“ไดกิ้น” ร่วมกับ ม.มหิดล ทดสอบประสิทธิภาพเทคโนโลยี “สตรีมเมอร์” ในเครื่องฟอกอากาศ และแอร์บางรุ่น

06 ส.ค. 2564 | 14:50 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ส.ค. 2564 | 22:04 น.

ยืนยันช่วยยับยั้งเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในไทย 99.9% ตอกย้ำความมั่นใจผู้บริโภค

มร.อาคิฮิสะ​ โยโกยามา​ ​ผู้จัดการใหญ่​ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด หนึ่งในบริษัทชั้นนำเครื่องปรับอากาศระดับโลก เปิดเผยว่า บริษัทได้ประกาศร่วมมือทางวิชาการอย่างเป็นทางการกับคณะ เทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของเทคโนโลยี "สตรีมเมอร์" ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเอกสิทธิ์เฉพาะของไดกิ้น ในการช่วยยับยั้งเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคชาวไทย และตอกย้ำความเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีปรับอากาศระดับโลกของไดกิ้น

“ไดกิ้น” ร่วมกับ ม.มหิดล ทดสอบประสิทธิภาพเทคโนโลยี “สตรีมเมอร์” ในเครื่องฟอกอากาศ และแอร์บางรุ่น

ทั้งนี้ เมื่อเดือน กรกฏาคม ปี 2020 บริษัท ไดกิ้น อินดัสทรีส์ จำกัด (ประเทศญี่ปุ่น) ได้ประกาศผลประสิทธิภาพจากการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ ที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโตเกียว (The University of Tokyo) และมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์โอคายาม่า (Okayama University of Science) ประเทศญี่ปุ่น ว่า สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ได้ถึง 99.9% ด้วยการปล่อยประจุ Streamer เป็นเวลา 3 ชั่วโมง และเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคชาวไทยขึ้นไปอีกขึ้น

ทางบริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด จึงร่วมมือกับคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทดสอบประสิทธิภาพประจุสตรีมเมอร์ (Streamer) กับเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ที่เก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยติดเชื้อจากการระบาดภายในประเทศไทย ซึ่งผลทดสอบยืนยันว่าเทคโนโลยีสตรีมเมอร์ สามารถช่วยยับยั้งเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ที่แพร่ระบาดในประเทศไทยได้ 99.9 % สอดคล้องกับผลการทดสอบจากประเทศญี่ปุ่น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. หทัยรัตน์ เลิศสำราญ และคณะทีมคณาจารย์จากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพของสตรีมเมอร์ที่อยู่ภายในเครื่องฟอกอากาศไดกิ้นรุ่น MCK55TVM6, MC55UVM6 และ MC40UVM6 และเครื่องปรับอากาศไดกิ้นรุ่นใหม่ล่าสุด เซ-ต้าส (ZETAS) เพื่อยืนยันว่าเทคโนโลยีสตรีมเมอร์สามารถช่วยยับยั้งเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ที่แพร่ระบาดอยู่ในประเทศไทย โดยทำการทดสอบกับเชื้อไวรัสที่เก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยติดเชื้อ ซึ่งได้นำตัวอย่างไปเพาะเลี้ยงเพื่อคัดแยกชนิด และเพิ่มกำลังของเชื้อเพื่อที่จะได้ทดสอบประสิทธิภาพของสตรีมเมอร์ที่อยู่ในเครื่องฟอกอากาศและเครื่องปรับอากาศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จากผลการทดสอบได้รับการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ว่าประสิทธิภาพเทคโนโลยีสตรีมเมอร์ที่ติดตั้งอยู่ในเครื่องฟอกอากาศไดกิ้นทั้ง 3 รุ่น ประกอบด้วย MCK55TVM6, MC55UVM6 และ MC40UVM6 รวมถึงเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่เซ-ต้าส (ZETAS) ด้วยการเปิดเครื่องสตรีมเมอร์ เป็นเวลา 6 ชั่วโมง สามารถช่วยยับยั้งเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ได้ 99.9 % ภายในระยะเวลา 4 ชั่วโมง (อ้างอิงจากผลทดสอบวันที่ 18 มิถุนายน 2564)

สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพเทคโนโลยีสตรีมเมอร์นั้น ได้ทำการทดสอบภายในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 สำหรับเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ภายในกล่องอะคริลิคขนาด 31 ลิตร 2 กล่อง ซึ่งถูกติดตั้งอุปกรณ์สตรีมเมอร์ที่ได้นำแกะออกจากเครื่องฟอกอากาศไดกิ้นรุ่น MC40UVM6 ไว้ภายในกล่องอะคริลิค 1 กล่อง และอีกกล่องไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์สตรีมเมอร์ โดยไวรัสที่ทำการทดสอบถูกบรรจุอยู่ในสารละลายไวรัส ซึ่งถูกนำมาใส่ในหลุมของจานทดลอง 6 หลุม (6-well plate) หลุมละ 0.5 มล. และวางบนเครื่องเขย่า ที่มีรอบเขย่า 12 ครั้ง/นาที ภายในกล่องอะคริลิค

อุปกรณ์สตรีมเมอร์ทำงานโดยการปล่อยพลาสม่าผ่านอากาศลงไปยังจานทดลอง 6 หลุมที่มีสารละลายไวรัสอยู่ซึ่งตั้งอยู่บนเครื่องเขย่าที่กำลังทำงาน จากนั้นทำการเก็บสารละลายไวรัสทุกๆ 1, 2 , 3, จนถึง 6 ชั่วโมง จากจานทดลอง และนำไปนับจำนวนไวรัสที่รอดชีวิตด้วยวิธีนับจำนวนพลัค (Plaque method) โดยใช้วิธี TCID50 ซึ่งใช้เซลล์ Vero E6 สำหรับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2)

มร.อาคิฮิสะ​ โยโกยามา​ กล่าวว่า ผลการทดสอบครั้งนี้ได้ตอกย้ำประสิทธิภาพของเทคโนโลยีสตรีมเมอร์ว่าสามารถช่วยยั้บยั้งเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ได้อย่างมีประสิทธิภาพในประเทศไทย เพราะการทดสอบดำเนินการด้วยเชื้อโคโรน่าไวรัสที่ระบาดในประเทศไทย ภายใต้สภาพแวดล้อมในประเทศไทยถือเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการเครื่องปรับอากาศและเครื่องฟอกอากาศ ทั้งยังตอกย้ำว่าไดกิ้นเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมอบอากาศที่ดีและสมบูรณ์แบบ (Perfecting the Air) ให้แก่ผู้ใช้งานในประเทศไทยทุกคน

ความร่วมมือระหว่างบริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด และมหาวิทยาลัยมหิดลในครั้งนี้ ยังถือเป็นการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศในประเทศไทย ในการพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพที่สามารถพิสูจน์ได้ เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ดี และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพให้แก่ผู้บริโภค  

เทคโนโลยีสตรีมเมอร์ เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยบริษัท ไดกิ้น อินดัสทรีส์ จำกัด (ประเทศญี่ปุ่น) จนในปี 2547 เทคโนโลยีสตรีมเมอร์ได้ถูกนำมาใช้งานจริง โดยใช้หลักการทำงานในการปล่อยประจุไฟฟ้าพลาสม่าสตรีมเมอร์ (Streamer discharge) ที่มีประสิทธิภาพในการสลายสสารอันตราย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีฟอกอากาศที่สร้างอิเล็คตรอนความเร็วสูงอย่างเสถียร และถือเป็นคุณสมบัติที่ทำได้ยากในเวลานั้น เพราะประสิทธิภาพในการสลายสสารด้วยวิธีออกซิเดชั่น (Oxidation) ของสตรีมเมอร์ นั้นมากกว่าการปลดปล่อยประจุพลาสม่าแบบทั่วไป (glow discharge) เพราะมีพลังงานสูงกว่า 2-3 เท่า

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อผสานกับโมเลกุลของอากาศทำให้อิเล็กตรอนความเร็วสูงเหล่านี้ มีคุณสมบัติในการสลายสสารด้วยกระบวนการออกซิเดชั่น ทำให้สตรีมเมอร์สามารถกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ แบคทีเรียและมลพิษทางอากาศภายในอาคาร เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ ได้อย่างต่อเนื่อง