นักวิชาการ แนะไทยถอดบทเรียนการเมืองเกาหลีใต้ ไร้ทหารแทรกแซง

07 ธ.ค. 2567 | 15:41 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ธ.ค. 2567 | 15:49 น.

นักวิชาการ แนะประเทศไทย ถอดบทเรียนการเมืองเกาหลีใต้ แม้เผชิญความตึงเครียด แต่ไร้ทหารเข้าแทรกแซง ต้นแบบระบอบประชาธิปไตยของประเทศที่พัฒนาแล้ว เน้นทำตามกฎกติกาเป็นหลัก

สถานการณ์การเมืองในเกาหลีใต้ ยังคงมีความตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดประธานาธิบดี “ยุน ซอกยอล” ออกมาขอโทษต่อประชาชน กรณีการประกาศกฎอัยการศึก แต่ยืนยันไม่ลาออก แม้จะถูกกดดันจากทุกฝ่าย รวมถึงจากสมาชิกในพรรคของตนเองเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนการลงมติถอดถอนในรัฐสภา

ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการ สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ประเทศไทยสามารถถอดบทเรียนจากสถานการณ์การเมืองของเกาหลีใต้ ตั้งแต่วันที่เกิดการประกาศกฎอัยการศึกจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นชัดว่าแทบจะไม่มีทหารออกมาแทรกแซง และอำนาจทั้งหมดอยู่ที่รัฐสภา

“ภาพที่เกิดขึ้นถ้ามองมุมหนึ่ง คือประเทศไทยควรจะดูตัวอย่างเกี่ยวกับการยึดระบอบประชาธิปไตยของประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ทำตามกฎกติกาเป็นหลัก เพราะที่ผ่านมาก็มีบทเรียนกันแล้วเกี่ยวกับการมีทหารเข้ามาแทรกแซง” ศ.ดร.อรรถกฤต ระบุ

ศ.ดร.อรรถกฤต ยอมรับว่า ส่วนตัวมองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ โดยที่ไม่ได้เหตุการรุนแรงมากเหมือนในหลาย ๆ ประเทศ เนื่องจากคนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่มองเรื่องของเศรษฐกิจนำมากกว่า เพราะจะสร้างผลกระทบตามมาอีกหลายอย่าง ซึ่งไทยจะต้องเรียนรู้จากประเทศที่พัฒนาแล้ว

ทั้งนี้ประเมินว่า เกาหลีใต้ยึดความสำคัญภายใต้ 2 หลักการหลัก นั่นคือ ชาตินิยม และทุนนิยม ดังนั้นการมีหลักการทั้งสองอย่างนี้ เมื่อจะทำอะไรให้เกิดผลกระทบหนักไปกว่าเดิมจะทำให้ประเทศเกิดความลำบาก แตกต่างจากประเทศไทย แม้จะมีทุนนิยมแต่ก็มีความเหลื่อมล้ำสูง ส่วนประเด็นเรื่องชาตินิยมก็ยังไม่ได้ชัดเจนมากนัก

“สิ่งที่เราเห็นการเมืองในประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็อยากให้ดูเพราะไม่อยากให้เกิดขึ้นเหมือนในอดีตอีก โดยเฉพาะเมื่อมีพรรคการเมืองเข้ามาบริหารประเทศไประยะหนึ่งแล้ว” ศ.ดร.อรรถกฤต กล่าว

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดของการเมืองเกาหลีใต้ ฝ่ายนิติบัญญัติ จะมีการลงมติถอดถอนประธานาธิบดียุน ซอกยอล ภายหลังจากเขาได้ออกมาขอโทษต่อประชาชน กรณีการประกาศกฎอัยการศึกไปก่อนหน้านี้ โดยระบุว่า การประกาศกฎอัยการศึกในครั้งนี้เกิดจาก “ความสิ้นหวัง” พร้อมยอมรับความรับผิดชอบทางกฎหมายและการเมือง แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการใช้กฎอัยการศึกอีกครั้ง