“เพื่อไทย”รบ“ภูมิใจไทย รอวันแตกหัก??

28 ธ.ค. 2567 | 08:00 น.

“เพื่อไทย”รบ“ภูมิใจไทย รอวันแตกหัก? : รายงานพิเศษ โดย.....ทีมข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4057

KEY

POINTS

 

  • เสถียรภาพของรัฐบาล ภายใต้การนำของ  อิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง 
  • ขณะนี้ได้เกิดปัญหากระทบกระทั้งกันสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่าง พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล กับ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล  
  • ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง 2 พรรค เกิดขึ้นมาแล้วอย่างน้อย 6 เคส และเชื่อว่าจะมีเกิดขึ้นอีก หากวันหนึ่งเกิดหมดความอดทนระหว่างกันขึ้นมา ก็อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นได้ 
     

สถานการณ์ “เสถียรภาพของรัฐบาล” ภายใต้การนำของ  อิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง 

เพราะขณะนี้ได้เกิดปัญหากระทบกระทั้งกันสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่าง พรรคเพื่อไทย (พท.)  ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล กับ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีฐาน สส. เป็นอันดับสอง 

6 ปมขัดแย้งสะสม พท.-ภท.

ความ “ระหองระแหง” ระหว่าง 2 พรรคหลักดังกล่าวที่สะสมมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน และมีทีท่าทวีความรุนแรงขึ้น ไล่เรียงดู เริ่มต้นจากปัญหา...

1.กัญชาเสรี ซึ่งเป็นเรือธงของ “ภูมิใจไทย” ที่ต้องการปลูกขายเสรี ขณะที่ “เพื่อไทย” ไม่เห็นด้วย และอยากดึงกลับเป็นยาเสพติด ให้ใช้ได้เฉพาะเพื่อการแพทย์เท่านั้น 

2.พรบ.ประชามติ จุดยืน “ภูมิใจไทย” โหวตเอา "เสียงข้างมาก 2 ชั้น" เพื่อทำประชามติ (ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และ เสียงเห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ) ซึ่งยากต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

ขณะที่ “เพื่อไทย” ไม่เห็นด้วย ต้องการลดเกณฑ์เสียงข้างมาก ของผู้ออกมาใช้สิทธิ์เหลือ 20-30% อันจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญง่ายขึ้น 

3.ปมปัญหาการครอบครองที่เขากระโดง ของ “บ้านใหญ่” ในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นเกมต่อรองของ “เพื่อไทย” กับ “ภูมิใจไทย”    

4.เอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ ที่อาจนำไปสู่ปัญหาในพรรคร่วมรัฐบาลได้ เพราะทาง “ภูมิใจไทย” อยากดึงไปลงในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ด้วย แต่ตามแผนรัฐบาลเพื่อไทย ไม่มีบุรีรัมย์ 

5.ปมพรบ.กลาโหม  สส.พรรคเพื่อไทย มีแนวคิดปฏิรูปทหารผ่านการ แก้ พรบ.กลาโหม เพื่อป้องกันการปฎิวัติรัฐประหาร ขณะที่ “ภูมิใจไทย” คัดค้าน ไม่เอาด้วย 

และ 6.ปม 2 พ.ร.ก.ภาษี  ที่ในการลาประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2567 มีการเสนอออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับเข้าสู่ที่ประชุม ครม. คือ 1.พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม ของกระทรวงการคลัง และ 2.พ.ร.ก.แก้ไขพ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 

ทั้ง 2 ฉบับ เป็น พ.ร.ก.เกี่ยวกับการปฏิรูปภาษีนิติบุคคลในไทย โดยต้องเก็บภาษี 15% จากบริษัทนิติบุคคลต่างชาติ ที่เข้ามาลงทุนในไทย และส่งเงินภาษีบางส่วนที่จัดเก็บได้ให้กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างการเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)  

                               “เพื่อไทย”รบ“ภูมิใจไทย รอวันแตกหัก??

เบื้องหลังรมต.ชิ่ง 2 พรก.ภาษี

แต่ปรากฏว่า มี “รัฐมนตรี” หลายคนไม่เข้าร่วมประชุม เพื่อเลี่ยง พ.ร.ก. 2 ฉบับดังกล่าว มี “รมต.สีน้ำเงิน” ลาประชุม รวมถึง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ/รมว.มหาดไทย ที่ลาประชุมช่วงเช้า 

ว่ากันว่า เนื่องจากเกรงว่า พ.ร.ก.ดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายการเงิน อาจจะสุ่มเสี่ยงถูกตีความ เปิดช่องให้ “นักร้อง” หยิบไปเล่นงานได้ ก่อนที่ อนุทิน จะถูกตามให้มาเข้าร่วมประชุม  
ทั้งนี้หลังเกณฑ์การออก พ.ร.ก. กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 172 ดังนี้ ต้องเป็นกรณีเมื่อ ครม. เห็นว่า เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ และในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ

“ทักษิณ”ยัวะพรรคร่วมหนีพ.ร.ก.

อันเป็นที่มาสร้างความไม่พอใจให้กับ นายใหญ่-ทักษิณ ชินวัตร ถึงกับซัดพรรคร่วมรัฐบาล ที่ทำตัวเป็น "อีแอบ" ในวงสัมมนาพรรคเพื่อไทย ที่หัวหิน เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2567
“2 วันก่อนมีการเอากฎหมาย (พ.ร.ก) เข้า ครม. ปรากฏว่ามีพรรคร่วมบางพรรคหลบ ป่วย อย่างนี้ไม่ใช่เลือดสุพรรณนี่หว่า ถ้าอยู่ด้วยกันก็ต้องด้วยกันซิ วันหลังไม่อยากอยู่ต้องบอกให้ชัดเจน” ทักษิณ ระบุ

พร้อมระบุว่า “ผมเป็นคนเกลียดพวกอีแอบ ตรงไปตรงมาง่ายๆ อยู่ก็อยู่ไม่อยู่ก็ไม่ต้องอยู่ ถ้าอยู่ก็ต้องสู้ด้วยกัน ในเมื่อเป็นนโยบายรัฐบาลร่วมกัน แถลงนโยบายคุณยกมือเห็นด้วย พอได้เก้าอี้รัฐมนตรีค่อยๆ หลบออกไม่ได้ ต้องตรงไปตรงมา”

นั่นคือสัญญาณจาก ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำจิตวิญญาณของพรรคเพื่อไทย 

รอวันแตกหัก?

สัญญาณดังกล่าวถูกเพ่งเล็งไปไปยัง “ภูมิใจไทย” เพราะวันนั้น มีรัฐมนตรีลา ครม.ถึง 7 คน และมีคนของภูมิใจไทยลาถึง 3 คน ประกอบด้วย 1.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย 2.นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย 3.นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ

พรรครวมไทยสร้างชาติ 1.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน 2.นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์
โควตาพรรคเพื่อไทย 1.นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ 2.นายอัครา พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ 
 ปัญหาความขัดแย้ง ระหว่าง “เพื่อไทย” กับ “ภูมิใจไทย” เกิดขึ้นมาแล้วอย่างน้อย 6 เคส และเชื่อได้ว่าอนาคต จะมีปัญหาความไม่ลงรอยกันเกิดขึ้นอีกแน่ 

หากสักวันหนึ่งเกิด “หมดความอดทน” ระหว่างกันขึ้นมา ก็อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นได้ 

                    +++++++++++

“ทักษิณ"ไม่มีอะไรต้องเคลียร์"อนุทิน" 

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2567 ถึงกรณีปรากฏภาพตีกอล์ฟร่วมกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย และ นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานกรรมการบริหารของกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2567 ว่า สนุกดี แต่ตนไม่ค่อยได้ตี ก็จะตีโดนบ้าง ไม่โดนบ้าง

ถาม :  เป็นการสยบคำว่าอีแอบหรือไม่ 

ตอบ : จริงๆ นายสารัชถ์ เป็นคนเชิญไป ไม่มีนักการเมือง แต่ นายอนุทิน เป็นเพื่อน นายสารัชถ์ มา 20 ปี จึงชวน นายอนุทิน ไปในฐานะเพื่อน นายอนุทินจึงไป ปรากฏว่าไม่มีนักการเมือง แต่มีประเด็นการเมืองเยอะ เพราะเมื่อมีการส่งรูปออกไปก็มีสื่อนำไปตีเป็นประเด็นการเมือง ซึ่งจริงๆ แล้วไม่มีอะไร

ถาม : นายสารัชถ์ เป็นคนกลางสมชื่อเลยหรือไม่ 

ตอบ : ไม่รู้ เขาซ้ายขวาหรือไม่

ถาม : เคลียร์ใจกับนายอนุทินอย่างไร 

ตอบ : ไม่มีอะไรต้องเคลียร์ กติกาง่ายนิดเดียว คนเราเมื่ออยู่ร่วมกัน ก็ต้องเคารพซึ่งกันและกัน จบ

ถาม : ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีการตีความว่าระหว่าง พรรคภูมิใจไทย กับ พรรคเพื่อไทย อาจจะมีเรื่องที่ไม่ลงรอยกันหลายเรื่อง 

ตอบ : เท่าที่ดูไม่น่ามีอะไรมาก เป็นเรื่องธรรมดา ลิ้นกับฟันบางครั้งก็กัดโดนกันบ้างเป็นธรรมดา ส่วนที่ร้องเพลงคนไม่สำคัญนั้น เป็นเพลงเก่งของตน ร้องมานานแล้ว นึกเพลงใหม่ๆ ไม่ออก มีแต่เพลงเก่าๆ คนโบราณ

ถาม : เคลียร์กันแล้ว หลังจากนี้รัฐบาลไม่น่าจะมีปัญหาอะไรกันแล้วใช่หรือไม่ 

ตอบ : ไม่น่าจะมีอะไร นายอนุทิน กับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทำงานด้วยกันได้

ก่อนหน้านั้น นายทักษิณ นายอนุทิน นายสารัชถ์ ได้ร่วมตีกอล์ฟที่สนามกอล์ฟ Stone Hill club จ.ปทุมธานี หลังเกิดกระแสข่าวพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยระหองระแหงกันในการร่วมรัฐบาล เมื่อ นายทักษิณ ไปสัมมนาของพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา และโจมตีพรรคร่วมรัฐบาล ที่ไม่เข้าร่วมประชุม ครม.ในการออก พ.ร.ก.ภาษี ว่าเป็น “อีแอบ”

รวมถึงต่อมาพรรคเพื่อไทยออกแคมเปญ 180 วัน รอได้เพื่อรัฐธรรมนูญประชาชน อย่าเชื่อ “อีแอบ” ล็อกสองชั้นรัฐบาลต้องลงเรือลำเดียวกัน หลังจากที่พรรคภูมิใจไทย โหวตสวนในร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดยยืนหลักเสียงข้างมาก 2 ชั้น