“เพื่อไทย”ยอมแล้ว ถอนร่างก.ม.ริบอำนาจกองทัพ อ้างสังคม-พรรคร่วมไม่เอาด้วย

10 ธ.ค. 2567 | 15:10 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ธ.ค. 2567 | 15:18 น.

พรรคเพื่อไทยเตรียมถอนร่างกฎหมายริบอำนาจกองทัพ ออกจากสภาฯ อ้างเสียงสังคม-พรรคร่วมรัฐบาล ไม่เอาด้วย “ประยุทธ์”ขอกลับไปปรับแก้ใหม่ ยันไม่คิดแทรกแซงกองทัพ

วันนี้ (10 ธ.ค. 67) นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเสียงคัดค้านร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่มีเนื้อหาให้อำนาจครม.พิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล เพื่อสกัดการรัฐประหาร ว่า จากการรับฟังความเห็นของประชาชนในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีเสียงคัดค้านจำนวนมาก

ดังนั้น ในวันที่ 12 ธ.ค. ที่มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการประชุมพรรคเพื่อไทยในช่วงเช้า จะเสนอต่อพรรค เพื่อขอถอนร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม กลับไปปรับปรุงแก้ไขใหม่ 

“ถ้าพรรคอนุญาตจะไปขอถอนร่างต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันเดียวกันทันที เพราะเป็นกฎหมายที่ผมและคณะเป็นผู้เสนอในนามส่วนตัว ไม่ใช่ความเห็นพรรคเพื่อไทย ในการรับฟังความเห็นของประชาชนตามมาตรา77  ถ้าเสียงส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย ก็ไม่สามารถบรรจุวาระเข้าสภาฯได้ ส่วนจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ขอรอดูความเห็นประชาชน ที่จะสิ้นสุดการรับฟังความเห็นตามมาตรา 77 ในวันที่ 1 ม.ค.2568 ก่อน” 

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะทบทวนกรณีให้ครม.มีส่วนร่วมการแต่งตั้งนายทหารระดับนายพลหรือไม่ เพราะถูกมองว่าเป็นการแทรกแซงกองทัพ นายประยุทธ์ กล่าวว่า ขอรอฟังความเห็นประชาชนให้สิ้นสุดก่อน ถึงจะรู้ต้องแก้ไขประเด็นใดบ้าง

"ถ้าสังคมมองว่า ครม.ควรถอยก็ต้องรับฟัง ดันทุรังไปแล้ว ก็เสนอกฎหมายไม่ได้อยู่ดี ยืนยันกฎหมายดังกล่าวไม่ได้แทรกแซงกองทัพ เนื้อหาร่างพ.ร.บ.ที่ให้ครม.มีส่วนร่วมพิจารณาแต่งตั้งนายพล ไม่ได้แทรกแซงกองทัพ การเสนอแต่งตั้งทหารระดับนายพล จะดำเนินการโดยคณะกรรมการของส่วนราชการนั้นๆ เป็นผู้เสนอชื่อนายพลตามหลักเกณฑ์กระทรวงกลาโหม จากนั้นจึงจะเสนอให้ครม.พิจารณา 

ทุกอย่างมีระเบียบกระทรวงกลาโหมควบคุมขั้นตอนแต่งตั้ง ไม่ใช่ครม.แต่งตั้งเอง หรือ กรณีการกำหนดให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของครม. มีอำนาจสั่งให้นายทหารยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวได้ หากกระทำการนอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อสกัดการรัฐประหารนั้น ก็ไม่ใช่ปมด้อยกฎหมายฉบับนี้ แต่เป็นการใช้อำนาจยับยั้งการรัฐประหาร เหมือนที่สส.เกาหลีใต้ ใช้อำนาจยับยั้งการประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดี หลายประเทศมีมาตรการเข้มข้นสกัดการยึดอำนาจ" นายประยุทธ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเสียงคัดค้านมาก ก็ต้องนำมาปรับปรุง จากที่หวังไว้ 100% ถ้าได้มาสัก 30-50% ก็คงพอใจแล้ว แต่คงไปสุดซอยไม่ได้แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็ไม่เอาด้วยกับร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม มองว่าแค่การเมืองไม่โกง ก็ไม่เกิดรัฐประหาร  นายประยุทธ์ กล่าวว่า “เรามีเจตนาอยากให้พรรคการเมืองได้มีบทบาทในการร่วมสกัดรัฐประหาร แต่เมื่อพรรคการเมืองไม่เห็นด้วย ก็ต้องนำมาทบทวนใหม่ การที่หลายส่วนมองว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถสกัดการยึดอำนาจได้ เป็นความเห็นแต่ละคน ส่วนตัวมองว่า ช่วยป้องกันได้ระดับหนึ่ง เหมือนที่เกาหลีใต้ ที่ให้สภาฯมีส่วนร่วมการยับยั้งการใช้อำนาจที่ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย”
เมื่อถามว่าเกรงว่าการเดินหน้าเสนอกฎหมายฉบับนี้ จะสร้างความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทย กับ กองทัพ หรือไม่ นายประยุทธ์ ตอบว่า ไม่ได้กลัวขัดแย้งกับกองทัพ แต่ต้องเคารพเสียงของสังคม ถ้าสังคมไม่เอาด้วย ต้องนำกลับมาทบทวนใหม่ 

ก่อนหน้านั้น หลังจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เผยแพร่การรับฟังความเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ในส่วนของร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่เสนอโดย นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์  สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย 

เบื้องต้นได้รับคำวินิจฉัยจากประธานสภาฯ ว่าไม่เป็นร่างการเงิน และได้เปิดรับฟังความเห็น ตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค. 2567 ถึงวันที่ 1 ม.ค. 2568

แต่หลังเปิดโหวตเพียงสัปดาห์เดียว หลายฝ่ายต่างจับจ้องว่า ทำไปทำมากฎหมายฉบับนี้จะกลายเป็นการจุดชนวน “ระเบิดลูกใหม่” จนสร้างแรงสั่นสะเทือนไปยังพรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำรัฐบาล

ทั้งนี้สาระร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงในเชิง “โครงสร้างอำนาจ” อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น 

มาตรา 35 ที่ระบุว่า ห้ามใช้กำลังทหารเพื่อกระทำการที่มิชอบด้วยกฎหมายบางประการ เช่น ยึดอำนาจจากรัฐบาล ก่อกบฏ ขัดขวางการปฏิบัติราชการ เพื่อธุรกิจ หรือกิจการที่เป็นประโยชน์ส่วนตัวของผู้บังคับบัญชา เป็นต้น

ขณะที่การใช้กำลังทหารเพื่อการปราบปรามการจลาจล ให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

อีกทั้ง เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายทหารชั้นสัญญาบัตรผู้ใด ได้กระทำการ หรือตระเตรียมการเพื่อกระทำการตามมาตรา 35 วรรคหนึ่ง (1) ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจให้นายทหารผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างรอการสอบสวน โดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการสั่งพักราชการตามที่กฎหมายกำหนดไว้

มาตรา 42 ในส่วนของ “สภากลาโหม” จากเดิมที่ให้ “รมว.กลาโหม” เป็นประธานสภากลาโหม เปลี่ยนเป็น “นายกรัฐมนตรี” เป็นประธานสภากลาโหม

ขณะที่การแต่งตั้งนายทหาร “ชั้นนายพล” ต้องเสนอ ครม.เห็นชอบ และ ครม.สามารถสั่งทบทวนรายชื่อใหม่ได้ 
โดยผู้เสนอร่าง ให้เหตุผลว่า ครม.เป็นองค์กรสูงสุดในฝ่ายบริหาร แต่กลับไม่มีหน้าที่ และอำนาจในการพิจารณาและให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล 

อีกทั้งทำให้การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล มีการวางตัวบุคคลของทางกองทัพที่เป็นพวกพ้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพ ให้สืบสายเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพต่อไป อันทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับนายทหารที่มีความรู้ความสามารถ แต่มิใช่พวกพ้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพทำให้ไม่มีโอกาสได้ก้าวหน้าในชีวิตราชการทหาร

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้มีมุมเห็นต่าง ตรงที่จะยิ่งเป็นการเปิดช่องให้ ครม.ซึ่งมาจากฝ่ายการเมือง “ล้วงลูก” บัญชีแต่งตั้งโยกย้ายได้โดยสะดวกหรือไม่ เพราะอำนาจตาม พ.ร.บ.ไม่ใช่แค่ให้ ครม.เห็นชอบ แต่ยังหมายรวมไปถึงการ “ทบทวน” รายชื่อการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารได้ด้วย