เกิดอะไรขึ้น“คดีบิ๊กโจ๊ก”ศาลปกครองยังไม่ตัดสินคดี!

20 พ.ย. 2567 | 18:27 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2567 | 18:39 น.

เกิดอะไรขึ้น“คดีบิ๊กโจ๊ก”ศาลปกครองยังไม่ตัดสินคดี! : รายงานพิเศษ โดย...ทีมข่าวการเมือง ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

KEY

POINTS

  • 20 พ.ย. 67 ศาลปกครองออกคำชี้แจงคดี "บิ๊กโจ๊ก" อยู่ระหว่างพิจารณา ยังไม่มีคำสั่งใดๆ  
  • 13 พ.ย. 67 เกิดความสับสน หลังประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด มีกระแสข่าวองค์คณะเจ้าของสำนวน เห็นว่าคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ไม่ชอบด้วยก.ม. และอีกกระแสว่า คำสั่งนั้นชอบแล้ว ไม่ควรคุ้มครองชั่วคราว
  • กูรูด้านกฎหมายชี้ว่าคดีนี้องค์คณะ 5 คนของศาลปกครอง ต้องใช้เวลา ตรวจสอบ และแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติม ประมาณ 1 ปีครึ่ง 

หลังเงียบไปเป็นเวลาร่วม 1 สัปดาห์ วันนี้ (20 พ.ย. 67) สำนักงานศาลปกครอง ได้ออกเอสารชี้แจงข่าวเกี่ยวกับการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่ บิ๊กโจ๊ก พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ยื่นฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่ให้ออกจากราชการไว้ก่อน ว่า

คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุด ยังไม่ได้มีคำพิพากษา หรือ คำสั่งใดๆ หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใดๆ สำนักงานศาลปกครองจะได้แจ้งให้สื่อมวลชนได้รับทราบต่อไป

นอกจากนี้ กรณีบางสื่อนำเสนอชื่อและรูปภาพของตุลาการศาลปกครองสูงสุด จำนวน 5 คน โดยระบุว่า เป็นองค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด ที่พิจารณาพิพากษาคดีของ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ นั้น ก็เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงแต่อย่างใด

                         เกิดอะไรขึ้น“คดีบิ๊กโจ๊ก”ศาลปกครองยังไม่ตัดสินคดี!

ก่อนหน้านั้น สับสนไปตามๆ กัน เรื่องคำร้อง “บิ๊กโจ๊ก” ที่เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันพุธ 13 พ.ย. 2567 กรณียื่นฟ้อง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) และ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กรณีคำสั่งให้ออกจากราชการไม่เป็นธรรม

ท่ามกลางกระแสข่าวที่เหวี่ยงไปมา อ้างข้อมูลวงใน ตั้งแต่ข่าวว่าองค์คณะชุดเล็ก 5 คน เจ้าของสำนวนคดี มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ ว่าคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ควรให้การคุ้มครองชั่วคราว ทำให้มีกระแสข่าวลือว่า ร้อนกันทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะ “บิ๊กโจ๊ก” จะกลับมา

ก่อนจะมีอีกกระแสข่าวในเวลาต่อมา อ้างที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด 57 คน เห็นว่า คำสั่ง “ให้ออกจากราชการไว้ก่อน” นั้นชอบแล้ว ไม่ควรให้การคุ้มครองชั่วคราว นำไปสู่ข่าวอีกกระแสว่า “บิ๊กโจ๊ก” หมดโอกาสหวนคืนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปิดฉาก “แมว 9 ชีวิต”

ยิ่งภายหลังที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองพากันปิดปากเงียบ ยิ่งไปกันใหญ่ เป็นเหตุให้เกรียนบอร์ดและนักเลงอินเตอร์ทั้งหลาย แชร์ข้อความว่อนเน็ตว่า ศาลยกฟ้องคดีคำสั่งให้ออกจากราชการ เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

กระทั่งมีผู้รู้ด้านกฎหมายและขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด โดยเฉพาะ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโส สำนักสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด ได้อธิบายความให้ผู้คนทั่วไป ที่เฝ้าติดตามเรื่องคดีนี้ ให้มีความเข้าใจ และกระจ่าง แม้ยังคงมีบางส่วนที่ยังไม่เข้าใจอยู่ดีก็ตาม

เริ่มตั้งแต่กรณีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ต้องผ่านที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดด้วย กรณีของ “บิ๊กโจ๊ก” ก็เช่นกัน

มติเอกฉันท์ 5-0 ขององค์คณะชุดเล็ก นายปรเมศวร์ ชี้แจงว่า ไม่ได้หมายความว่า “คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เห็นว่า ควรให้การคุ้มครองชั่วคราวไว้ก่อน ระหว่างรอคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด”

แต่เมื่อเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดพิจารณา กลับไม่เห็นชอบกับเรื่องให้การคุ้มครองชั่วคราว เพราะอายุรับราชการ “บิ๊กโจ๊ก” เหลืออีกถึง 6 ปี

เท่ากับระหว่างนี้ “บิ๊กโจ๊ก” ยังไม่ได้กลับคืนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะวินิจฉัย ซึ่งจะมีขั้นตอนกระบวนการ ตั้งแต่ให้ผู้ถูกฟ้องโดยตำแหน่ง ไม่ใช่ตัวบุคคล ทำรายงานเป็นเอกสารชี้แจงข้อถูกร้อง และจะต้องส่งคำชี้แจงดังกล่าวให้ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ เพื่อแก้ไขโต้แย้งอีกครั้ง ขั้นตอนนี้น่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน

จากนั้น จะเป็นขั้นตอนการตรวจสอบ และแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติม ขององค์คณะเจ้าของสำนวนจากเอกสาร ใช้วิธีไต่สวน ไม่มีการเบิกความ ก่อนจะสรุปทำแนวทางแถลงคดี 

โดยจะต้องเรียกผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องมารับฟังว่า จะเห็นด้วยหรือคัดค้านแนวทางแถลงคดีที่ว่า ก่อนจะรวบรวมเข้าสู่การพิจารณาขององค์คณะ 5 คน เชื่อว่าจะใช้เวลาในขั้นตอนต่าง ๆ ประมาณ 1 ปีครึ่ง
เท่ากับยังไม่ถึงขั้น “ปิดโอกาส” การกลับคืนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ของ “บิ๊กโจ๊ก” 

แต่สิ่งที่ นายปรเมศวร์ เป็นห่วงมากกว่า คือ คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่ปลายทาง เพราะจะมีผลต่อระบบและความน่าเชื่อถือ ในกระบวนการยุติธรรมอย่างเลี่ยงไม่พ้น เพราะเรื่องคำสั่ง ก.ตร. เรื่องนี้ คณะกฤษฎีกาเห็นต่างกับทางตำรวจ

หากคำวินิจฉัยเป็นไปตามแนวทางของตำรวจว่า เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย จะส่งผลกระทบและถือเป็นหายนะ ของคณะกรรมการกฤษฎีกา อย่างเลี่ยงไม่พ้น

เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นที่รวบรวมบรมครูด้านกฎหมาย และเป็นที่ปรึกษารัฐบาลและหน่วยงานราชการ เห็นแย้งว่า “คำสั่งไม่ชอบ” เพราะกฎหมายตำรวจแห่งชาติเปลี่ยนใหม่แล้ว หากจะทำต่อ ต้องยกเลิกคำสั่งปกครองแล้วออกใหม่ ไม่ใช่ให้เลิกเลย แต่ทางตำรวจยืนยันว่า คำสั่งถูกต้อง

ขณะเดียวกัน หากคำวินิจฉัยออกไปตามแนวทางของกฤษฎีกา ก็จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของตำรวจ เพราะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายโดยตรง แต่กลับใช้กฎหมายไม่เป็น แล้วประชาชนจะเชื่อถืออะไรได้ 

เรื่องคำสั่งให้ออกจากราชการของ “บิ๊กโจ๊ก” ก็เรื่องหนึ่ง แต่เรื่องผลที่เกิดขึ้นตามมา กลับมีแนวโน้มว่า จะใหญ่กว่า สำคัญกว่า และมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในหน่วยงานด้านยุติธรรมมากกว่า บานปลายไปไกลกว่าที่คาด