กรมที่ดิน แจงยิบ สวนหมัดรถไฟ ที่เขากระโดง ดำเนินการถูกต้อง ตามคำพิพากษาศาล

26 ธ.ค. 2567 | 10:17 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ธ.ค. 2567 | 10:33 น.

กรมที่ดิน แจงยิบ สวนหมัดรถไฟ ที่ดินเขากระโดง ดำเนินการถูกต้องตามคำพิพากษาศาล หลังการรถไฟฯ กล่าวอ้าง ที่ดินบริเวณเขากระโดงได้รับการพิสูจน์ ยืนยันผ่านกระบวนการทางศาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

 

เมื่อวันที่26ธันวาคม 2567 กรมที่ดินชี้แจงว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เรื่อง ชี้แจงข้อเท็จจริงถึงการดำเนินการของ การรถไฟฯ เกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง นั้น ขอเรียนชี้แจงในประเด็นที่ การรถไฟฯ กล่าวอ้าง ดังนี้   

ที่ดินเขากระโดง

 ประเด็นที่ การรถไฟฯ กล่าวอ้างว่า ที่ดินบริเวณเขากระโดงได้รับการพิสูจน์และยืนยันผ่านกระบวนการทางศาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของ การรถไฟฯ จึงใช้ยันบุคคลภายนอกที่ครอบครองที่ดินบริเวณดังกล่าวรวมถึงกรมที่ดินด้วย การรถไฟฯ จึงไม่จำต้องไปใช้สิทธิฟ้องเป็นรายแปลงต่อศาลยุติธรรมแต่อย่างใด

กรมที่ดินได้ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ทั้ง 3คดี ครบถ้วนแล้ว มีรายละเอียดดังนี้

  ประเด็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๔๒ – ๘๗๖/๒๕๖๐ ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นกรณีที่ราษฎร จำนวน 35 ราย เป็นโจทก์ฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจากโจทก์ทั้ง 35 ราย ได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน     ต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ การรถไฟฯ คัดค้านการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า พยานหลักฐานของโจทก์ทั้ง 35 ราย รับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้ง 35 ราย มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทในอันที่จะขอออกโฉนดที่ดินได้ กรมที่ดินได้แจ้งให้จังหวัดบุรีรัมย์ดำเนินการยกเลิกใบไต่สวนของราษฎร จำนวน 35 ราย ที่ฟ้องคดี พร้อมทั้งจำหน่าย ส.ค. 1 ออกจากทะเบียนการครอบครองที่ดินแล้ว

ประเด็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 เป็นกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจากโจทก์ได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ การรถไฟฯ คัดค้านการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ โดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า
โจทก์ไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท อธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่ง ที่ 2992/2564 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ให้แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ใน น.ส. 3 ข. เลขที่ 200 หมู่ที่ 9 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ (บางส่วน) ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน แล้ว

ประเด็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 ลงวันที่ 22 เมษายน 2563 เป็นกรณีที่การรถไฟฯ เป็นโจทก์ฟ้องราษฎร เรื่อง ขับไล่ เพิกถอนโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้มีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 2971, 5272 และ น.ส. 3 เลขที่ 206 หมู่ที่ 9 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ การรถไฟฯ ได้แจ้งให้กรมที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาของศาล ซึ่งกรมที่ดินได้แจ้งให้จังหวัดบุรีรัมย์ดำเนินการหมายเหตุการเพิกถอนโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 แล้ว (มาตรา 61 วรรคแปด)

ทั้งนี้ จากคำพิพากษาทั้ง 3 คดี ผูกพันเฉพาะที่ดินพิพาทระหว่างคู่ความในคดี คือ ที่ดินจำนวน 35 แปลง (ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๔๒ – ๘๗๖/๒๕๖๐) น.ส. 3 ข. เลขที่ 200 หมู่ที่ 9 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ (บางส่วน) (ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561) และโฉนดที่ดินเลขที่ 2971, 5272 และ น.ส. 3 เลขที่ 206 หมู่ที่ 9 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ (ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563)  คำพิพากษาดังกล่าวไม่สามารถนำไปใช้ยันบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่จะมีการดำเนินคดีใหม่กับบุคคล

ที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 145 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ภาค 3 ไม่ได้วินิจฉัยครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 5,083 ไร่ การอ้างว่าคำพิพากษานี้เป็นการยืนยันกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งหมดจึงเป็นการขยายความ เกินขอบเขตของคำพิพากษา การรถไฟฯ จึงไม่สามารถนำผลของคำพิพากษาทั้ง 3 คดี ไปใช้กับที่ดินแปลงอื่น ๆ ได้ เนื่องจากการได้มาของที่ดินแต่ละแปลงมีความแตกต่างกัน ราษฎรซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจึงต้องมีโอกาสในการต่อสู้เพื่อป้องกันสิทธิของตนเอง

ประเด็นที่ การรถไฟฯ กล่าวอ้างว่า ได้ยื่นพยานหลักฐานที่แสดงถึงการได้มาซึ่งที่ดินบริเวณเขากระโดงต่อคณะกรรมการสอบสวนฯ และร่วมรังวัดที่ดินบริเวณเขากระโดงแล้ว แต่กรมที่ดินยุติเรื่องโดยไม่รอผลการตรวจสอบแนวเขตที่ดิน เมื่อพิจารณาพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๒ และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง ลงวันที่ ๗ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๔

ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ ที่ดินที่จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตแนวทางรถไฟตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานีลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๒ และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง ลงวันที่ 7พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔64 ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากรูปแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา

ซึ่งกรมรถไฟมีหน้าที่จัดทำแผนที่แสดงแนวเขตแสดงไว้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจดู อันเป็นหลักฐานสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงกรรมสิทธิ์และขอบเขตที่ชัดเจนของที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ดังนั้น เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่สามารถแสดงหลักฐานการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์และขอบเขตที่ชัดเจน รวมถึงหลักฐานที่แสดงให้เห็นได้ว่าการรถไฟเข้าหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย อีกทั้งข้อเท็จจริงยังปรากฏอีกว่าในการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์แปลงที่มีแนวเขตติดต่อกับที่ดินของการรถไฟฯ การรถไฟฯ ได้มาระวังชี้แนวเขตและลงชื่อรับรองแนวเขตให้กับเจ้าของที่ดิน โดยมิได้มีการหวงห้ามหรือหวงกันที่ดินของการรถไฟฯ แต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินของ การรถไฟฯ

 

 สำหรับการรังวัดของคณะทำงานร่วม ระหว่าง การรถไฟฯ และสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นการรังวัดตามการนำชี้ของผู้แทน การรถไฟฯ ตามรูปแผนที่สังเขปซึ่งจัดทำขึ้นในภายหลังเมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยไม่มีแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาตามนัยดังกล่าวข้างต้นและไม่มีเอกสารหลักฐานทางกฎหมายอ้างอิงใด ๆ เพื่อประกอบการนำชี้
โดยมีราษฎรในพื้นที่และส่วนราชการคัดค้านไม่ยอมรับการนำชี้ของผู้แทน การรถไฟฯ เนื่องจากไม่มีเอกสารหลักฐานที่น่าเชื่อถือทางกฎหมายอ้างอิงในการที่จะพิสูจน์ได้ว่าแนวเขตที่ได้นำชี้จัดทำรูปแผนที่สังเขปเป็นที่ดินของการรถไฟฯ ข้อเท็จจริงจึงยัง
ไม่ชัดเจนเป็นที่ยุติได้ว่าแนวเขตที่ดินของ การรถไฟฯ อยู่บริเวณใด

  สำหรับประเด็นที่การรถไฟฯ ยืนยันว่า การรถไฟฯ มีหลักฐานแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายโคราช - อุบล ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375 + 650 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกา นั้น แผนที่ที่การรถไฟฯ กล่าวอ้าง ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟ ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462 และพระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อื่นฯ ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2464 เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนวิธีการที่พระราชบัญญัติจัดวางรางรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช 2464 กำหนด

ซึ่งแตกต่างกับการสร้าง ทางรถไฟหลวงแยกจากสายตะวันออกเฉียงเหนือที่บ้านบุ่งหวายไปบ้านโพธิ์มูล พบว่ามีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางฯ   และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น พร้อมทั้งมีแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาโดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. ๒๔๗๐ เล่มที่ ๔๔ หน้า 3๑๓ แผ่นที่ 9๕ อย่างครบถ้วน จึงเชื่อได้ว่าแผนที่ที่การรถไฟฯ กล่าวอ้าง ไม่ได้จัดทำให้เป็นไปตามกฎหมายสำหรับการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การรถไฟฯ จึงไม่อาจใช้แผนที่นั้นมากล่าวอ้างให้ที่ดินบริเวณเขากระโดงตกเป็นของการรถไฟฯ เพื่อเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินซึ่งออกให้กับประชาชนโดยชอบด้วยกฎหมายได้ เนื่องจากการเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินต้องอาศัยหลักฐานที่ชัดเจนและถูกต้องตามกฎหมาย

 อนึ่ง นอกจากประเด็นความไม่ชอบด้วยกฎหมายของแผนที่ดังกล่าวแล้ว ยังพบว่าแผนที่แสดงเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลาฯ ที่การรถไฟฯ กล่าวอ้าง มีรูปแบบและระยะไม่สอดคล้องตามหลักวิชาการแผนที่ เช่นในแผนที่ระบุมาตราส่วน 1 : 4,000 กล่าวคือ ๑ เซนติเมตร ในรูปแผนที่ เท่ากับ ๔,๐๐๐ เซนติเมตร หรือ 40 เมตร ในพื้นที่จริง หากแนวเขตจากรางรถไฟข้างละ 1,000 เมตร รูปแผนที่จะมีระยะถึงข้างละ ๒๕ เซนติเมตร แต่แผนที่ที่การรถไฟฯ กล่าวอ้างมีระยะเพียง 2.5 เซนติเมตร เท่านั้น แผนที่ฉบับดังกล่าวจึงไม่มีความน่าเชื่อถือ

ประเด็นที่ การรถไฟฯ กล่าวอ้างว่า ข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่ามีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรมที่ดินและสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ในฐานะผู้ออกเอกสารสิทธิในที่ดินต้องดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินทั้งหมด ประเด็นดังกล่าวศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา ในคดีหมายเลขแดงที่ ๕๘๒/๒๕๖๖ ลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๖ให้อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา ๖๑ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา

โดยให้การรถไฟฯ (ผู้ฟ้องคดี) ร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนฯ ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ภาค ๓ ซึ่งอธิบดีกรมที่ดิน ได้มีคำสั่งที่ ๑๑๙๕ – ๑๑๙๖/๒๕๖๖ ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางดังกล่าวแล้ว
ซึ่งศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยในกรณีที่การรถไฟฯ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินร่วมกันเพิกถอนคำสั่งออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกทับที่ดินของการรถไฟฯ

โดยศาลได้มีคำวินิจฉัยไว้อย่างชัดแจ้งว่า หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ (อธิบดีกรมที่ดิน) มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว และพิจารณาข้อเท็จจริงได้เป็นเช่นใด ย่อมเป็นอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่จะดำเนินการมีคำสั่งตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามที่เห็นสมควร อันเป็นดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งศาลไม่อาจก้าวล่วงได้ ซึ่งผลการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนฯ ปรากฏดังนี้

คณะกรรมการสอบสวนฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า แผนที่ที่การรถไฟฯ กล่าวอ้างเป็นรูปแผนที่สังเขปซึ่งได้จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นการจัดทำขึ้นตามมติที่ประชุม กปร. ส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร
กลุ่มสมัชชาคนจน เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๓๙ โดยผู้ฟ้องคดีนำแผนที่ดังกล่าว ไปใช้ในการต่อสู้คดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่๘๔๒ – ๘๗๖/๒๕๖๐ และ ที่ ๘๐๒๗/๒๕๖๑ จึงไม่ใช่แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น

เพื่อสร้างทางรถไฟสายตวันออกเฉียงเหนือ พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ ประกอบกับตำแหน่งที่ตั้งและแนวเขตที่ดินของการรถไฟซึ่งมีการกล่าวอ้างว่ามีระยะทาง ๘ กิโลเมตร แต่จากการตรวจสอบรายงานผลการถ่ายทอดแนวเขตที่ดินการรถไฟฯ ของคณะทำงานดำเนินการถ่ายทอดแนวเขตที่ดิน ซึ่งคณะทำงานฯ ได้ตรวจสอบทางรถไฟโดยใช้วิธีการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ. ๒๔๙๗, พ.ศ. ๒๕๑๑,พ.ศ. ๒๕๒๙ และ พ.ศ. ๒๕๕๗ ปรากฏว่า ทางรถไฟมีระยะทางประมาณ ๖.๒ กิโลเมตร และได้ลงสำรวจเส้นทางรถไฟในพื้นที่จริงด้วยการรังวัดค่าพิกัดด้วยเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมแบบจลน์ (RTK) สามารถยืนยันตำแหน่งทางรถไฟที่ปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศว่าตรงกับตำแหน่งรางรถไฟบนที่ดินจริง

ประกอบกับการตรวจสอบจากแผนที่ภูมิประเทศ ลำดับชุดที่ L 7๐๘ ซึ่งเป็นแผนที่ภูมิประเทศชุดแรกในประเทศไทยจัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร (ในช่วง ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ – ๒๕๐๐) มีความยาวของทางรถไฟประมาณ ๖.๒ กิโลเมตร เช่นกันเมื่อพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแล้วเห็นว่า เป็นการดำเนินการไปตามขั้นตอนและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ประกอบกับเมื่อพิจารณาประเด็นคำคัดค้านพยานหลักฐานของผู้มีส่วนได้เสียแล้วเห็นว่ารับฟังได้ คณะกรรมการสอบสวนฯ จึงมีมติยืนยันความเห็นว่าไม่สมควรที่จะเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินด้วยมติเป็นเอกฉันท์ จนกว่าจะได้มีพยานหลักฐานที่สามารถใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติได้ รวมถึงเอกสารหลักฐานทางกฎหมายที่สามารถพิสูจน์กรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟฯ

 

 

 

 

- 4 -

               ดังนั้น การดำเนินการรับฟังพยานหลักฐานของคณะกรรมการสอบสวนฯ เป็นไปด้วยความรอบคอบ และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยรับฟังทั้งพยานหลักฐานที่ปรากฏในการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม พยานหลักฐานของการรถไฟฯ และพยานหลักฐาน
ที่คณะกรรมการสอบสวนฯ แสวงหามาประกอบการพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนฯ เห็นว่า พยานหลักฐานที่รวบรวมได้ยังมีความแตกต่างกันในสาระสำคัญอันจะนำมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติได้ การที่จะนำพยานหลักฐานที่ยังไม่เป็นที่ยุติไปใช้
ให้เกิดผลกระทบในทางเสียหายต่อสถานภาพของสิทธิและหน้าที่ของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการนำไปใช้ในการจัดทำคำสั่งทางปกครอง อาจส่งผลกระทบให้คำสั่งทางปกครองนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพิจารณาผลการสอบสวนและความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งเห็นว่ายังไม่มีพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้งเพียงพอให้รับฟังได้ว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไข ตามนัยข้อ ๑๒ ของกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๕๓ อธิบดีจึงได้เห็นชอบตามที่คณะกรรมการฯ เสนอยุติเรื่องในกรณีนี้ ตามความเห็นของคณะกรรมการฯ ที่ได้เสนอมา พร้อมทั้งแจ้งให้การรถไฟฯทราบว่า หากการรถไฟฯ เห็นว่าตนมีสิทธิในที่ดินดีกว่าก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดินสามารถไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิ
ในกระบวนการยุติธรรมทางศาลได้ อย่างไรก็ดีการรถไฟฯ ได้อุทธรณ์คำสั่งอธิบดีกรมที่ดินในกรณีดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่าง
การพิจารณาของผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ หากผลการพิจารณาเป็นประการใดจะแจ้งให้ การรถไฟฯ ทราบต่อไป

               ทั้งนี้ จากการดำเนินการตามนัยดังกล่าวข้างต้น กรมที่ดินได้ดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องรวมถึงคำพิพากษาศาลครบถ้วนเพื่อให้เกิดความถูกต้องเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย