เปิดเบื้องหลัง “นายใหญ่” ฉะรัฐมนตรี พีอาร์ผลงานตัวเอง ไม่หนุนรัฐบาล

19 ธ.ค. 2567 | 17:03 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ธ.ค. 2567 | 17:24 น.
970

เปิดเบื้องหลัง “นายใหญ่” ฉะ “รัฐมนตรีบางคน” เน้นสร้างผลงานตัวเอง ไม่หนุนรัฐบาล : คอลัมน์คันส่องฉ่องการเมือง โดย... นาย NO VOTE ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ตามหาตัวรัฐมนตรี “อีแอบ” ที่อดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร” ทิ้งทุ่นระเบิดกลางวงสัมมนาพรรคเพื่อไทย ที่หัวหิน ว่า หมายถึงบุคคลใด?  

ว่ากันว่า “นายใหญ่” ติดตามผลงานและพฤติกรรมของ “รัฐมนตรี” รายนี้ มานานแล้ว ตั้งแต่ฟอร์มรัฐบาลสมัย เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อไล่เรียงดูผลงานย้อนหลัง 3 เดือน ที่จะให้ “นายกฯอิ๊งค์” แถลง ก็ไม่มี แม้จะย้อนไปอีกเกือบปีสมัย เป็น “รัฐมนตรี” ยุคนายกฯเศรษฐา รัฐมนตรีรายนี้ก็ไม่มีผลงาน 

จึงเป็นที่มาของทุ่นระเบิดที่ว่า “จะมาเอาแต่ตำแหน่งรัฐมนตรี ความร่วมมือกันสร้างผลงานให้รัฐบาล ไม่ให้ ทำนองไม่ให้ใจไม่จริงใจกัน ก็ควรออกไป”

แถมการทำงาน ผลงานก็ไม่ชัดเจน แต่กลับมีการใช้งบกระทรวง ประชาสัมพันธ์เฉพาะผลงานตัวเองรายวัน 

จุดพีคสุดที่จู่ๆ ลุกขึ้นมาประกาศชนิดคนฟังหัวตั้ง คือ “จะหักนายทุน” มีการสั่งเบรกโครงการหน่วยงานในสังกัดตัวเอง เอื้อมมือจะไปดึงงานภาษีจากกระทรวงการคลัง ที่ “เพื่อไทย” กำกับดูแล มาปั่นเป็นผลงานตัวเอง เป็น “รัฐมนตรีคนดี” ทำเพื่อประชาชนอยู่คนเดียว

อย่างที่ทราบกัน ในการทำงานของรัฐบาลเพื่อไทย จะมีการประเมินการทำงานของคณะรัฐมนตรีเป็นระยะ ดังนั้น เมื่อถึงเวลาครบระยะเวลาทดลองงาน (Probation) ของรัฐบาลนายกฯอิ๊งค์ จึงเป็นเวลาดีของ “นายใหญ่” ที่จะส่งสัญญาณ “ไม่ผ่านโปร”  

จะว่าไปแล้ว พรรคการเมืองนี้ที่ได้เข้าร่วมรัฐบาล และ “รัฐมนตรี” คนนี้เป็นหัวเรือใหญ่ ก็ไม่ใช่ชื่อที่มีน้ำหนักเป็นตัวเลือกลำดับแรกของ “เพื่อไทย” เกือบจะหล่นหายไปจากกระดานการตั้ง ครม.ด้วยซ้ำ 

แต่ที่เข้ามาได้เพราะมี “ผู้สนับสนุนดี” ช่วยผลักดันเข้ามาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลสำเร็จ แถมได้รับแบ่งกระทรวงเกรดเอ ที่เดิมต้องเป็นของ “เพื่อไทย” ด้วยซ้ำ 

จากที่ไม่มีผลงานหลังได้รับการแบ่งสรรตำแหน่ง และรัฐมนตรีรายนี้ ก็ไม่มีอะไรช่วยเกื้อกูลกลับมาที่รัฐบาล แถมไม่ให้เกียรติในการทำงานในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะยุค “นายกฯอิ๊งค์” เท่ากับเป็นฟางเส้นสุดท้ายให้ “นายใหญ่” ถึงกับระเบิดด้วยถ้อยคำเปรียบเปรยว่าเป็น “อีแอบ” 

ทั้งชี้ชัดถึงเหตุผลการ “ไม่ให้ใจ” ไม่ให้ความร่วมมือในนโยบายรัฐบาล และการไม่เข้าร่วมประชุม ครม. เพื่อผ่านร่างพ.ร.ก. 2 ฉบับสำคัญ อันอาจจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายทำให้ “นายใหญ่” หมดความอดทน  

หลังครบ 3 เดือน เมื่อรัฐบาลต้องไปต่อ จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะส่งสัญญาณให้คนผู้นั้น ได้ยินว่า “พอเถอะ พอกันที”