปรับเปลี่ยน Phase ที่ 2 : สร้างภาคีเครือข่าย และความร่วมมือPhase ที่ 3 : ปฏิรูปรูปแบบกระบวนงาน และ Phase ที่ 4 : มุ่งสู่องค์กรอัจฉริยะ

อย่างไรก็ดีปัจจุบันยุทธศาสตร์กรมชลประทานเริ่มก้าวสู่ Phase ที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) โดยมีเป้าหมาย "สร้างภาคีเครือข่ายและความร่วมมือ" มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการควบคุมและบริหารน้ำระบบอัจฉริยะ ก่อสร้างระบบชลประทานด้วยนวัตกรรมชั้นสูงสร้างระบบเครือข่ายที่เข้มแข็ง

นายชูชาติ กล่าวอีกว่า ในปี 2567 กรมชลประทานต้องขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์

กรมชลประทาน 20 ปี และนโยบายรัฐบาลด้านการเกษตรสู่ความสำเร็จ ภายใต้ "เกษตรนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" ให้ความสำคัญในการสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการพระราชดำริ รวมถึงมาตรการรองรับภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

เน้นการวิจัยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model)รวมทั้งการทำงานแบบครอบครัวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เข้มแข็ง

เพื่อให้การดำเนินภารกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลจึงได้กำหนดนโยบาย RID TEAM PLUS เพื่อใช้เป็นกรอบในการขับเคลื่อนองค์กรที่ครอบคลุมการปฏิบัติงานในทุกภารกิจประกอบด้วย 3 ประเด็น 5 กลยุทธ์ 35 แนวทาง เพื่อให้ทุกสำนัก/กอง นำไปปฏิบัติ อย่างเป็นรูปธรรม และบรรลุผลได้ตามเป้าหมาย

“สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณและเป็นกำลังใจในการทำงานให้คณะผู้บริหาร และบุคลากรของกรมชลประทานทุกท่านที่ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท มุ่งมั่น และสำเร็จลุล่วง ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีนโยบายเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรโต 3 เท่าใน 4 ปี กรมชลประทาน จะทุ่มเททำงานด้วยความรู้ความสามารถ เพื่อสืบสานพันธกิจด้วยความสุจริต โปร่งใส มุ่งสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำ เพื่อพี่น้องเกษตรกรและประชาชนชาวไทย ช่วยยกระดับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน” นายชูชาติ กล่าวย้ำในช่วงท้าย