ธปท.สุดทน ล้างหนี้เรื้อรัง กดหนี้ครัวเรือนต่ำกว่า80%ของจีดีพี

09 ก.ค. 2566 | 14:01 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2566 | 14:38 น.

ธปท.เรียกเจ้าหนี้ ถกแนวทางแก้หนี้ครัวเรือนยั่งยืน พุ่งเป้าลูกหนี้เรื้อรัง เหตุแม้ไม่เป็นหนี้เสีย แต่ปิดหนี้ไม่ลง หวังกดหนี้ครัวเรือนต่ำกว่า 80% ด้านเจ้าหนี้หวั่น ปิดวงเงินบัตรเดิม ลดต้นลดดอกเบี้ย ย้อนแย้งแนวทางให้คิดดอกเบี้ยบนความเสี่ยง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)อยู่ระหว่างสำรวจความเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน อย่างยั่งยืน โดยที่จะประกาศหลักเกณฑ์และแนวทางกำกับปลายเดือนกรกฎาคมนี้คือ เกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบกับการแก้ไขลูกหนี้เรื้อรัง

สำหรับลูกหนี้เรื้อรังคือ หนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย แต่ปิดจบไม่ได้ เช่น กู้หนี้ใหม่ไปจ่ายหนี้เก่า จ่ายขั้นตํ่าหนี้บัตรกดเงินสด กู้สหกรณ์เพิ่มตามเงินเดือนที่เพิ่มจนเกษียณ หนี้เกษตรกรที่ชำระดอกเบี้ยเป็นหลัก ดังนั้นธปท.จึงต้องการให้เจ้าหนี้มีมาตรการดูแลให้ให้ปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น และยังมีีเงินเหลือพอจะดำรงชีพได้ 

ธปท.สุดทน ล้างหนี้เรื้อรัง กดหนี้ครัวเรือนต่ำกว่า80%ของจีดีพี

แปลงหนี้ลดต้นลดดอก

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ธปท.ได้เชิญผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) และทีมงานของธนาคารพาณิชย์พร้อมแจ้งแนวทางที่จะออกเกณฑ์เกี่ยวกับแนวทางแก้ไขหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เพื่อดึงสัดส่วนหนี้ลงมาให้อยู่ตํ่ากว่า 80% ของจีดีพีโดยเฉพาะการแก้ไขลูกหนี้เรื้อรัง ซึ่งเป็นลูกหนี้รายย่อย เป็นหนี้บุคคลที่ผ่อนชำระขั้นตํ่า 3% หรือ 5% 

หนี้เรื้อรังส่วนใหญ่จะเป็นสินเชื่อหมุนเวียน อยู่กับนอนแบงก์และสินเชื่อส่วนบุคคล( P-Loan) ของธนาคาร ภายใต้กำกับของธปท. ซึ่งลูกหนี้เรื้อรังจะครอบคลุมสินเชื่อบัตรเงินสด สินเชื่อหมุนเวียน สินเชื่อส่วนบุคคล แต่ไม่รวมสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อรถ/เช่าซื้อ ซึ่งธปท.มองว่า ลูกหนี้เรื้อรังที่ผ่อนจ่ายขั้นตํ่า (Revolving) เป็นหนี้ที่มีปัญหา แม้ว่ายังจ่ายหนี้ได้ปกติ เป็นการจ่ายขั้นตํ่าที่กินดอกเบี้ยไม่สามารถตัดเงินต้น โดยใช้เวลาเกินกว่า 2-3ปี

สำหรับแนวทางที่หารือกันนั้น ธปท.ต้องการให้ปิดบัตรผ่อนชำระ Revolving P-Loan โดยแปลงเป็นเงินกู้ให้ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 8-12% จากเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคล/บัตรเงินสดที่คิดกันอยู่ที่อัตรา 23% ต่อปี

“ธปท.ยังไม่กำหนดอัตราดอกเบี้ยส่วนลด เพียงแต่มีตุ๊กตาดอกเบี้ย 8-12% มาให้ประเมิน ถ้าดอกเบี้ยตํ่ากว่า 10% หรือ 10% ต้นๆ สถาบันการเงินเจ้าหนี้จะไหวหรือไม่ หลักการคือ ปิดวงเงินบัตรเดิมหรือปิดบัตรเดิม โดยแปลงเป็นเงินกู้ผ่อนชำระและให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ลดดอกเบี้ยลงเหลือ 8-12% จากดอกเบี้ยหน้าบัตร 23% ต่อปี เพื่อให้ลูกหนี้ผ่อนจ่ายให้จบภายใน 4-5 ปี โดยที่ค่างวดผ่อนจ่ายชำระต้องไม่เกินกว่าที่ลูกหนี้เคยจ่ายอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจากการคำนวณ ถ้าลูกหนี้ผ่อนจ่ายเม็ดเงินเท่าเดิม สมมติ 1,000 บาท ก็สามารถปิดหนี้ได้จบภายใน  4 ปีจากการปรับลดดอกเบี้ย” แหล่งข่าวกล่าว

ขัดหลัก“คิดดอกบนความเสี่ยง”

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตุว่า ลูกหนี้ Revolving P-Loan ซึ่งยังจ่ายหนี้ได้ตามปกติ วงเงินสินเชื่อขั้นตํ่าหลักพันบาทถึงหลักล้านบาท ขึ้นกับโปรไฟล์ของลูกหนี้ ผ่อนจ่ายชำระขั้นตํ่า โดยไม่ได้ผิดนัดชำระ เป็นการผ่อนจ่ายตามที่สถาบันการเงินเจ้าหนี้กำหนด แต่แนวทางแก้หนี้เรื้อรัง หลักการคือ ไม่ให้ลูกหนี้ใช้บัตรคือ ปิดวงเงินบัตรดิม โดยแปลงเป็นเงินกู้ผ่อนชำระลดดอกเบี้ยและลดเงินต้น (ลดต้นลดดอก)

ต่อข้อถามสาเหตุที่ธปท.เน้นไปที่ลูกหนี้เรื้อรังนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า เป็นการพ่วงมากับการจัดการลูกหนี้รายย่อย ซึ่งเป็นตัวเลขไส้ในของหนี้ครัวเรือน พอจ่ายแต่ดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ เงินต้นไม่ลด ทำให้หนี้ครัวเรือนของประเทศก็ไม่ลดธปท.จึงมุ่งจะลดปริมาณหนี้ครัวเรือนของทั้งประเทศให้อยู่ในระดับตํ่ากว่า 80%ของจีดีพี

รายได้ดอกเบี้ยวูบ 50%

สำหรับผลกระทบต่อลูกหนี้ หลังจากธปท.รับฟังความคิดเห็นกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ จะมีติดธงให้ลูกหนี้กลุ่มนี้เป็นลูกหนี้เรื้อรังบนฐานข้อมูลของเครดิตบูโร ซึ่งเป็นการทำให้ลูกหนี้ปกติ มีตำหนิ ในเมื่อลูกหนี้ยังผ่อนจ่ายได้ตามเงื่อนไข หรือกรณีกำหนดให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ทำหนังสือแจ้งลูกหนี้ว่า เป็นลูกหนี้เรื้อรัง ซึ่งก็ต้องห่วงความรู้สึกลูกหนี้ด้วย เพราะเป็นการตราหน้าลูกหนี้

ส่วนผลกระทบสถาบันการเงินเจ้าหนี้ รายได้ดอกเบี้ยหายไปราว 50% และต้นทุนการจัดการหลังบ้านที่เกิดขึ้นมหาศาล เพราะแต่ละสถาบันมีลูกหนี้นับหมื่นราย การแก้หนี้ต้องลงนามในสัญญา อย่างกรณีส่ง SMS แจ้งลูกหนี้ ก็สุ่มเสี่ยงต่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นต้นทุนมากเกินพอดี และเป็นการแก้ไม่ถูกจุด ซึ่งในทางปฎิบัติสามารถแก้นิยามไส้ในของหนี้ครัวเรือนน่าจะเหมาะกว่า

อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้รับฟังความเห็นไปแล้ว โดยเป็นการแจ้งไอเดียว่าเป็นแนวนี้ และให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ไปประเมินผลกระทบ แต่ในทางปฏิบัติ จะจัดการความรู้สึกของลูกค้าอย่างไร หากธปท.สั่งการสถาบันการเงินก็ต้องปฎิบัติ แต่เป็นการบิดเบือนกลไกความเสี่ยง หนี้ที่มีความเสี่ยงสูง ก็ต้องผลตอบแทนสูง และย้อนแย้งกับเกณฑ์ให้ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยตามความเสี่ยง (Risk-based pricing (RBP)

“ถ้าคำตอบจากการสำรวจของแบงก์และเจ้าหนี้แล้ว ธปท.จะคุยกับผู้บริหารระดับสูงและคุยในกรอบสมาคมธนาคารไทย ที่ผ่านมาได้คุยซีอีโอนอนแบงก์แล้ว โดยจะออกประกาศและมีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพราะมีโจทย์ที่ต้องจัดการหนี้ครัวเรือน”แหล่งข่าวระบุ

ธปท.เร่งแก้4กลุ่ม

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.จะเร่งออกแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ซึ่งหนี้ที่ต้องเร่งแก้ไขทั้ง 4 กลุ่มคือ หนี้เสียเก่า ที่มีกว่า 3 แสนล้านบาท 4.4 ล้านบัญชี ลูกหนี้เรื้อรัง หนี้เกิดใหม่และหนี้นอกระบบ โดยยํ้าว่า มาตรการดังกล่าวจะเป็นมาตรการเชิงระยะยาว ดูแลเสถียรภาพในอนาคต ซึ่งต้องทำอย่างครบวงจร ถูกหลักการโดยต้องร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆด้วย

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำหรับลูกหนี้เรื้อรัง ธปท.มีความเป็นห่วง เพราะยอดหนี้ยังคงไม่ถูกหักเงินต้น ทำให้ลูกหนี้อาจกู้หนี้ใหม่ไปจ่ายหนี้เก่าไปเรื่อยๆ ซึ่งต้องใช้เวลานานไม่สามารถปิดจบ หลังจากนี้จะมีเกณฑ์บางอย่างที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งพบว่า ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งอังกฤษ ออสเตรเลีย จะมีหลักเกณฑ์ในกลุ่มเหล่านี้

“ธปท.ได้คุยกับเจ้าหนี้และกลุ่มผู้แทนลูกหนี้ แยกลูกหนี้เป็น 2 ก้อน แรกๆเป็นหนี้ที่ยังไม่รุนแรง เรียกว่า General PD และก้อนที่เริ่มรุนแรงหรือ Severe PD โดยไส้ในกำลังดูข้อมูล และผลกระทบอยู่ ซึ่งหากเจ้าหนี้ให้ข้อมูลกระตุกพฤติกรรมให้ลูกหนี้ General PD มีวินัยหรือส่งเสริมให้จ่ายตรงเวลา ด้วยการส่ง SMS เตือนก่อนถึงวันครบกำหนดหรือให้ข้อมูลภายหลังการรูดซื้อสินค้าพร้อมบอกรายละเอียดในการผ่อนชำระ ถ้าลูกหนี้ปรับพฤติกรรมได้ก็จะไม่กลายเป็นลูกหนี้ Severe PD ”นางสาวสุวรรณีกล่าว

สำหรับความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ  ธปท.พร้อมจะยื่นมือเข้าไปให้ความร่วมมือ ทั้งก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ หรือเมื่อหนี้มีปัญหา เพราะลูกหนี้ทั้งหมดไม่ได้เป็นหนี้เฉพาะหนี้ในระบบ หรือไม่ใช่แค่เป็นหนี้กับสินเชื่อภายใต้กำกับของธปท. แต่รวมถึงหนี้หน่วยงานอื่นๆและหนี้นอกระบบด้วย

นางสาวสุวรรณีกล่าวยอมรับว่า หนี้ครัวเรือนไทยเมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ถือว่าสูง แต่มีบางประเทศสูงกว่าไทย เช่น แคนาดาประมาณ 103% ของจีดีพี เกาหลีใต้ประมาณ 105% ของจีดีพี ที่สำคัญหนี้ครัวเรือนไทยจะรวมหนี้ส่วนบุคคลที่กู้ไปใช้ในการประกอบธุรกิจด้วย ซึ่งสัดส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่  27% และหลายประเทศมีสัดส่วนใกล้เคียงหรือสูงกว่าไทย อาทิ ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง มาเลเซีย และแคนาดา

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,903 วันที่ 9 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2566