วิจัยกสิกรไทยคาดปี67ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนอาจขยับแตะ 16.8 ลล.บคิดเป็นสัดส่วน 90.7% ต่อจีดีพี

02 เม.ย. 2567 | 15:39 น.
อัปเดตล่าสุด :02 เม.ย. 2567 | 15:39 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปี67แม้หนี้ครัวเรือนชะลอลง แต่สัดส่วนต่อจีดีพียังยืนอยู่ในระดับสูงที่ 90.7% ส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้เพื่อการบริโภค ตอกย้ำปัญหาด้านรายได้ไม่พอใช้จ่ายในระดับครัวเรือน และปัญหาเชิงโครงสร้างในระดับภาพรวมของเศรษฐกิจไทย

หนี้ครัวเรือนไทยปี 2566 เติบโต 3.0% ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีชะลอลงมาที่ 91.3% จากที่ปรับตัวขึ้นสูงในช่วงวิกฤตโควิด-19

• อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 1/2567 อาจยังสูงกว่าระดับ 91.0% ต่อจีดีพีท่ามกลางการชำระคืนหนี้และการขยายตัวช้าของสินเชื่อปล่อยใหม่ 

• สำหรับแนวโน้มทั้งปี 2567 คาดว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนอาจขยับขึ้นแตะระดับ 16.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 90.7% ต่อจีดีพี หนี้สินส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้เพื่อการบริโภค ตอกย้ำปัญหาด้านรายได้ไม่พอใช้จ่ายในระดับครัวเรือน และปัญหาเชิงโครงสร้างในระดับภาพรวมของเศรษฐกิจไทย

หนี้ครัวเรือนไทยเติบโตในอัตราที่ชะลอลงเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน แต่ยอดคงค้างหนี้ยังคงสูงเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ (รูปที่ 1) จากสถิติข้อมูลหนี้ครัวเรือนของธนาคารแห่งประเทศไทยล่าสุด ยอดคงค้างเงินกู้ยืมของภาคครัวเรือนไทยปี 2566 เติบโต 3.0% (นับเป็นอัตราการเติบโตรายปีที่ต่ำที่สุดของข้อมูลหนี้ครัวเรือนที่ปรับปรุงนิยามใหม่ที่สามารถนับย้อนหลังได้ถึงปี 2555) มาอยู่ที่ 16.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 91.3% ต่อจีดีพี ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับ 91.4% ต่อจีดีพีในปี 2565

ครัวเรือนยังพึ่งพาเงินกู้มาบริหารจัดการสภาพคล่องประจำวัน ขณะที่การก่อหนี้เพื่อซื้อสินทรัพย์ (บ้าน และรถยนต์) ชะลอลงมากในปี 2566 ตามกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว ทั้งนี้ แม้ภาพรวมหนี้ครัวเรือนชะลอการเติบโตกลับมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเศรษฐกิจ แต่เมื่อดูในรายละเอียดของหนี้แล้ว

ยังคงพบสัญญาณว่า ครัวเรือนที่ก่อหนี้เพิ่มน่าจะเป็นครัวเรือนในกลุ่มที่มีรายได้ระดับกลาง-ล่าง และ/หรือ เป็นครัวเรือนที่ต้องกู้ยืมเงินมาเพื่อประคองสภาพคล่องและใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยพบข้อสังเกตว่า

•หนี้ในกลุ่มสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เติบโตสูงต่อเนื่อง (รูปที่ 2) โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นลูกหนี้ของผู้ประกอบการนอนแบงก์ โดยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของพอร์ตนอนแบงก์ขยายตัว 4.6% และ 17.9% ตามลำดับ เทียบกับพอร์ตของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัว 2.0% และ 3.3% ตามลำดับ

• หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคอื่นที่นอกเหนือจากหนี้ในกลุ่มบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ยังเร่งตัวขึ้นเร็ว (รูปที่ 2) สวนทางการก่อหนี้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น หนี้บ้านและหนี้เพื่อการประกอบอาชีพที่เติบโตในอัตราที่ชะลอลง และหนี้รถหดที่ตัวลง

• เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจและสหกรณ์ออมทรัพย์ยังเติบโตต่อเนื่อง (รูปที่ 2) และสูงกว่าเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินประเภทอื่น

วิจัยกสิกรไทยคาดปี67ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนอาจขยับแตะ 16.8 ลล.บคิดเป็นสัดส่วน 90.7% ต่อจีดีพี

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยในปัจจุบัน อยู่ต่ำกว่าระดับสูงสุดของสถิติหนี้ครัวเรือนไทยที่ 95.5% ที่เห็นในช่วงไตรมาส 1/2564 (จากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพีอาจมีแนวโน้มชะลอลงในระยะข้างหน้า หากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยเริ่มมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวและหนี้สินภาคครัวเรือนเริ่มโตช้าลง แต่ก็จะยังคงไม่สามารถกลับไปอยู่ในระดับต่ำกว่า 80% ต่อจีดีพีได้ภายใน 5 ปีนับจากนี้

สำหรับแนวโน้มทั้งปี 2567 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า หนี้ครัวเรือนอาจเติบโตต่ำกว่าระดับ 3.0% ในปี 2567 เทียบกับที่เติบโต 3.0% ในปี 2566 (รูปที่ 3) โดยมียอดคงค้างหนี้ครัวเรือนปี 2567 อยู่ที่ 16.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90.7% ต่อจีดีพี (ภายใต้สมมติฐาน Nominal GDP ปี 2567 เติบโตในอัตราประมาณ 3.6%) ชะลอลงระดับ 91.3% ต่อจีดีพีในปี 2566 (รูปที่ 1)

วิจัยกสิกรไทยคาดปี67ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนอาจขยับแตะ 16.8 ลล.บคิดเป็นสัดส่วน 90.7% ต่อจีดีพี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า หนี้ครัวเรือนในปี 2567 จะยังคงเติบโตต่ำกว่าภาพรวมเศรษฐกิจ (Nominal GDP) เพราะครัวเรือนส่วนใหญ่น่าจะชะลอการก่อหนี้ก้อนใหม่ท่ามกลางความกังวลต่อจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อที่มีวงเงินต่อสัญญาค่อนข้างสูง เช่น สินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งผู้กู้บางส่วนอาจเลื่อนการตัดสินใจเพื่อรอจังหวะการปรับทิศของอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ขณะที่สถาบันการเงินก็อาจประเมินความเสี่ยงด้านเครดิต ความสามารถในการชำระหนี้

และดูแลในเรื่องรายได้หลังชำระหนี้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ (ตามเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม) ซึ่งก็อาจเป็นข้อจำกัดในการก่อหนี้เพิ่มของผู้กู้ที่มีภาระหนี้เดิมอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันในกลุ่มลูกหนี้ที่มีรายได้และกำลังซื้อระดับกลาง-ล่าง 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการแก้หนี้ครัวเรือนที่ทางการเริ่มดำเนินการในหลายๆ ส่วน อาทิ การแก้หนี้นอกระบบและการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้กยศ. การปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้รายย่อย และการแก้หนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรังของลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทวงเงินหมุนเวียนที่เริ่มแล้วในวันที่ 1 เมษายน 2567

น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้เฉพาะกลุ่มเป้าหมาย แต่ก็จะไม่ได้ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องใช้เวลา และต้องมีการแก้ไขปัญหาด้านรายได้และพฤติกรรมของครัวเรือน ควบคู่ไปกับการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย