6 พ.ย. 2566 จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ H.E. Mr. NASHIDA Kazuya เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย H.E. Mr.Pedro Zwahlen เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย Mr. David Thomas รองหัวหน้า คณะผู้แทนทางการทูต สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดและกล่าวต้อนรับ ผู้แทนจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้ง 10 ประเทศ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศที่เข้าร่วมประชุม กว่า 200 คน ระหว่างวันที่ 6-7 พ.ย. 2566 ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพมหานคร
จากการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) ครั้งที่ 22 ณ เมืองมาราเกซ ประเทศโมรอคโค ประกาศตัวโครงการ The Collaborative Instruments for Ambitious Climate Action (CiACA - ซิอาก้า) ให้ความช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในการพัฒนาเครื่องมือกำหนดราคาคาร์บอนสำหรับการดำเนินการตามการมีส่วนร่วมที่กำหนดในระดับประเทศ (NDC) ภายใต้ข้อตกลงปารีส และส่งเสริมการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ
โดยต่อยอดจากโครงการสนับสนุน NDC ที่มีอยู่ ส่งเสริมความตระหนักเรื่องราคาคาร์บอน และสำรวจความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมตลาดคาร์บอน โครงการ CiACA ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) และประเทศอื่นๆ ในปัจจุบันทางโครงการฯ ได้ให้การสนับสนุนประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน ประเทศกานา ประเทศจาไมก้า ประเทศปากีสถาน ประเทศปานามา ประเทศเซเนกัล และภูมิภาคตะวันออกของทวีปแอฟริกา โดยโครงการฯ นี้ได้ดำเนินงานผ่านทาง UNFCCC Regional Collaboration Centers ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก
การประชุม The ASEAN Carbon Pricing Conference ด้วยความร่วมมือของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ร่วมกับ UNFCCC Regional Collaboration Centre: UNFCCC-RCC) Global Green Growth Institute: GGGI Japan International Cooperation Agency: JICA สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย และกระทรวงการต่างประเทศ สมาพันธรัฐสวิส เพื่อเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ในการพัฒนาและปรับใช้กลไกราคาคาร์บอนในการขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเสริมสร้างพลังความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การออกแบบนโยบาย มาตรการ และกลไกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมิติต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพ มีความโปร่งใสและน่าเชื่อถือ
นอกจากนี้ ประเทศไทยได้นำเสนอการจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อเร่งดำเนินงานด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเสนอความก้าวหน้าการยกร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยกระดับศักยภาพของหน่วยงานภาครัฐในการดำเนินการด้านการลดก๊าซฯ และการปรับตัว รวมถึงการเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนร่วมกับเวทีโลก
อีกทั้ง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO โดย ผอ. อบก. คุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ยังได้นำเสนอระบบการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก และระบบการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ดูแลบริหารโดยสภาอุตสาหกรรม และกำกับโดยองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก และได้รับการสนับสนุนโดยธนาคารในประเทศไทย ทั้งนี้ ทางอบก. เชื่อว่าระบบนี้จะช่วยให้เกิดการสนับสนุนกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจก การลงทุนจากต่างประเทศ การถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูง การฝึกอบรม และการเพิ่มขีดความสามารถของภาคเอกชนในประเทศอีกด้วย