"แบงก์-นอนแบงก์"ขานรับธปท. เร่งแก้หนี้ครัวเรือนต่ำกว่า 80%ใน 5ปี

26 ก.ค. 2566 | 16:51 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ค. 2566 | 15:23 น.

สมาคมเจ้าหนี้ "แบงก์-นอนแบงก์" ขานรับธปท. ผลักดันมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนยั่งยืน หวังกดต่ำกว่า 80%ภายใน 5ปี “ธ.ก.ส.” เตรียมส่งสินเชื่อแทนคุณ วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ให้ทายาทกู้สางหนี้เกษตรกรผู้สูงอายุนำร่อง 4.2 หมื่นราย

ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน (เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566) เพื่อยกระดับมาตรฐานธุรกิจการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ตลอดวงจรหนี้ โดยมาตรการที่จะเร่งบังคับใช้ก่อน คือ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) ที่รวมถึงการดูแลหนี้เรื้อรัง (persistent debt)

แถลงข่าวความร่วมมือในการผลักดันมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการดูแลหนี้ครัวเรือนเพิ่มเติมควบคู่ไปด้วย ได้แก่ การทดสอบโครงการ Sandbox ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (risk-based pricing: RBP) และการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio: DSR) นั้น

 

 

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า ธปท. ในฐานะผู้กำกับดูแล ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนขึ้น จึงเหมาะสมที่จะมีมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างตรงจุดและยั่งยืน โดยดูแล 4 หลักคือ 

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.

  1. หนี้เสีย ให้สามารถแก้ไขได้
  2. หนี้เรื้อรัง ให้มีทางเลือกปิดจบหนี้ได้
  3. หนี้ใหม่ ให้มีคุณภาพ ไม่กลายเป็นปัญหาในอนาคต
  4. หนี้นอกระบบ ให้มีโอกาสมากขึ้นที่จะเข้ามากู้ในระบบได้

โดยเกณฑ์ responsible lending จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เว้นแต่ส่วนของการดูแลหนี้เรื้อรังที่จะเริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ในการจัดทำ “มาตรการแก้ไขหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน”ครั้งนี้ทางธปท.ได้มีการหารือใกล้ชิดกับภาคส่วนต่างๆไม่ว่าผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ สำคัญที่สุดหารอลูกหนี้กลุ่มเจ้าหนี้เพื่อออกแบบมาตรการให้เป็นไปตามแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพและถูกหลักการ ครบวงจร ซึ่งการแก้ไขปัญหาหนี้เรื้อรังสำเร็จและยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยความตั้งใจจริงของทุกหน่วยงาน ในการขับเคลื่อนให้เห็นผล รวมถึงการสร้างจุดเปลี่ยนในการปรับพฤติกรรมเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป 

  • สมาคมแบงก์ไทยชูแผน 3 ปีแก้หนี้ครัวเรือนยั่งยืน

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทยกล่าวว่า หนี้ครัวเรือนในระบบธนาคารพาณิชย์ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 36% ของจีดีพีจากหนี้ครัวเรือนทั้งหมด 90.6% ซึ่งยังไม่นับรวมหนี้ครัวเรือนที่อยู่นอกระบบ ซึ่งปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยูในในระดับสูงนั้นจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนและเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไปในระยะข้างหน้า

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย

สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกตระหนักถึงความสำคัญและได้กำหนดการจัดการกับปัญหาหนี้ครัวเรือนไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์3ปีของสมาคมฯ เรียกว่า “ด้านความยั่งยืน”โดยเชื่อว่าการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องยึดหลัก 5 ข้อ คือ

1. การมีความรู้ความเข้าใจในการกู้ยืม ให้ข้อมูลเพื่อกระตุ้นพฤติกรรมลูกหนี้ให้มีวินัยทางการเงิน และใช้สินเชื่อที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์

2. การแข่งขันแบบเสรีไม่ผูกขาด หรือopen competition ลูกหนี้ใช้บริการสินเชื่อและเปิดเผยข้อมูลโดยสมัครใจ 

3. ความโปร่งใสและเท่าเทียมระหว่างผู้ให้สินเชื่อ (level playing) ทุกกลุ่มเจ้าหนี้ทั้งธนาคาร Non-bank และสหกรณ์อยู่บนกฎกติกาที่เท่าเทียมกัน

4. ความยุติธรรม (fairness) อัตราดอกเบี้ยต้องสะท้อนความเสี่ยงที่เป็นจริง ลดภาระลูกหนี้ดีที่ต้องแบกภาระลูกหนี้ที่ไม่ดี

5. ต้องครอบคลุมและเข้าถึง (inclusion) สามารถนำข้อมูลทางเลือกมาส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ โดยทุกฝ่ายมองเห็นประโยชน์ร่วมกันทั้งลูกหนี้ เจ้าหนี้ ผู้กำกับและรัฐ ไม่ทำให้ใครต้องตกไปอยู่นอกระบบจากมาตรการที่นำมาใช้ และทุกภาคส่วนร่วมแชร์ความเสี่ยงอย่างเป็นธรรมในการแก้ปัญหาหนี้

ภายใต้หลักการทั้ง 5 สอดคล้องกับหลักการของธปท.และเห็นประเด็นสำคัญที่ควบคู่กันไป ทั้งการให้ความรู้ด้านการเงิน การให้ส่งเสริมให้มีวินัยทางการออม โดยเฉพาะการออมเพื่อการเกษียณและการให้ความรู้ในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สินเชื่ออย่างเหมาะสมและไม่ใช้ผิดประเภท ความสำคัญของการตรวจสุขภาพทางด้านเครดิต หวงแหนทางด้านเครดิตของตนเองเป็นต้น

นอกจากนี้การยกระดับการแก้ไขปัญหาหนี้เรื้อรัง และหนี้เสียไม่สามารถอาศัยทรัพยากรฝั่งเจ้าหนี้เท่านั้น ต้องอาศัยความร่วมมือและแชร์ความเสี่ยง และการจัดสรรทรัพยากรมาร่วมกันผลักดันมาตรการนี้ให้สัมฤทธิ์ผล ที่สำคัญที่สุดคือ  การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมีประสิทธิภาพ ผ่านการออกมาตรการที่สอดคล้องกับปัญหาของลูกหนี้ แต่ละกลุ่ม

การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบตามความจำเป็นและตามกำลังของลูกหนี้ที่จะสามารถแบกภาระหนี้นั้นได้อย่างโปร่งใส โดยลูกหนี้ต้องให้ความร่วมมือด้วยการรักษาวินัยทางการเงิน ก่อหนี้เฉพาะที่จำเป็นอย่างมีวัตถุประสงค์ มีการวางแผนที่เข้าใจผลที่ตามมาของการเป็นหนี้  และมีความตั้งใจที่จะจ่ายคืนหนี้ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น  หากทั้งสองฝ่ายร่วมกันและทุกภาคส่วนร่วมมือกันปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศก็จะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

"การร่วมมือในครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญจัดการปัญหาหนี้ที่เรื้อรังของเศรษฐกิจ  อย่างไรก็ดี หนี้ครัวเรือนในระดับสูงเป็นสัญญาณสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างได้แก่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าศักยภาพ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่ยังสูง ดังนั้นการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยั่งยืนให้สำเร็จจะต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างยกระดับเครื่องยนต์ของเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพเพื่อสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น อย่างครอบคลุมและทั่วถึงมากกว่าที่เป็นอยู่ ให้สามารถมีกลไกที่ผลักดันสร้างincentive/แบ่งปันผลประโยชน์ตลอดห่วงโซ่คุณค่าทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมมากขึ้น"

  • ออมสินพร้อมปล่อยสินเชื่อTerm Loan ให้ลูกค้าตัดเงินต้น

นายวิทัย รัตนากร ประธานสมาคมสถาบันการเงินของรัฐกล่าวว่า ในส่วนของธนาคารออมสิน จะพบว่า ธนาคารไม่มีลูกหนี้กลุ่มเรื้อรัง ตามนิยามธปท. ในส่วนของลูกหนี้ที่ชำระดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น 5 ปี แต่จะมีในกลุ่ม 3 ปี ที่เข้าข่ายเพียง 1 หมื่นราย โดยธนาคารจะปล่อยสินเชื่อเป็น Term loan และพยายามตัดเงินต้นให้ลูกค้า  ด้วยมาตรการต่างๆที่ออกมาให้ชัดเจนมากขึ้น เชื่อว่าจะเป็นการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ในระยะยาว

นายวิทัย รัตนากร ประธานสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ

ทั้งนี้ ด้วยมาตรการธปท.และสิ่งที่อาจจะออกมาเพิ่มเติมของแบงก์รัฐที่ตั้งใจเข้าร่วมมืออย่างจริงจัง จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่ธปท.วางไว้ให้ต่ำกว่า 80%ของจีดีพีในระยะ 5 ปี

ขณะเดียวกันธนาคารออมสินเดินตามแนวทางที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกหนี้เพื่อที่จะลดหนี้ลงได้เร็ว  กรณีดอกเบี้ยในตลาดสูงหรือสร้างกำไรเกินหรือคิดอัตราดอกเบี้ย 25%ต่อปีเป็นเวลา 5ปีซึ่งได้คืนเงินทุนมาหมดแล้ว

“ผลกระทบจากดอกเบี้ยนั้นรุนแรงมาก  และการลดดอกเบี้ยเหลือในอัตรา 15%ต่อปี จากกลุ่มที่ต้องช่วยเหลือจาก 25%ต่อปีช่วยชีวิตเขาได้จริงๆ ทำให้เขากลับมามีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรง และท้ายที่สุดจะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน”นายวิทัยกล่าว 

  • "ชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล"นำร่องแก้หนี้กลุ่มรายได้ต่ำกว่า 1หมื่นบาท 

นายอธิป ศิลป์พจีการ รองประธานชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ในส่วนของชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของธปท.จำนวนสมาชิกกว่า 34 สถาบัน ดำเนินการภายใต้สมาคมธนาคารไทย

นายอธิป ศิลป์พจีการ รองประธานชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล

ทั้งนี้ มาตรการที่จะออกมานี้ ลูกค้าของกลุ่มสินเชื่อบุคคลจะมีความหลากหลาย เพราะผู้ให้บริการส่วนใหญ่ 70%เป็นเป็นนันแบงก์ ทั้งกลุ่มลูกค้าพนักงานบริษัท  กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย พ่อค้าแม่ค้าหรือพนักงานที่อยู่ในสายการผลิต ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของผู้ให้บริการกลุ่มนอนแบงก์ โดยกลุ่มลูกค้าจะมีรายได้ต่ำแตกต่างจากกลุ่มลูกค้าธนาคารจะมีความสามารถชำระน้อยกว่า จึงเลือกผ่อนชำระขั้นต่ำ

"เบื้องต้นเมื่อธปท.มีเกณฑ์ชัดเจนออกมา ทางชมรมสินเชื่อส่วนบุคคลจะเริ่มดำเนินการกับกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000บาทต่อเดือน ทำให้ลูกค้าเทียบกับบริการในปัจจุบัน  และทางชมรมพร้อมจะผลักดันมาตรฐานของการให้บริการอย่างรับผิดชอบต่อไป เพื่อให้ลูกค้ามีความเข้าใจ ความรู้การใช้บริการสินเชื่อ และความเป็นธรรมต่อไป"

  • ธ.ก.ส.เตรียม 2 หมื่นล้าน ช่วยลูกหนี้ 4.2 หมื่นราย 

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.ดูแลลูกค้าอยู่ 4.3 ล้านรายประมาณ 10 ล้านสัญญา ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นลูกค้าเกษตรกรแยกเป็น  ผู้ประกอบการรายใหญ่ ,ส่วนตรงกลางที่เป็นพอร์ตใหญ่คือ กลุ่มลูกค้าบุคคล โดยเกษตรกรมีอยู่ 6 ล้านสัญญา  3 ล้านราย ซึ่งมีความเปราะบาง มีความพิเศษเป็นลูกหนี้เรื้อรังและยังมีปัญหาเรื่องเกษตรกรผู้สูงอายุหรือAging เช่น ลูกค้าเกษตรกรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวน 1.2 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ แยกตามลักษณะอาการ ทั้ง 3 มาตรการของธปท.ก็ได้ประสานกับธ.ก.ส.

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ล่าสุด คณะกรรมการธนาคารธ.ก.ส. (บอร์ด)ได้อนุมัติ “สินเชื่อแทนคุณ” ภายใต้วเงิน 20,000ล้านบาทสำหรับดูแลลูกค้าประมาณ   42,000รายหรือคิดเป็น 15%ของกลุ่มลูกหนี้เกษตรกรผุ้สูงอายุเพื่อให้ทายาทสามารถกู้เพื่อปิดหนี้ภายในภายในเดือนมี.ค.2567  

ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้าของธ.ก.ส.จะมีรายได้ตามครอบหรือCroppedไม่ใช่รายได้รายได้  ขณะเดียวกันอาจจะมีรายได้รายได้จากลูกหลานทำงานในเมือง ซึ่งธ.ก.ส.จะออกแบบผลิตภัณฑ์รองรับมิติทั้ง “ลูกหนี้เรื้อรัง”และแก้ปัญหา “ลูกค้าเกษตรกรผู้สูงอายุ”

ส่วนมิติสินเชื่อ Revolving นั้น ฝ่ายจัดการเตรียมจะมีมาตรการเป็น สินเชื่อ Term Loan  เพื่อลดภาระให้ลูกค้าตัวเบาขึ้น ทั้งระยะเวลาการชำระและให้สามารถปิดจบได้ใน 5ปี