ปตท. ยกระดับการค้าระหว่างประเทศ ด้วย Carbon Offset Bunker เที่ยวแรก ตอบรับแผนการเยียวยาสภาพภูมิอากาศโลก

07 ธ.ค. 2564 | 15:50 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ธ.ค. 2564 | 22:53 น.
717

ปตท. ยกระดับการค้าระหว่างประเทศ ด้วย Carbon Offset Bunker เที่ยวแรก ตอบรับแผนการเยียวยาสภาพภูมิอากาศโลก

 การประชุมด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ หรือ Conference of the Parties : COP 26 จัดขึ้นในวันที่ 31 ต.ค.-12 พ.ย. 64 ที่เมือง Glasgow ประเทศสกอตแลนด์  มีความสำคัญยิ่งในการกำหนดทิศทางพลังงานในอนาคต โดยประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างมากกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ ทุกภาคส่วน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญของโลกและเพื่ออนาคต   ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์ว่า ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)  ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Emission) ในปี ค.ศ. 2065

สำหรับประชาชนทั่วไป อาจสงสัยว่าความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emission) นั้น แตกต่างกันอย่างไร 

ปตท. ยกระดับการค้าระหว่างประเทศ ด้วย Carbon Offset Bunker เที่ยวแรก ตอบรับแผนการเยียวยาสภาพภูมิอากาศโลก

 Carbon Neutrality หมายถึง ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide, CO2) ที่ถูกปล่อยออกมา จากกิจกรรมของมนุษย์ เท่ากับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดูดซับ กักเก็บ ส่วน Net Zero Emission หมายถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมา เท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกขจัดออกไปจากชั้นบรรยากาศโลก 

หากบริษัทใดๆ ดำเนินการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว  แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนที่บริษัทนั้นได้กำหนด  ก็สามารถซื้อคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) จากบริษัทอื่นที่ดำเนินโครงการลดคาร์บอน  มาชดเชยคาร์บอนของตนได้ โดยการค้าผลิตภัณฑ์ที่เป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutral) ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่บริษัทชั้นนำในตลาดการค้าสากลเลือกใช้เพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์  

นายดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ภายใต้การทำงานโดยฝ่ายการค้าอนุพันธ์ ได้ศึกษาและแสวงหาโอกาสทางการค้าในตลาดต่างประเทศ พบว่าในธุรกิจน้ำมันเติมเรือมีการเสนอขายน้ำมันเติมเรือที่มีการชดเชยคาร์บอน (Green Bunker) จึงเล็งเห็นโอกาสที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับเรือเช่าเหมาลำแบบระยะยาว (Time Charter) ของ ปตท. เพื่อเป็นการเรียนรู้กระบวนการชดเชยคาร์บอนและวางรากฐานเพื่อพัฒนาไปสู่การค้าผลิตภัณฑ์ที่เป็นกลางทางคาร์บอนชนิดต่างๆ และการค้าคาร์บอนเครดิตต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ ปตท. เริ่มต้นธุรกรรมแรกด้วยการเติม Green Bunker ให้กับเรือ TMN Plenitude ซึ่งเป็นเรือเช่าเหมาลำแบบระยะยาว (Time Charter)  ธงไทย ขนาด Aframax 105,860 DWT (Deadweight Ton) ที่ใช้ทำการขนถ่ายผลิตภัณฑ์ น้ำมันดิบและคอนเดนเสท ในอ่าวไทยมายังโรงกลั่นภายในประเทศ  ตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป (European Union) ที่ได้รับการยอมรับจากองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization-IMO) น้ำมันเติมเรือ 1 เมตริกตัน เมื่อเผาไหม้แล้วจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 3.151 เมตริกตัน ทั้งนี้เรือ TMN Plenitude มีแผนการเติมน้ำมันครั้งละประมาณ 800 เมตริกตัน จึงต้องทำการชดเชยคาร์บอนประมาณ 2,520 เมตริกตันคาร์บอน โดยคาร์บอนเครดิตที่นำมาชดเชยสามารถหาซื้อได้โดยตรง (Over the Counter - OTC) กับคู่ค้าที่ ปตท. ทำการค้า โดยมีราคาแตกต่างไปตามประเภทของโครงการที่ผลิตคาร์บอนเครดิต ในเที่ยวแรก ปตท. เลือกซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการที่ได้รับใบรับรองคาร์บอนเครดิตโดยสถาบัน Verified Carbon Standard (Verra) ซึ่งเป็นสถาบันที่ใหญ่ที่สุดและได้รับการยอมรับมากที่สุดด้านคาร์บอนเครดิตสำหรับการซื้อขายในระดับสากล เมื่อทำการซื้อขายเสร็จสิ้น ผู้ขายจะทำการโอนคาร์บอนเครดิตมายังบัญชีของผู้ซื้อ  ซึ่ง ปตท. สามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดได้ทางบัญชี Verra ของ ปตท. ผ่านทางระบบออนไลน์ เมื่อถึงเวลาที่เรือจะเติมน้ำมัน ปตท. จะทำการชดเชยคาร์บอน ในระบบออนไลน์ของ Verra ซึ่ง ปตท. สามารถระบุ ปริมาณ และรายละเอียดกิจกรรมที่ทำการชดเชย เพื่อให้ระบบออกเอกสารยืนยันการชดเชยคาร์บอน เมื่อนำมาประกอบกับน้ำมันเติมเรือสามารถยืนยันได้ว่าเป็น Green Bunker
 
การเริ่มทำธุรกรรมคาร์บอนเครดิตของ ปตท. ช่วยสร้างการรับรู้ในตลาดค้าสากล เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ช่วยสร้างโอกาสในการพัฒนาการค้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี แบบปลอดคาร์บอน นอกจากนี้ ปตทยังเป็นตัวอย่างในการพยายามผลักดันให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ผ่านการซื้อขาย Carbon Credit รวมทั้งจะสนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้และจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมผ่านกิจกรรมและโครงการในรูปแบบต่างๆ โดยเปิดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนนโยบายรัฐบาล และตอบรับเจตนารมณ์ของประเทศไทยในด้านการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในระยะยาว

 

บรรณานุกรม

“นายกฯ ประกาศต่อ COP26 ไทยพร้อมยกระดับแก้วิกฤตภูมิอากาศ”.(ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก : https://news.thaipbs.or.th/content/309258, 2564.ฝ่ายการค้าอนุพันธ์ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน). “การทำธุรกรรม คาร์บอนเครดิตเพื่อใช้กับน้ำมันเติมเรือภายใต้สัญญาจ้างเรือของ ปตท.”  2564. “What’s the difference between carbon neutral and net zero?”. (Online). Available https://ecometrica.com/carbon-neutral-net-zero/, 2021.