วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 - มหาวิทยาลัยมหิดล และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ เรื่องความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา และความร่วมมือทางวิชาการ โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เป็นผู้ร่วมลงนามในครั้งนี้
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือทางด้านวิชาการ ด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม พร้อมร่วมกันส่งเสริมต่อยอดและผลักดันนวัตกรรม สร้างโอกาสพัฒนางานวิจัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น การพัฒนา Photopolymer Resin เพื่อใช้ในการพิมพ์ 3 มิติ สำหรับขึ้นรูปเป็นโมเดลทันตกรรม (Dental Model) และอื่นๆ นำไปสู่การใช้ประโยชน์ ทั้งในเชิงพาณิชย์และสังคม เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ณ ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคารบี
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมีแผนยุทธศาสตร์ ในการทำความร่วมมือทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมส่งเสริมสนับสนุนงานวิจัยและผลงานนวัตกรรมให้เป็นที่ประจักษ์ อีกทั้งยังผลักดันให้เกิดการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยี
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมีอาจารย์ นักวิจัย บุคลากรและนักศึกษา ที่มีองค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา เพื่อเป็นการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลให้เป็น World Class University และมหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ (Entrepreneurial University) มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางด้านวิจัย นวัตกรรม และการศึกษาในระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งการลงนาม MOU จะเป็นการสร้างสัมพันธ์อันดีและสร้างความร่วมมืออื่นๆ ร่วมกันต่อไปในอนาคตร่วมกัน
นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า IRPC ตระหนักถึงความสำคัญในการแสวงหาเทคโนโลยีและสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยการนำองค์ความรู้และแนวคิดต่อยอดจากทั้งภายในและภายนอกองค์กรมาบูรณาการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการและกระบวนการ สอดรับกับวิสัยทัศน์ของ IRPC ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงานเพื่อชีวิตที่ลงตัว
การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล พันธมิตรที่มีทั้งองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านการวิจัยและพัฒนาในหลากหลายสาขา จะร่วมผลักดันงานวิจัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น การพัฒนา Photopolymer Resin เพื่อใช้ ในการพิมพ์ 3 มิติ สำหรับขึ้นรูปเป็นโมเดลทันตกรรม (Dental Model) และอื่นๆ ที่เป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรม การพัฒนาและใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ การส่งเสริมความรู้ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และพัฒนาบุคลากร เพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข ส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
โมเดลฟันสำหรับงานทันตกรรมผลิตจาก Photopolymer resin ขึ้นรูปโดยใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เส้นใยสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printing)