BBL ชี้โจทย์รัฐเร่งเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ปี65-67 รับเศรษฐกิจโลกกดส่งออกไทย

27 พ.ค. 2565 | 16:34 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ค. 2565 | 00:04 น.

แบงก์กรุงเทพ กางโจทย์รัฐบาลไทยเร่งเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ปี65-67 รับมือภาคส่งออกถูกกดดันจากเศรษฐกิจโลกแผ่ว “ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน-ดึงFDI-สร้างสมดุลด้านการคลัง-สางปัญหาหนี้ครัวเรือน”เคลื่อนเศรษฐกิจไทยฝ่ามรสุมหลังโควิด-19

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวบรรยายพิเศษหัวข้อ “เศรษฐกิจ-โอกาส-ความท้าทายใหม่” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานสัมมนาประจำปี ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 46 “ประชาชาติธุรกิจ” ที่จัดขึ้นในหัวข้อหลัก “New Chapter เศรษฐกิจไทย”

 

โดยระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นยุคหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นจะเต็มไปด้วยความผันผวน และเป็นโจทย์ใหม่ที่แตกต่างไปจากช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างมาก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการและนักลงทุนจะต้องทำความเข้าใจ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินธุรกิจในโลกยุคใหม่ หรือที่เรียกว่า New Chapter

สิ่งสำคัญ คือ ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับความผันผวนที่กำลังก่อตัวและจะเป็นประเด็นความท้าทายที่สำคัญในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า คือ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการ Sanction          ที่สหรัฐฯ และประเทศต่าง ๆ มีต่อรัสเซีย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถยุติลงได้ง่ายนัก

 

ทั้งปัญหาดังกล่าวยังก่อให้เกิดวิกฤติด้านราคาพลังงาน และวิกฤติอาหารโลก ดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากรัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันรายสำคัญ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตและส่งออกไนโตรเจนและโพแทส ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตปุ๋ย จึงกระทบกับกำลังการผลิตอาหาร ขณะเดียวกันอีกหลายสิบประเทศกำลังตัดสินใจจะไม่ส่งออกอาหาร

 

ปัญหาจากราคาพลังงานและอาหาร เป็นปัจจัยหลักที่ผลักต้นทุนสินค้าต่าง ๆ ต้องปรับตัวสูงขึ้น และนำไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ในระดับที่สูงสุดในรอบ 40 ปี ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed จะต้องตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้กับสถานการณ์นี้ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะต้องขึ้นดอกเบี้ยอีกเท่าไหร่จึงจะรับมือกับปัญหานี้ได้

 

ขณะเดียวกัน Fed ยังต้องแก้ไขปัญหาเรื่องสภาพคล่องจำนวนมากที่เคยตัดสินใจอัดฉีดเข้ามาจำนวนมากเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงก่อนหน้านี้ โดยจะต้องดึงสภาพคล่องออกจากระบบ ราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่เคยพุ่งสูงขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาด ก็จะเริ่มกลับข้าง ซึ่งจะสร้างความปั่นป่วนในตลาดการเงินโลก ทั้งตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน ไปจนถึงสกุลเงินดิจิทัล อย่างบิทคอยน์ ทั้งยังมีโอกาสสูงมากที่การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าว อาจจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจติดลบ หรือ Recession ในปีหน้า

 

ความผันผวนดังกล่าวนี้ ยังได้ก่อให้เกิดวิกฤติในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ เช่น ศรีลังกา ทั้งกำลังลุกลามไปยังเนปาล และปากีสถาน และยังมีปัญหาเศรษฐกิจในจีนที่น่ากังวลใจเกี่ยวกับภาวะฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีปัญหาสะสมมาก่อนหน้านี้ ซึ่งอาจถูกกลบไปด้วยข่าวอื่น ๆ ในช่วงที่ผ่านมา

 

“ทั้งหมดนี้กำลังบอกว่า 2-3 ปีข้างหน้า จะไม่ง่าย หากใครมองว่า 2-3 ปีข้างหน้าจะไปได้ ทุกอย่างจะดี ขอให้เปลี่ยนใจ เหมือนกำลังออกจากอุโมงค์หนึ่งที่พ้นจากโควิด-19 มาแล้ว กำลังจะมาเจอมรสุมลูกใหญ่ที่กำลังก่อตัวอยู่ 4 เดือนที่ผ่านมา เราก็เริ่มเห็นแล้วว่าทุกอย่างไม่ง่าย นักลงทุนเสียหายกันเยอะแค่ไหน แต่การที่เราจะผ่านมันไปได้ ต้องเห็นภาพจริง ๆ ว่ามันเกิดอะไรขึ้น สถานการณ์เป็นอย่างไร และต้องเตรียมการรับมือกับความท้าทาย ไม่ใช่แค่เฉพาะนักธุรกิจหรือนักลงทุน แต่ประเทศก็เช่นเดียวกัน”

BBL ชี้โจทย์รัฐเร่งเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ปี65-67 รับเศรษฐกิจโลกกดส่งออกไทย

นายกอบศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ในปี 2564 ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออก การบริโภคในประเทศ และไทยเที่ยวไทย เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ในปี 2565-2567 อาจต้องพิจารณาเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ให้เศรษฐกิจไทย  เนื่องจาก  ภาคการส่งออกน่าจะถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่แผ่วลง แต่ต้องเริ่มกลับมามองสิ่งที่ประเทศไทยเราพอจะทำได้ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ได้อนุมัติโครงการมาก่อนหน้านี้ เช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC น่าจะถึงเวลาที่ต้องเริ่มดำเนินการลงทุนแล้ว

 

ขณะเดียวกันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ซึ่งหลายนักลงทุนกำลังหนีจากจีน และสงครามในยุโรป ดังนั้นอาเซียนจะเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจที่สุด และที่สำคัญภาคท่องเที่ยวจากต่างประเทศกำลังฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเคยมีมูลค่าถึง 10% ของจีดีพี ถ้าสามารถฟื้นกลับมาได้ครึ่งหนึ่ง หรือ 5%   ของจีดีพี ก็เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีแรงขับเคลื่อน หรือมีโมเมนตัมที่พร้อมก้าวเข้าสู่มรสุมได้ดีขึ้น

 

“หากจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในอนาคต สิ่งที่เราต้องเตรียมตัว นอกจากต้องมีโมเมนตัมทางเศรษฐกิจแล้ว อีกเรื่องที่สำคัญคือ เราต้องจัดการเรื่องการคลัง เราต้องคิดใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้เราสร้างสมดุลด้านการคลังได้เร็วมากกว่านี้ พร้อมกับสร้างเสริมความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทย เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันภัยให้กับประเทศ ซึ่งประเด็นสำคัญ รวมถึงดูแลดุลบัญชีเดินสะพัดให้ดีขึ้น ดูแลเรื่องหนี้ครัวเรือนในภาคประชาชน ส่วนเรื่องที่ดีอยู่แล้วอย่างเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ สถาบันการเงิน บริษัทเอกชน ผมเชื่อว่าประเทศไทยจะหลุดออกจากความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน นี่คือสิ่งที่เราต้องเตรียมการให้พร้อมในช่วงเวลา 2 ปีจากนี้”

 

เขากล่าวอีกว่า ในช่วงเวลารับมือกับความผันผวนนี้ ประเทศไทยยังต้องเตรียมการสำหรับการเข้าสู่โลกยุคใหม่ หรือ New Chapter ไปในเวลาเดียวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะโลกของความเปลี่ยนแปลง (Disruption) ทางเทคโนโลยีกำลังเกิดขึ้นและพัฒนาโลกให้ก้าวเดินไปอย่างรวดเร็วมาก ซึ่งเป็นโอกาสอย่างมหาศาล ทั้งยังเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการเติบโตขึ้นของกลุ่มประเทศในเอเชีย ที่ถูกคาดการณ์ว่า อีก 30 ปีข้างหน้าเอเชียจะเป็นครึ่งหนึ่งของโลก ซึ่งจะสอดรับกับ “ศตวรรษแห่งเอเชีย” ซึ่งประเทศไทยจะต้องเตรียมแผนสำหรับเปิดรับโอกาสเหล่านี้ และเป็นโจทย์ที่ต้องคิดต่อไปว่าทำอย่างไรจะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของบริษัทต่าง ๆ ในภูมิภาค ทั้งในเรื่องที่ตั้งสำนักงาน ศูนย์วิจัยและพัฒนา การเชื่อมต่อด้านขนส่งและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต และธุรกิจสตาร์ตอัป

 

“ทั้งหมดนี้ ผมว่าเรามีโครงการอยู่แล้ว เช่น อีอีซี ทำอย่างไรจะขับเคลื่อนไปให้ได้ การพัฒนาย่านศูนย์กลางธุรกิจ หรือ CBD อีกหลายโซนที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งเหมาะสำหรับเมืองที่จะเป็นศูนย์กลางอย่างยิ่ง รวมถึงรถไฟฟ้าใต้ดินที่จะสร้างเสร็จในอีก 5 ปีข้างหน้า ระบบโลจิสติกส์ผ่านระบบราง เช่น รถไฟรางคู่ หากสามารถสร้างเสร็จและเปิดพรมแดนอย่างเต็มที่ รวมถึงการสร้างลงทุนในโครงการประตูเศรษฐกิจฝั่งตะวันตก หรือ Western Gateway ที่จะช่วยเชื่อมต่อเอเชียตะวันออกไปสู่เอเชียตะวันตกซึ่งอาจจะเป็นศูนย์กลางใหม่ของเอเชีย ทั้งหมดนี้เราต้องเปลี่ยนประเทศไทยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และสำคัญที่สุดต้อง ลงมือทำ คือหัวใจของความสำเร็จ” นายกอบศักดิ์ กล่าว