“กทท.” ปลุกท่าเรืออัจฉริยะ ขึ้นแท่นท่าเรือมาตรฐานโลก

04 ก.ย. 2566 | 09:40 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ย. 2566 | 09:43 น.

“กทท.” เดินหน้าปั้นท่าเรืออัจฉริยะ ดึงเทคโนโลยี-นวัตกรรม แก้ปัญหาจราจรติดขัดภายในท่าเรือ ตั้งเป้ายกระดับสู่ท่าเรือกรีนพอร์ต เตรียมขึ้นแท่นสู่ท่าเรือมาตรฐานโลก

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันสถานการณ์การขนส่งสินค้าผ่านทางเรือเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการขนส่งด้านโลจิสติกส์และด้านอีคอมเมิร์ซค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการขนส่งรถยนต์ผ่านทางเรือ เช่น การนำเข้า-ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ พบว่า ปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือแหลมฉบังเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปี 2565 

“ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังถูกจัดอันดับอยู่ที่ 20 ของท่าเรือโลก หากจะยกระดับให้ไทยขึ้นเป็นท่าเรือชั้นนำของโลก คือ การวางโครงสร้างท่าเรือ โดยมุ่งเน้นการให้ความสำคัญของ Smart Port ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆเข้ามาใช้เพื่อปรับปรุงท่าเรือให้มีประสิทธิภาพและสามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง เพราะไทยไม่ได้ทำการค้าเพียงประเทศเดียว ซึ่งการมุ่งเน้นความสำคัญในการยกระดับท่าเรือไทยสู่ศูนย์กลางท่าเรือในภูมิภาค จะทำให้ผู้ประกอบการเห็นถึงความสำคัญของท่าเรือในไทยมากขึ้น”
 

เกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)


ทั้งนี้เป้าหมายสำคัญ ในการยกระดับของท่าเรือ คือ การให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมโดยการพัฒนาท่าเรือสู่ Green Port ผ่านการนำแบตเตอรี่ EV มาใช้เพื่อลดมลพิษทางอากาศและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะช่วยประหยัดเชื้อเพลิงได้อีกด้วย 

ถึงแม้ท่าเรือเป็นสถานที่ที่มีการนำเข้าและการส่งออกสินค้า แต่จะต้องพัฒนาควบคู่ร่วมกับพื้นที่โดยรอบชุมชนหรือการสร้าง Port City โดยกทท.เชื่อว่าการพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะจะส่งเสริมการพัฒนาเมืองและสร้างชุมชนเมืองให้เติบโตสู่เมืองอัจฉริยะได้ในอนาคต 

นายเกรียงไกร ให้สัมภาษณ์ต่อว่า ปัจจุบันภายในท่าเรือมีการขนส่งสินค้าเป็นจำนวนมาก ทำให้ระบบบริหารจัดการเกิดปัญหาจราจรติดขัด เบื้องต้น กทท.ได้นำระบบการจองคิวอิเล็กทรอนิกส์เพื่อช่วยบริหารเวลารถบรรทุกสินค้าเข้า-ออกภายในท่าเรือ หรือ Truck Queue System ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยพัฒนาให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการภายในท่าเรือ และการนำระบบซอฟต์แวร์ หรือ Port Community System เชื่อมโยงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดภายในท่าเรือได้ โดยจะเริ่มต้นที่การใช้ระบบนี้ที่ท่าเรือแหลมฉบังก่อน

ขณะเดียวกัน กทท. ได้นำระบบ AI เข้ามาใช้บริหารจัดการภายในท่าเรือเพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วควบคู่กับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจุบัน กทท. มีการลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 พบว่า การขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 1และระยะที่ 2 สามารถรองรับปริมาณตู้ขนส่งสินค้าอยู่ที่ 11 ล้านที.อี.ยู. ทั้งนี้ เมื่อโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการ คาดว่าสามารถรองรับปริมาณตู้ขนส่งสินค้าอยู่ที่ 7 ล้านที.อี.ยู. ส่งผลให้ท่าเรือแหลมฉบังสามารถรองรับปริมาณตู้ขนส่งสินค้ารวมเป็น 18 ล้าน ที.อี.ยู.

“การแข่งขันในอุตสาหกรรมท่าเรือมักจะแข่งขันในเรื่องเวลา ความรวดเร็ว และต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการส่งมอบสินค้าและการใช้ข้อมูลในการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญ”
 

สำหรับท่าเรือของ กทท. ในปัจจุบันมี 5 ท่าเรือ ประกอบด้วย 1.ท่าเรือแหลมฉบังปัจจุบัน มีขีดความสามารถในการรองรับปริมาณตู้สินค้าอยู่ที่ 11 ล้าน ที.อี.ยู. ซึ่งเป็นท่าเรือที่สามารถขนส่งสินค้าประเภทรถยนต์และเป็นท่าเรือท่องเที่ยว 

 2. ท่าเรือกรุงเทพ เป็นท่าเรือสำคัญที่สามารถเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบัง อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางในการขนส่งสินค้าในประเทศที่เชื่อมท่าเรือแม่น้ำ ทั้งนี้ กทท. มีแผนสำหรับโมเดลธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะการเป็นท่าเรือปลอดอากร (Bangkok Port Free Zone) ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการคาดว่าจะดำเนินการได้ภายใน 2-3 เดือน

ส่วนการยกระดับท่าเรือถ่ายลำ (Transshipment Port) ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการให้เป็นรูปธรรม โดยเป็นการถ่ายลำสินค้าผ่านท่าเรือแม่น้ำ ที่จะช่วยลดการจราจรติดขัดภายในกรุงเทพฯ ซึ่งจะเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและการขนส่งสินค้าสำเร็จรูปผ่านท่าเรืออื่นๆ 

3.ท่าเรือระนอง เป็นท่าเรือสำคัญในอนาคตที่เชื่อมโยงฝั่งทะเลอันดามัน 4.ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน และ  5.ท่าเรือเชียงของ ซึ่งเป็นท่าเรือที่เชื่อมต่อลุ่มแม่น้ำโขง