วันที่ 17 ธันวาคม 2567 ที่โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เข้าร่วมเวทีเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางชุมชน ทิศทางประเทศไทย” ภายในงาน “15 ปีสัมมาชีพ สานพลังไทย สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางในการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน โดยมี ดร.อุตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมเวทีแลกเปลี่ยนความเห็น
นายนิพนธ์ กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานที่คลุกคลีกับประชาชนมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่การเป็น สมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จนถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และตำแหน่งรัฐมนตรี ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “หากต้องการทำให้ประเทศไทยเข้มแข็ง ต้องสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก นั่นคือชุมชนและท้องถิ่น”
นายนิพนธ์ กล่าวว่า หากทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศก็เข้มแข็ง ซึ่งการกระจายอำนาจถือเป็นหัวใจสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ จะเห็นได้ว่า ในอดีต ความเจริญถูกกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ หรือ มหานคร ขณะที่ชนบทยังคงขาดแคลนทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทุกด้านและโอกาสในการพัฒนา
แม้ในสมัย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี จะมีความพยายามในปรับปรุงชนบทผ่านการสร้างสาธารณูปโภค แต่เมื่อเริ่มยกฐานะ สภาตำบลเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อปี 2537 ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบทเริ่มลดลง และถึงวันนี้คงเหลือแต่เพียง เมืองขนาดเล็ก ขนาดกลางและเมืองขนาดใหญ่
“วันนี้เราต้องตั้งคำถามกันและหาแนวทางกันว่า จะทำอย่างไรให้เมืองมีความเหลื่อมล้ำน้อยลง ทั้งในแง่การเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข และ โครงสร้างพื้นฐาน เพราะหากทำได้ ความยากจนเชิงโครงสร้างก็จะลดลง และชุมชนก็จะสามารถยืนหยัดได้อย่างยั่งยืน
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ การลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองมหานคร กับ เมืองขนาดเล็กขนาดกลาง เราต้องเร่งสร้างเมืองมหานครใหม่ ๆ ในภูมิภาค ให้เติบโตเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง กรุงเทพมหานคร และ เมืองขนาดเล็ก
พร้อมกระจายความเจริญสู่ทุกภูมิภาค เราต้องกระจายความเจริญไปให้ทั่วทุกพื้นที่ ทำให้ทุกจังหวัดสามารถเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาได้เหมือนกรุงเทพฯ นี่ต่างหากคือทางรอดในการลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง” นายนิพนธ์กล่าว
นายนิพนธ์ยังวิพากษ์นโยบายการ “แจกเงิน” ที่ฝ่ายการเมืองมักใช้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยชี้ว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด และส่งผลให้ชุมชน สังคมยิ่งอ่อนแอลง
“การแจกเงินเหมือนการแจกปลา แต่ไม่สอนให้จับปลา สุดท้ายคนก็จะรอแค่ว่า รัฐบาลจะแจกอะไรต่อไป โดยไม่คิดถึงการสร้างโอกาสหรืออาชีพที่ยั่งยืน”
อดีตรมช.มหาดไทย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนที่แท้จริง ต้องมุ่งเน้นการสร้างรายได้จากอาชีพ ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และกระจายโอกาสให้เท่าเทียมกัน ที่สำคัญ ต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด มองเห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละพื้นที่ แทนที่จะใช้ยาแก้ปวดสูตรเดียว แก้ทั้งประเทศ
“การจะแก้ปัญหาให้สำเร็จได้ ต้องเหมือนหมอที่วินิจฉัยโรคอย่างแม่นยำ ต้องจ่ายยาให้เหมาะสมกับคนไข้ เพราะแต่ละพื้นที่ แต่ละตำบล ต่างมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกัน เราจึงต้องวางนโยบายที่ตอบโจทย์ของพื้นที่นั้นอย่างแท้จริง” นายนิพนธ์ กล่าว
นายนิพนธ์ เน้นย้ำว่า แทนที่รัฐบาลจะมุ่งเน้นการแจกเงินแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รัฐบาลควรเปลี่ยนแนวทางไปสู่การพัฒนาคน โดยสร้างทักษะและความรู้ที่เท่าทันเทคโนโลยีในโลก ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชน ลดเวลาเรียนที่ไม่จำเป็น และมุ่งเน้นการเรียนรู้ที่สามารถนำไปต่อยอดอาชีพและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้อย่างแท้จริง
นายนิพนธ์ ได้ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่พูดคุยกันในเวทีนี้ จะต้องไม่เป็นเพียงแค่คำพูดที่ลอยอยู่ในอากาศ แต่ต้องนำมาสู่การปฏิบัติจริง โดยเน้นการหาจุดร่วมที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน และเดินหน้าไปพร้อมกัน
“หากเราร่วมมือกันในสิ่งที่เห็นตรงกัน มันจะสร้างพลัง และพลวัตรที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงอนาคตของประเทศได้อย่างแท้จริง และหากเรากระจายอำนาจ กระจายโอกาสให้ทุกคนอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม ก็จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นได้ อันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชนที่ทุกคนปรารถนาอย่างยั่งยืน”