ผ่าแผน“กู้โลกเดือด” ปตท.สผ. ดัน “EP Net Zero 2050” รุก CCS จิ๊กซอว์สำคัญ

30 ต.ค. 2566 | 16:27 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ต.ค. 2566 | 16:54 น.

ผ่าแผน“กู้โลกเดือด” ปตท.สผ. ดันกลยุทธ์ “EP Net Zero 2050” รุกเทคโนโลยี CCS “ดักจับ-กักเก็บคาร์บอน” จิ๊กซอว์สำคัญสู่ Net Zero

ผลกระทบจาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เป็นสิ่งที่คนทั่วโลกรับรู้อย่างเห็นได้ชัด เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่าเดิมทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์เห็นพ้องว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์อย่างไม่ต้องสงสัย ขณะที่ผลกระทบไม่ได้มีแค่สภาพอากาศ ฤดูกาล และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลโดยตรงต่อสังคมทั้งในแง่ของการใช้ชีวิตเพื่อความอยู่รอด ความปลอดภัย เศรษฐกิจ  สิ่งเหล่านี้จะยิ่งรุนแรงขึ้น หากทุกประเทศทั่วโลกไม่ร่วมมือแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างสุดกำลังในทันที 

แม้ไทยไม่ได้เป็นประเทศหลักใน “การปล่อยก๊าซเรือนกระจก” แต่ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศมากที่สุดของโลก ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการดำเนินงานด้านความยั่งยืน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) จึงเป็นสิ่งจำเป็นและต้องเร่งดำเนินการเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่พยายามทุ่มเทสรรพกำลังในการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อมุ่งสู่การเป็น “องค์กรคาร์บอนต่ำ” หนึ่งในนั้นคือ “บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.”

“เป็นที่ทราบกันว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate Change มีแนวโน้มจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนควรตระหนัก ปตท.สผ. ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว โดยมีการเฝ้าระวังเชิงรุก มีการประเมินความเสี่ยงด้าน Climate Change อย่างต่อเนื่องในทุกปี เพื่อบริหารจัดการและปรับปรุงการดำเนินงานของบริษัทในเรื่องที่เกี่ยวข้องได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น” มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สํารวจและผลิตปิโตรเลียม จํากัด (มหาชน) กล่าว 

ภายใต้เทคโนโลยีปัจจุบัน โอกาสที่โลกจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นน่าจะมากกว่า 2 องศาเซลเซียส จากที่เคยคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 หรือ 2050 จะช่วยกันให้อุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เป็นเหตุผลที่ทำให้ธุรกิจปรับตัว ปรับเป้าหมายและหาวิธีการเข้าสู่ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions)

ดันกลยุทธ์ EP Net Zero 2050 สู้โลกร้อน

ปตท.สผ. มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างความสมดุลด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่ได้มีการดำเนินงานเพื่อหลีกเลี่ยงและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับโครงการต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้ในปี 2565 ปตท.สผ. สามารถลดความเข้มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าร้อยละ 25 ซึ่งบรรลุเป้าหมายเร็วกว่าที่ตั้งไว้ 8 ปี โดยมีปริมาณการหลีกเลี่ยงและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมตั้งแต่ปี 2556 ทั้งหมดประมาณ 8.9 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ต่อมาได้มีการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์  ภายในปี 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) ด้วยการดำเนินงานผ่านแนวคิด "EP Net Zero 2050" ซึ่งครอบคลุม Scope 1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง และ Scope 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน ในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ โดยมี 2 แนวทาง

Exploring for Lower Carbon E&P Portfolio ผ่านการบริหารจัดการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อมุ่งสู่องค์กรคาร์บอนต่ำ โดยเลือกลงทุนในโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero Greenhouse Gas Emissions และเน้นลงทุนในโครงการก๊าซธรรมชาติ โดยนำปัจจัยเกี่ยวกับความเข้มของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาพิจารณาประกอบการลงทุนในโครงการใหม่ ๆ 

Production and Planet in Balance เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต โดยเดินหน้าเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage) หรือ CCS ซึ่งสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในปริมาณมาก ศึกษาโอกาสและ เทคโนโลยีที่จะนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization) หรือ  CCU โดยเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าหรือวัสดุเพื่ออนาคต รวมถึงมุ่งสู่การปล่อยก๊าซส่วนเกินซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมเป็นศูนย์ (Zero Routine Flare) สำหรับโครงการใหม่ในอนาคต ด้วยการนำก๊าซที่เกิดขึ้นจากการเผาทิ้งในกระบวนการผลิตปิโตรเลียมกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยี CCS รวมทั้งเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อาทิ การใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ และพลังงานลม และหาโอกาสในการใช้พลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคต เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ปฏิบัติการของบริษัทฯ ให้มากขึ้น 

นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังร่วมสร้างสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อมด้วยการปลูกป่า ทั้งป่าบกและป่าชายเลน เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก (Carbon Removal Project) และมีเป้าหมายในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกสะสมกว่า 2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ในปี 2593 พร้อมดำเนิน โครงการเพื่อสังคมภายใต้กลยุทธ์ทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for Life) อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้กับระบบนิเวศใต้ทะเลและชายฝั่ง เพราะทะเลและระบบนิเวศชายฝั่งที่อุดมสมบูรณ์ จะเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีประสิทธิภาพ 

ปตท.สผ. ให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ จึงมุ่งมั่นในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง  โดยร่วมมือกันภายในกลุ่ม ปตท. เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCS โดยเริ่มจากการศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมในกลุ่ม ปตท. และอุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง

“โลกได้เข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาด (Energy Transition) แต่การเปลี่ยนผ่านนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในข้ามคืน ด้วยปัจจัยหลายประการ ดังนั้น โลกยังต้องพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ปตท.สผ. ในฐานะบริษัทที่มีภารกิจในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ จึงมุ่งมั่นที่จะค้นหาและผลิตพลังงานที่มีความสะอาดมากยิ่งขึ้น รวมถึงพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่เพื่อส่งเสริมการพัฒนาประเทศและส่งเสริมนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควบคู่กัน”

นอกจากนี้ บริษัท ฟิวเจอร์เทค เอนเนอร์ยี่ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ FTEV ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานสะอาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและการเติบโตอย่างยั่งยืน ได้ริเริ่มโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power Plant) "ลานแสงอรุณ" ขึ้นที่ อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร โดยพลังงานดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตปิโตรเลียมในโครงการเอส 1   โดยจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 13,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี 

นอกจากนั้น บริษัทยังได้ร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ ในประเทศโอมาน เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสะอาดสำหรับอนาคตอีกด้วย 

ปตท.สผ. รุกนวัตกรรมรักษ์โลก 

ในวิกฤตโลกร้อน ก็ยังเป็น “โอกาส” สำหรับการทลายกรอบคิดในการพัฒนา “นวัตกรรม” ที่ต้อง “รวดเร็วและทันเวลา” โดยเฉพาะนวัตกรรมที่ “แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม” สอดคล้องกับแนวคิดเชิงรุกของ ปตท.สผ. ที่มองว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม

ปตท.สผ. ยังได้ส่งเสริมการพัฒนา VARUNA Smart Forest Solution ภายใต้การดูแลของ ARV ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ให้บริการด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ โซลูชั่นดังกล่าวได้ผสานเทคโนโลยีดาวเทียมกับการใช้ภาพถ่ายจากโดรนมัลติสเปกตรัม และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อใช้บริหารจัดการพื้นที่สีเขียวและคำนวณคาร์บอนเครดิตรูปแบบใหม่บนพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อการดูแลและติดตามทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ ปตท.สผ. ได้พัฒนา PTTEP Ocean Data Platform ซึ่งรวบรวมข้อมูลการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ พิทักษ์ท้องทะเลของบริษัทฯ ผ่านกลยุทธ์ “Ocean for Life” รวมถึงผลการตรวจวัดข้อมูลต่าง ๆ จากแท่นผลิตนอกชายฝั่งของ ปตท.สผ. ได้แก่ ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา และข้อมูลสมุทรศาสตร์ รวมถึงอุณหภูมิน้ำทะเล ความขุ่น ค่าออกซิเจนละลายน้ำ และปริมาณความเข้มของคลอโรฟิลล์เอ ปริมาณไมโครพลาสติก และกระแสน้ำ 

แพลตฟอร์มนี้เชื่อมโยงโครงข่ายข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลของนักวิจัยที่สนใจในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ รวมถึงบุคคลทั่วไปที่ต้องการมีส่วนร่วมในการปกป้องและอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางทะเล อีกด้วย

พลังความร่วมมือเสริมแกร่ง “กู้โลกเดือด” เทคโนโลยี CCS จิ๊กซอว์สำคัญ 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการรวมตัวของภาคีเพื่อขับเคลื่อนการทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกัน ครั้งที่ 2  (Thailand Climate Action Conference: TCAC 2023) ภายใต้แนวคิด “สานพลัง เสริมภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน” มีคณะรัฐมนตรี เอกอัครราชทูต องค์กรระหว่างประเทศ ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ว่าราชการจังหวัด เข้าร่วมการประชุม ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 

ถือเป็นการแสดงพลังความร่วมมือสร้างความยั่งยืนเพื่อช่วยโลกให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น ซึ่ง ปตท.สผ. โดย มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. ได้แสดงวิสัยทัศน์การมุ่งสู่องค์กรสีเขียวบนเวทีการประชุม TCAC 2023  

โดยสะท้อนผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเทคโนโลยีที่เป็นไฮไลท์สำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็น กลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 ได้คือ เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage) หรือ CCS  โดยนำองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านธรณีวิทยาและวิศวกรรมศาสตร์ของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินโครงการ โดยริเริ่มศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2564 ที่แหล่งอาทิตย์ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย คาดว่าจะกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 1 ล้านตันต่อปี และสามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2570 อีกทั้ง ปตท.สผ. ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการ CCS ในพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทยควบคู่กันไปด้วย

ทั้งยังชี้ให้ภาคเครือข่ายเห็นว่า ปตท.สผ. ร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. ในโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Eastern Thailand CCS Hub ซึ่งจะเริ่มศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อสนับสนุนเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมในกลุ่ม ปตท. และอุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง 
“การดำเนินโครงการ CCS ให้ประสบความสำเร็จ ต้องได้รับการสนับสนุนในหลายด้าน ทั้งในด้านกฎหมาย ด้านเทคนิค รวมถึงต้นทุนการดำเนินงาน ซึ่งค่อนข้างสูง จึงจำเป็นต้องมีการสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันผลักดันให้โครงการ CCS ประสบความสำเร็จ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการมุ่งสู่การเป็น Carbon Neutrality และ Net Zero ในปี 2593 และ ในปี 2608 ตามลำดับ” 

จากการประชุมร่วมภาคีดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า การขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่สามารถทำได้โดยหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานเดียว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ใช้พื้นฐานจากองค์ความรู้ Lesson Learned และความถนัดของแต่ละฝ่ายที่มี เพื่อเป็นแรงกระตุ้น (Catalyst) ในการสร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ (Big Impact) เช่นเดียวกับวัตถุประสงค์ของงาน TCAC ที่จัดขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ เน้นการมีส่วนร่วมจากหลากหลายภาคส่วน เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักรู้ และเข้าใจ รวมถึงให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกัน

“การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้องเริ่มต้นจากตัวเรา และส่งผ่านความร่วมมือเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม  ดังนั้น หากเราไม่ปรับเปลี่ยนกันในวันนี้ ก็จะไม่มีโลกที่น่าอยู่ให้กับคนรุ่นต่อไปในวันหน้า”