EXIM BANK ส่งเสริมธุรกิจไทยสู่ตลาดใหม่และเทรนด์โลก

13 ก.ย. 2567 | 12:20 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2567 | 12:28 น.

EXIM BANK หนุนธุรกิจไทยปรับแผนธุรกิจสู่ตลาดใหม่ ควบคู่กับการพัฒนาสินค้าสอดรับเทรนด์โลก 

โลกยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเท่าทันและมีประสิทธิภาพเป็นกุญแจสำคัญในการอยู่รอดและและการเติบโตของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และมาตรการกีดกันการค้าด้านสิ่งแวดล้อม

 

EXIM BANK ส่งเสริมธุรกิจไทยสู่ตลาดใหม่และเทรนด์โลก

 

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า หากเปรียบการบริหารธุรกิจของผู้ส่งออกไทยเป็นการเดินทางด้วยเครื่องบินที่มีความเสี่ยงต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวน มีโอกาสตกหลุมอากาศตลอดเวลา 2 สิ่งที่ผู้ประกอบการสามารถทำได้เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างโอกาสเติบโตไปพร้อม ๆ กัน คือ การปรับแผนการเดินทางไปสู่ตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อขยายฐานลูกค้าและเพิ่มรายได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ และการอัพเกรดชั้นโดยสารด้วยการปรับปรุงและปรับเปลี่ยนสินค้าของตัวเองให้ก้าวทันเทรนด์โลก

ในส่วนการปรับแผนการเดินทางไปสู่ตลาดใหม่ ดร.รักษ์ มองว่า ปัจจุบันมี 2 เส้นทางสำคัญที่ผู้ส่งออกไทยควรให้ความสำคัญ เส้นทางแรก คือ ตลาดที่เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มเติบโตในเกณฑ์ดี ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มีแนวโน้มขยายตัวสูง เช่น อินเดีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา อุซเบกิสถาน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ขณะที่อีกหนึ่งเส้นทางที่ไม่ควรมองข้าม คือ ตลาดฮาลาล ที่มีความน่าสนใจในหลายมิติ เช่น การมี Market Size ใหญ่ จากจำนวนชาวมุสลิมทั่วโลกที่มีอยู่ราว 2,000 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรโลก โดย YCP Solidiance บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจระดับโลกประเมินมูลค่าเศรษฐกิจฮาลาลไว้ที่ราว 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ  ใหญ่กว่าเศรษฐกิจไทยเกือบ 4 เท่า ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคชาวมุสลิมในหลายประเทศมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีอยู่ในระดับสูง เช่น กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย

 

EXIM BANK ส่งเสริมธุรกิจไทยสู่ตลาดใหม่และเทรนด์โลก

 

สำหรับการอัพเกรดชั้นโดยสารหรือยกระดับธุรกิจเพื่อให้อยู่รอดได้ในโลกยุคปัจจุบัน ดร.รักษ์ ระบุว่า ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวให้ตามทันเทรนด์สินค้าโลกในปัจจุบันที่มุ่งเน้นไปที่สินค้าในกลุ่ม Green & Sustainability และ Health & Wellness ไปจนถึง สินค้านวัตกรรม และดิจิทัลต่าง ๆ ปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของไทยอยู่ที่ระดับราว 8% ของมูลค่าส่งออกรวม ขณะที่หลายประเทศมีสัดส่วนที่สูงกว่า เช่น ญี่ปุ่น 15% และจีน 10.4% ขณะที่การส่งออกสินค้า High-Tech ของไทยก็ยังมีสัดส่วนน้อยกว่า 25% ของการส่งออกรวม ต่ำกว่าจีนและเวียดนาม ซึ่งอยู่ที่ 35% และ 40% ตามลำดับ

โจทย์ข้างต้นทำให้ภาคธุรกิจไทยต้องเร่งปรับตัว ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ปรับเปลี่ยนเครื่องจักร หันมาใช้ Automation ร่วมกับแรงงานมากขึ้นเพื่อลดต้นทุน ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมการลดคาร์บอน เช่น การติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อช่วยลดค่าภาระค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนผันแปรสำคัญในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการใช้พลังงานอย่างประสิทธิภาพเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมและบรรเทาปัญหาโลกร้อนไปพร้อม ๆ กัน

 

EXIM BANK ส่งเสริมธุรกิจไทยสู่ตลาดใหม่และเทรนด์โลก

 

“ไทยต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตไปยังอุตสาหกรรมที่โลกต้องการให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะส่งผลต่อการส่งออกสินค้าในระยะยาวและมีโอกาสที่จะตกเครื่องเทรนด์การค้าโลกในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตอีกว่า หากพิจารณาในมุมของผู้เล่นไทยยังเผชิญความท้าทายจากการมีจำนวนผู้ส่งออกรายใหม่ที่มีค่อนข้างน้อย โดยจำนวนผู้ประกอบการส่งออกไทยในปัจจุบันมีเพียง 1% จาก SMEs ทั้งหมด 3.19 ล้านรายของประเทศ การส่งออกยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติ” ดร.รักษ์ กล่าว

 

EXIM BANK ส่งเสริมธุรกิจไทยสู่ตลาดใหม่และเทรนด์โลก

 

ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง ที่มุ่งสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก EXIM BANK พร้อมพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้แข็งแกร่งขึ้นในทุกมิติด้วยการเติม 3 ด้าน ได้แก่ “เติมความรู้” ในการทำธุรกิจและการส่งออก เพื่อให้ผู้ประกอบการรู้จักตัวเอง และเป็นการติดกระดุมเม็ดแรกให้ “เติมโอกาส” ด้วยการช่วยจับคู่ธุรกิจให้กับคู่ค้าทั้งใกล้และไกลทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการเสริมศักยภาพผู้ประกอบการสู่ Global Platform รวมถึงการทำ Business Matching กับผู้ซื้อในต่างประเทศ และ “เติมทุน” เพื่อเสริมสภาพคล่อง ใส่เกราะป้องกันความเสี่ยง ซึ่ง EXIM BANK มีบริการทางการเงินที่ครบวงจรทั้งสินเชื่อการค้าและการลงทุน ในรูปแบบ Working Capital และ Term Loan ในด้าน Risk Protection มีบริการประกันการส่งออก ถือเป็นการประกันความเสี่ยงกรณีที่ผู้ซื้อไม่ชำระค่าสินค้าส่งออก

EXIM BANK ภายใต้บทบาท Green Development Bank ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนของธนาคารให้เป็น 50% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดภายในปี 2570 เพื่อนำพาธุรกิจไทยไปสู่ความยั่งยืน สร้างการเติบโตขององค์กร ประเทศชาติ และโลกโดยรวม ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม