ดึงฟืนออกจากกองไฟ “เพื่อไทย” ถอยรื้อปมจริยธรรม

28 ก.ย. 2567 | 07:00 น.

ดึงฟืนออกจากกองไฟ“เพื่อไทย” ถอยรื้อปมจริยธรรม : ต้านทานเสียงพรรคร่วมรัฐบาลไม่ไหว ในที่สุด “พรรคเพื่อไทย” ก็ยอมถอย ยกเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ยุติรื้อปม “จริยธรรมร้ายแรง” รายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

KEY

POINTS

  • พรรคเพื่อไทยยกเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นว่าด้วยเรื่องจริยธรรม เหตุเพราะพรรคร่วมรัฐบาลไม่เอาด้วย 
  •  ขณะที่ “นักร้อง”ทั้งหลายออกมาขู่จะยื่นเอาผิดหากมีการแก้ไขธรรมนูญของสส.  เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์
  • การที่พรรคเพื่อไทยยอมถอย ไม่ดันทุรังเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ถือเป็นการดึงฟืนออกจากกองไฟ ที่อาจลุกลามทิ่มแทงใส่รัฐบาล จนล้มไม่เป็นท่าเอาได้


 

ต้านทานเสียงพรรคร่วมรัฐบาลไม่ไหว ในที่สุด “พรรคเพื่อไทย” ก็ยอมถอย ยกเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยเฉพาะความพยายามที่จะรื้อปม “จริยธรรมร้ายแรง” ที่มีความเห็นตรงกันกับ “พรรคประชาชน” ที่ก็ได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรนนูญในประเด็นเดียวกันนี้เข้าสู่สภาด้วย

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2567 ถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย ถอยการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ประเด็นจริยธรรม ว่า “เรื่องนี้จบแล้ว ไม่มีอะไร” 

นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวเช่นกันว่า พรรคเพื่อไทยจะถอยเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้เป็นมาตรการเร่งด่วน ส่วนการแก้ไขมรดกบาปจากการรัฐประหารนั้นต้องแก้ไขในรูปแบบแก้ทั้งฉบับโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)  

“ผมอยากให้เข้าใจว่ารัฐบาลโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ริเริ่มโดยพรรคแกนนำเอง แต่เมื่อได้รับฟังความเห็นสาธารณะ คิดว่าการแก้ไขเรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องที่ผลประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่ที่ประชาชน พรรคเพื่อไทยจึงรับฟังความเห็น โดยตอนแรกเราคิดว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะคิดเหมือนกัน แต่เมื่อได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งพรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ ต้องให้เกียรติกัน” นายอดิศร กล่าว

6 ประเด็น“เพื่อไทย”แก้รธน.

ก่อนหน้านั้น พรรคเพื่อไทย เสนอแก้รัฐธรรมนูญ ใน 6 ประเด็น ประกอบด้วย  

1.กำหนดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ซึ่งห้ามบุคคลที่ต้องโทษจำคุกโดยพ้นโทษไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง 

2.คุณสมบัติของรัฐมนตรี กรณีมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ ขอแก้เป็น “ไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่าไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต” 

กรณีไม่มีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง แก้ไขเป็น “ต้องเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในศาลฎีกา” และกรณีไม่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอลงโทษ แก้เป็น ให้เป็นเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170  

3.กลุ่มมาตราที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต และจริยธรรมที่กำหนดเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรี 

4.มติของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคดีต่างๆ ที่กำหนดให้ถือเสียงข้างมาก ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ 

5.อำนาจของ ป.ป.ช. พิจารณาคดีของสส. ต้องส่งให้ศาลฎีกา ในประเด็นร่ำรวยผิดปกติ แก้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น 5 ปี และไม่เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 

6.ให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับฉบับใหม่สามารถทำได้

                     ดึงฟืนออกจากกองไฟ “เพื่อไทย” ถอยรื้อปมจริยธรรม

พรรคร่วมต้านรื้อจริยธรรม

ข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญประเด็นจริยธรรม ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลอย่าง ภูมิใจไทย,  รวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ และ ชาติไทยพัฒนา ต่างส่งแกนนำออกมาส่งเสียงไม่เห็นด้วย

นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง กรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหาร และ สส.ของพรรค เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ว่า  มติพรรคภูมิใจไทยเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เดินหน้าไปสู่การทำประชามติ โดยจะแก้มาตรา 256 เปิดทางให้มี สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้กับสังคมไทย และประเทศไทย 

ขณะที่ นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการแก้ไขเรื่องจริยธรรมว่า “หากว่ามีก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการ เรามองว่าเป็นคุณสมบัติที่จำเป็น และเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของนักการเมืองและพรรคการเมือง”

เช่นเดียวกับ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) ที่เปิดเผยหลังประชุม สส.พรรค วันที่ 24 ก.ย. ว่า ประเด็นมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง พรรคเห็นว่า มาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมีความเหมาะสมแล้ว เพื่อให้ได้นักการเมืองที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ไร้ประวัติด่างพร้อย 

ดังนั้นพรรครวมไทยสร้างชาติ จึงมีมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข มาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง และไม่เคยมีการหยิบยกขึ้นมาหารือในระดับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลมาก่อนแต่อย่างใด

พปชร.ขวางแก้รัฐธรรมนูญ

พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรคพลังประชารัฐ แถลงผลประชุมพรรค เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ว่า ที่ประชุมได้พูดคุยถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการนิรโทษกรรม ผู้ต้องคดี มาตรา 112 โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ม.112 ไม่ว่าจะเกิดประโยชน์กับบุคคลหนึ่งบุคคลใด พรรคพลังประชารัฐจะคัดค้านและไม่เห็นด้วยในทุกมิติ 

ในส่วนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมนักการเมือง หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค และสมาชิกพรรคทุกคนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นรายมาตราหรือทั้งฉบับ โดยเฉพาะเรื่องการลดมาตรฐานจริยธรรม           

เบื้องหลังพท.ล้มแก้จริยธรรม

กระแสต่อต้านดังกล่าวทำให้ หลังการประชุมครม. เมื่อวันที่ 24 ก.ย. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ต้องเรียกหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล หารือ ก่อนจะไปประชุม สส.พรรคเพื่อไทย โดย นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ แจ้งยกเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา

โดยมีรายงานว่า พรรคร่วมรัฐบาล ให้เห็นผลเหตุกลัวจะมี “มือมืด” ร้องเรียนปมขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 ที่ระบุไว้ว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงําใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์”

ยื่นสภาเบรกแก้รัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2567 ที่รัฐสภา นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การกฎหมายการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เข้ายื่นหนังสือถึง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาชน เนื่องจากมองว่าเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 114  และไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลควรทำ 

นายสนธิญา อธิบายว่า สส.ของพรรคประชาชน จำนวน 44 คน หรือ พรรคก้าวไกลเดิม อยู่ระหว่างการสอบสวนและดำเนินการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ดังนั้น กรณีที่พรรคเพื่อไทยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา สนับสนุนการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้แก้ปัญหาให้ประชาชน เป็นการทำลายความชอบธรรมของระบบการคัดสรร ตั้งบุคคลเข้าสู่การดำรงตำแหน่งทางการเมืองการบริหารประเทศ

“พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน คือ พรรคที่ถูกร้องเรียนร้องทุกข์และถูกดำเนินคดีกรณีจริยธรรม คุณธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งปุถุชนคนธรรมดาสามารถรับรู้มองเห็นได้ ไม่ต้องตีความ”
ทั้งนี้การร่วมลงชื่อยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญของสส. เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ ที่ทำเพื่อประโยชน์พรรคการเมือง หรือผู้ที่ทำผิดกฎหมาย และจริยธรรม เพื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งในรัฐบาล  

นายสนธิญา ขู่ว่า หากมีการดำเนินการดังกล่าวในกลไกของรัฐสภา ตนเตรียมพิจารณายื่นเรื่องร้องเรียนประเด็นจริยธรรมต่อ ป.ป.ช. หรือในทุกหน่วยงานที่ทำได้ 

ยกเลิกจริยธรรมส่อขัดรธน. 

วันที่ 23 ก.ย. 2567 ที่สำนักงาน ป.ป.ช. นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติรักแผ่นดิน ได้เข้ายื่นคำร้องเพื่อขอให้ ป.ป.ช.ไต่สวนและวินิจฉัยกรณี สส. และพรรคการเมือง ยื่นแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยแก้ไขเปลี่ยนแปลงอำนาจ ป.ป.ช. และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบจริยธรรมนักการเมือง และอื่น ๆ เข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลกระโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 หรือไม่

นายศรีสุวรรณ ระบุว่า มีประเด็นที่อาจไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 185 โดยตรง ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช้สถานะหรือตําแหน่ง การเป็น สส. หรือ สว. กระทําการใด ๆ อันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่าย หรือแทรกแซง (หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ) เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม”

ก่อนหน้านี้มีนักการเมือง/พรรคการเมืองบางพรรค ต่างมีบาดแผลจากการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ถูก ป.ป.ช.วินิจฉัยส่งศาลฎีกาพิพากษาลงโทษ และหรือถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค ทำให้อดีตนักการเมืองหลายคนต้องพ้นจากตำแหน่ง 

ดังนั้น การที่นักการเมืองรีบเร่งขอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในเรื่องที่เกี่ยวกับจริยธรรม อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์โดยตรง

... การที่ “พรรคเพื่อไทย” ยอมถอย ไม่ดันทุรังเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญต่อ ถือเป็นการ “ดึงฟืนออกจากกองไฟ” ที่อาจลุกลามกลายเป็นหอกทิ่มแทงใส่รัฐบาล จนล้มไม่เป็นท่าเอาได้...