อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทวันนี้ เปิด “อ่อนค่า”ที่ระดับที่ระดับ 34.29 บาท/ดอลลาร์

06 พ.ค. 2565 | 07:51 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ค. 2565 | 15:55 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว-ปัจจัยกดดันจากดอลลาร์และปัญหาจากการระบาดของโควิด-19ในจีน

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้เปิดที่ระดับ  34.29 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.05 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังคงหนุนเงินดอลลาร์จะเป็นปัจจัยที่กดดันเงินบาทในช่วงนี้

 

ขณะเดียวกันปัจจัยเสี่ยงฝั่งอ่อนค่าเงินบาทยังคงอยู่ โดยเฉพาะ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีน ที่ทำให้ นักลงทุนยังไม่รีบกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น EM Asia ทำให้ เรามองว่า เงินบาทยังคงแกว่งตัวในกรอบ sideways 

 

นอกจากนี้ เรามองว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งอาจทำให้เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนและอ่อนค่าลงได้บ้าง แต่มองว่า เงินบาทยังคงมีแนวต้านสำคัญในโซน 34.50 บาทต่อดอลลาร์อยู่ เนื่องจากเป็นระดับที่ผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์เช่นกัน

 

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.40 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินผันผวนหนักและกลับมาอยู่ในบรรยากาศปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) อีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลว่า ปัญหาเงินเฟ้อที่ยังมีความไม่แน่นอน อาจทำให้ธนาคารกลางสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้เล่นบางส่วนเริ่มมองว่า การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง

 

สุดท้ายอาจกดดันให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงหนัก จนเข้าสู่สภาวะถดถอย (Recession) ได้ ดังที่จะเห็นได้จากการออกมาเตือนของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ว่าเศรษฐกิจอังกฤษมีความเสี่ยงที่อาจจะเผชิญภาวะถดถอยได้ ท่ามกลางแนวโน้มเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและการทยอยขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ

 

ในฝั่งสหรัฐฯ แม้ว่าตลาดคาดการณ์ว่าเฟดอาจไม่ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง แต่การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดก็มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไป ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นทะลุระดับ 3.00% กดดันให้ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และ

 

หุ้นสไตล์ Growth ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงหนักกว่า -4.99% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -3.56% ท่ามกลางแรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และการลดสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวหนัก

 

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ผันผวนหนักเช่นกัน โดยในช่วงแรกตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นตามแนวโน้มการเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหลังรับรู้ผลการประชุมเฟด ทว่าผู้เล่นในตลาดกลับมาปิดรับความเสี่ยงในช่วงท้าย จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวหนักจากการทยอยขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง

 

ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ ดัชนี STOXX50 ปรับตัวลง -0.76% นำโดยหุ้นกลุ่มการเงิน Allianz -6.5%, Santander -3.0% กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย (ที่ยังคงเผชิญแรงกดดันจากปัญหาการระบาดของโอมิครอนในจีน) อาทิ Louis Vuitton -3.3%, Hermes -2.5%

 

ทางด้านตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นต่อเนื่องทะลุระดับ 3.00% และแตะจุดสูงสุดใหม่ที่ 3.10% หลังผู้เล่นในตลาดยังมองว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดก็ยังดำเนินต่อไป เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ และ Terminal Rate ของอัตราดอกเบี้ยนโยบายเฟดอาจอยู่ที่ 3.25%

 

อย่างไรก็ดี ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ได้หนุนให้ผู้เล่นบางส่วนเพิ่มการถือครองบอนด์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย กอปรกับระดับของบอนด์ยีลด์ที่สูงกว่า 3.00% ก็น่าสนใจมากขึ้น ทำให้สุดท้าย บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่ระดับ 3.04% ซึ่งเรามองว่า จุดสูงสุดของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กำลังใกล้เข้ามาและจะอยู่ในไตรมาสที่ 2 นี้ และเชื่อว่านักลงทุนสถาบันจะรอจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ ในการทยอยเพิ่มสถานะถือครอง หรือ เพิ่ม Duration พอร์ตการลงทุน

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) พุ่งขึ้นสู่ระดับ 103.5 จุด กลับไปสู่ระดับก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟดอีกครั้ง โดยเงินดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด

 

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ที่อ่อนค่าลงหนัก สู่ระดับ 1.237 ดอลลาร์ต่อปอนด์ หลังจากที่ ธนาคารกลางอังกฤษปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 1.00% และเตือนความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ ทั้งนี้ แม้ว่าตลาดจะปิดรับความเสี่ยงหนัก

 

แต่ราคาทองคำกลับปรับตัวลง สู่ระดับ 1,875 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นบางส่วนอาจรอทยอยซื้อทองคำ ในจังหวะย่อตัวหนัก เพื่อลุ้นการรีบาวด์เหมือนในรอบที่ผ่านมา โดยโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจเป็นแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะจับตาแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ เพื่อประเมินทิศทางเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินของเฟด โดยตลาดมองว่า ภาพรวมตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งอยู่ โดยยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อาจเพิ่มขึ้นกว่า 4 แสนราย ส่วนอัตราว่างงาน (Unemployment) ยังอยู่ในระดับต่ำราว 3.6% ซึ่งภาวะตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและมีความต้องการแรงงานที่สูงนั้นจะช่วยหนุนให้รายได้เฉลี่ย (Average Hourly Earnings) โตขึ้นกว่า +5.5%y/y ซึ่งภาพตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่ง ในภาวะเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงนั้น จะสามารถทำให้เฟดสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยตามที่ตลาดได้รับรู้ไปแล้วพอสมควรได้

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับ 34.35-34.38 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (8.45 น.) อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลง


สอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวกลับมาท่ามกลางการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งตลาดบางส่วนยังเชื่อว่า เฟดอาจจำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย. เพื่อสกัดเงินเฟ้อ นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนเพิ่มเติม โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินปอนด์ซึ่งเผชิญแรงกดดันจากการที่ธนาคารกลางอังกฤษออกมาระบุเตือนถึงความเสี่ยงที่อังกฤษจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย พร้อมๆ กับเงินเฟ้อสูง (Stagflation)

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 34.25-34.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย สัญญาณฟันด์โฟลว์ และข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาทิ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน และค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมง