ธปท.ห่วงสินเชื่อหมุนเวียนกู้หนี้ใหม่จ่ายขั้นต่ำหนี้เก่าไม่จบ

04 ก.ค. 2566 | 04:54 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2566 | 22:45 น.

ธปท.เร่งสรุป 2 เกณฑ์เดือนก.ค.นี้ “ ปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ-ลูกหนี้เรื้อรัง” ห่วงสินเชื่อหมุนเวียนหรือ Revolving อาจกู้หนี้ใหม่ผ่อนจ่ายขั้นต่ำหนี้เก่าไม่สามารถปิดจบ

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยระบุว่า ธปท.จะเร่งออกแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน  ประกอบด้วย  3หลักเกณฑ์ ได้แก่

1.การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบหรือ Responsible Lending (RL) เพื่อดูแลการให้สินเชื่อทั้งระบบอย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมตลอดช่วงวงจรหนี้ คือ (ก่อน,ระหว่างเป็นหนี้,เป็นหนี้มีปัญหาและขายหนี้)

2.การคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงหรือ Risk-based pricing (RBP) โดยเป็นการเพิ่มช่องทางสำหรับเจ้าหนี้ที่มีโมเดลในการคำนวณอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยง คือ ลูกหนี้ที่มีประวัติทางการเงินดีควรจะได้รับประโยชน์ทางการเงินที่ดี โดยปรับลดดอกเบี้ยจากความเสี่ยงที่ลดลง หรือถ้าลูกหนี้มีความเสี่ยงสูงก็สามารถเข้ามากู้ในระดับดีกว่ากู้นอกระบบ แต่ย้ำว่าเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยยังคงอยู่เช่นเดิมไม่ได้มีการยกเลิกแต่อย่างใด

 พร้อมยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกามีการใช้กลไกRisk Base Pricing อย่างแพร่หลาย โดยมีกฎหมายรองรับในการใช้เครดิตสกอริ่งหรือข้อมูลจากเครดิตบูโรเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมเครดิตที่ดี คือ ถ้าต้องการดอกเบี้ยถูกสิ่งที่ลูกหนี้ต้องทำเพิ่มเช่น ประวัติการชำระดี อาจได้รับดอกเบี้ยลดได้  แต่กรณีมีหนี้มากหรือมีหนี้หลายประเภทอาจจะได้รับดอกเบี้ยในสินเชื่อประเภทใหม่ที่สูงขึ้น

และในอินเดียเปิดให้เจ้าหนี้สามารถเข้าสู่กลไก Risk Base Pricing เมื่อเดือนต.ค.ปี2565 พบว่า หลังใช้กลไกดังหล่าวดอกเบี้ยในระบบไม่ได้ปรับขึ้นสูงขึ้น แต่เป็นการปรับตามดอกเบี้ยนโยบาย 2%

3.มาตรการ Macroprudential policy (MAPP)  หรือสัดส่วนหนี้ต่อรายได้หรือDSR ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญเพื่อดูแลการก่อหนี้ใหม่ที่ไม่พึงไม่ประสงค์ และดูแลให้การปล่อยสินเชื่อสอดคล้องกับศักยภาพในการชำระหนี้  คือ เจ้าหนี้จะต้องพิจารณารายได้คงเหลือของลูกหนี้ เพียงพอที่จะใช้ในการดำรงชีวิตแต่ละเดือน(DSR)  แต่แนวทางการบังคับใช้จะต้องดูจังหวะเวลาให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ยกตัวอย่างในต่างประเทศ  เรื่องMaPP หรือ DSR  พบว่าหลายประเทศมีการกำหนดDSRที่หลากหลาย  เช่น เกาหลีใต้  มาเลเซีย  ไต้หวัน  สิงคโปร์   ส่วนแนวทางการบังคับใช้ก็จะมีทุกประเภทของสินเชื่อส่วนบุคคล หรือบางประเทศจะกำหนดเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ส่วนระดับDSRแยกตามระดับรายได้หรือกำหนดเป็นระดับเดียวทุกกลุ่ม  หรือยืดหยุ่นบางกลุ่มให้มีDSRเกินกว่าเกณฑ์ก็ได้

“ ทั้ง 3หลักเกณฑ์ดังกล่าวคาดว่าเกณฑ์Responsible Lending (RL) และลูกหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt  หนี้สองส่วนนี้จะออกก่อนโดยคาดว่าจะสรุปปลายเดือนก.ค.นี้ และมีผลบังคับใช้เร็วที่สุด  ส่วนหลักเกณฑ์Mapp/DSR ต้องพร้อมใช้จริงๆ ซึ่งเราพบว่า ในนิวซีแลนด์มีการกำหนดล่วงหน้า 2ปีก่อนบังคับใช้ โดยธปท.จะพยายามดูผลกระทบอย่างรอบด้านในการนำมาใช้แต่ท้ายที่สุดเป็นสิ่งจำเป็น แต่ไม่ใช่ประกาศแล้วมีผลบังคับใช้ทันทีเพื่อมิให้มีผลกระทบต่อการเข้าถึงของลูกหนี้”

ส่วนที่ต้องเร่งแก้ไข โดยจะครอบคลุมหนี้ทั้ง 4กลุ่มประกอบด้วย

ธปท.ห่วงสินเชื่อหมุนเวียนกู้หนี้ใหม่จ่ายขั้นต่ำหนี้เก่าไม่จบ

1. หนี้เสียที่ค้างชำระเกิน 90 วัน (รหัส 21) 

2.กลุ่มหนี้เรื้อรัง (ไม่เป็นหนี้เสียโดยยังจ่ายชำระได้) เป็นสินเชื่อหมุนเวียน(Revolving) โดยเป็นการเปิดวงเงินไว้  ซึ่งธปท.มีความเป็นห่วง  ลูกหนี้อาจกู้หนี้ใหม่ไปจ่ายหนี้เก่าไปเรื่อยๆ ซึ่งต้องใช้เวลานานไม่สามารถปิดจบ

“ธปท.ได้มีการคุยกับเจ้าหนี้ และกลุ่มผู้แทนลูกหนี้  โดยจะต้องมีการแยกลูกหนี้เป็น 2กลุ่ม ๆ แรก เป็นหนี้ที่ยังไม่รุนแรง เรียกว่า General PD และหนี้ที่เริ่มรุนแรงหรือ  Severe PD  โดยกำลังดูไส้ในข้อมูล และผลกระทบอยู่”นางสาวสุวรรณีกล่าว

ทั้งนี้ หากเป็น General PD   ทางเจ้าหนี้ต้องกระตุกลูกหนี้ด้วยการส่งSMS /จดหมาย แจ้งลูกหนี้จะเข้าข่ายเป็นลูกหนี้เรื้องรัง หากเจ้าหนี้กระตุกได้ลูกหนี้จะไม่กลายเป็นลูกหนี้ Severe PD หรือ

ถ้าเป็นกลุ่ม Severe PDเจ้าหนี้ต้องมีทางเลือกในการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ ซึ่งจะต้องกำหนดระยะเวลาจบพร้อมระบุอัตราดอกเบี้ย  นอกจากนี้ลูกหนี้เองจะต้องปิดวงเงินสินเชื่อ Revolvingเดิม เหล่านี้เป็นทางเลือกสำหรับลูกหนี้ตั้งใจแก้ไขหนี้

ธปท.ห่วงสินเชื่อหมุนเวียนกู้หนี้ใหม่จ่ายขั้นต่ำหนี้เก่าไม่จบ

3. กลุ่มสินเชื่อใหม่(Gen:Y) ซึ่งพบในหนี้เกษตร บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล  ,  และ

 4. กลุ่มหนี้นอกระบบ 

อย่างไรก็ตาม  ในการแก้ไขปัญหาหนี้แต่ละกลุ่มนั้น นางสาวสุวรรณีกล่าวย้ำว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นมาตรการเชิงระยะยาวดูแลเสถียรภาพในอนาคต ซึ่งต้องทำอย่างครบวงจร  ถูกหลักการโดยต้องร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆด้วย

แนวทางดังกล่าวจะครอบคลุมทั้งหนี้เดิมทั้งที่เป็นเอ็นพีแอลและหนี้เรื้อรัง  การก่อหนี้ใหม่   รวมทั้งเพิ่มการเข้าถึงของสินเชื่อในระบบด้วยและขยายผลอีก 30%ของหนี้ครัวเรือนที่ยังไม่อยู่ภายใต้กำกับของธปท.

สำหรับคุณภาพสินเชื่อรายย่อยภายใต้กำกับของธปท.  (รวมเจ้าหนี้ธนาคารพาณิชย์   นันแบงก์ แบงก์รัฐ) พบว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ปรับเพิ่มเล็กน้อยโดยเพิ่มเป็น 3.2% จาก 3.1% แต่ลูกหนี้จัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษหรือ SM (Stage2) ปรับเพิ่มเป็น 7.2% จาก 6.9%

ทั้งนี้ มูลหนี้ที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้น มาจากลูกหนี้กลุ่มมีรายได้น้อย ไม่ใช่ผู้มีเงินเดือนประจำ หรือกลุ่มที่เคยได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหนี้  เช่น ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนช่วงโควิด-19 หรือเคยได้รับมาตรการผ่อนชำระ บางกลุ่มช่วงสเต็ปอัพอาจจะไม่ไหว ซึ่งอาจจะปรับโครงสร้างอีกรอบ

“เอ็นพีแอลที่อยู่ภายใต้กำกับของธปท.อาจจะทยอยปรับเพิ่มขึ้น  จากความช่วยเหลือที่อัดเข้าไปเต็มที่ในช่วงโควิดสำหรับลูกหนี้กลุ่มเปราะบางและรายได้ยังไม่ฟื้นตัว   แต่ยืนยันว่าหนี้ที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้นจะไม่เป็นหน้าผาเอ็นพีแอล(NPLs Cliff)  โดยแบงก์เจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินสามารถบริหารจัดการได้ ขณะที่ธปท.ก็ยังไม่นิ่งนอนใจโดยผลักดันและช่วยเหลือสถาบันการเงินทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิด”

นอกจากนี้สอดคล้องกับมุมมองของ 3บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ( Rating agencies) ที่ยังคงเรตติ้ง stable outlook และมีมุมมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ปรับดีขึ้น แต่ยังต้องติดตามหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ทั้งนั้นภาคการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหลัก แม้จะมีภาคส่งออกอาจรับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว และยืนยัน ระบบ ธนาคารพาณิชย์ไทยมีความมั่นคงด้วยเงินสำรอง สภาพคล่องและเงินกองทุนที่อยู่ในระดับสูง

ธปท.ห่วงสินเชื่อหมุนเวียนกู้หนี้ใหม่จ่ายขั้นต่ำหนี้เก่าไม่จบ