PEA มุ่งสู่ Smart Grid to Smart City จังหวัดแม่ฮ่องสอน

17 ส.ค. 2566 | 15:00 น.

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เล็งเห็นความสำคัญของเมืองแม่ฮ่องสอน มุ่งสู่ Smart Grid to Smart City จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

วันที่ 16 สิงหาคม 2566 นายภาณุมาศ ลิ้มสุวรรณ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ประธานพิธีเปิดการรับฟังความคิดเห็น และประชาสัมพันธ์แผนพัฒนาระบบไมโครกริด อำเภอเมือง แม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีนายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน คณะผู้บริหาร และ ประชาชนในพื้นที่ ร่วมพิธี ณ ห้องประชุมธาราทิพย์ โรงแรมอิมพีเรียล อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัด แม่ฮ่องสอน


  
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เล็งเห็นความสำคัญของเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นเมืองที่มีชื่อเสียง และถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจในด้านการท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของภาคเหนือ ทำให้มีความต้องการด้านพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปี PEA จึงได้นำเทคโนโลยี Smart Grid และระบบ Microgrid มาใช้งานร่วมกับการบริหารจัดการแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่มากในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมถึงบูรณาการระบบไมโครกริดที่อื่นๆ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความมั่นคงและระบบไฟฟ้ามีคุณภาพ รวมถึงลดหน่วยสูญเสียในระบบจำหน่าย สามารถพัฒนาต่อยอดเป็น PEA Distribution system operator หรือ PEA DSO ต้นแบบ เป็นการวางรากฐานในการพัฒนาระบบ Smart City ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศด้านพลังงานเพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน

PEA จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วงปี 2567 ใช้ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง และทดสอบระบบต่างๆ ประมาณ 3 ปี และจะแล้วเสร็จในปี 2569 ซึ่งจะดำเนินงานติดตั้งทั้งระบบไมโครกริดและระบบ DSO โดยมีส่วนงาน 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 PEA Distribution system operator หรือ PEA DSO ต้นแบบ ดําเนินการบูรณาการระหว่างระบบ Microgrid เมืองแม่ฮ่องสอน  Microgrid แม่สะเรียง  Mini Grid 5 หมู่บ้าน  รวมทั้งสถานีไฟฟ้า สายส่ง  ระบบจําหน่าย และระบบผลิตไฟฟ้าของหน่วยงานต่างๆ เพื่อบริหารจัดการการจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนให้มีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุนการจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่  รองรับการซื้อขายไฟฟ้า ผ่านระบบจําหน่ายของ PEA


และส่วนที่ 2 ติดตั้งชุดควบคุมไมโครกริด ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ ระบบป้องกันและสวิทช์ตัดตอนในระบบจำหน่าย ระบบสื่อสารและ Integration System และปรับปรุงระบบควบคุมสถานีไฟฟ้าแม่ฮ่องสอนให้เป็น Smart Substation ตามมาตรฐาน IEC61850 ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพเรื่องการสั่งการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว
 

นอกจากนี้ PEA อยู่ระหว่างการศึกษานำระบบไมโครกริดติดตั้งในพื้นที่รับผิดชอบอื่นๆ ของ PEA  เช่น อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรีและในพื้นที่อุตสาหกรรม รวมถึงโครงการและแผนงานพัฒนาระบบไมโครกริด ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 ช่วงปี 2571 - 2575 จำนวน 36 พื้นที่ทั่วประเทศไทย