ตั้ง“ครม.อุ๊งอิ๊ง 1” พลังประชารัฐแตก ปชป.รอเทียบเชิญร่วมรัฐบาล

21 ส.ค. 2567 | 06:30 น.

ตั้ง “ครม.อุ๊งอิ๊ง 1” ทำ “พลังประชารัฐ” แตก “ธรรมนัส” ประกาศอิสรภาพ หลังชื่อหลุดโผ รมต. นำ 26 สส.พปชร. + 5 สส.พรรคเล็ก เข้าร่วมรัฐบาล ด้าน“ประชาธิปัตย์”รอเทียบเชิญร่วมรัฐบาล

KEY

POINTS

  • “ธรรมนัส”ประกาศอิสรภาพ 6 ปีที่ผ่านมา ผมรับใช้บุคคลๆ หนึ่ง พรรคๆ หนึ่ง มาพอสมควรแล้ว มันถึงเวลาที่ผมต้องเดินออกมาไม่ทะเลาะกับใคร
  • “ธรรมนัส”ทิ้งพลังประชารัฐ นำ 26 สส.พปชร. ผนึก 5 สส.พรรคเล็ก ชิงเข้าร่วมรัฐบาล ปล่อยให้กลุ่ม “ลุงป้อม” เหลือ สส.แค่ 14 คน
  • พรรคประชาธิปัตย์ รอเทียบเชิญร่วมรัฐบาล หากได้รับเชิญนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ขอมติจากทั้งกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.พรรค ทันที

ปรากฏการณ์อันเกิดจากการจัดตั้ง “ครม.อุ๊งอิ๊ง 1” หรือ รัฐบาลภายใต้การนำของ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ของไทย สิ่งที่เห็นคือ เกิดความแตกแยกขึ้นภายใน พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)  จนอาจกระทบต่อการร่วมรัฐบาลต่อไป และอาจเป็นโอกาสของ พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ในการเข้าร่วมรัฐบาลครั้งนี้

“ธรรมนัส”หลุดโผรมต.

ความแตกแยกภายในพรรคพลังประชารัฐ มีต้นตอมาจากการเสนอรายชื่อคนให้เข้าร่วม “ครม.อุ๊งอิ๊ง 1” โดยสัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ไม่มีรายชื่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รักษาการรมว.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรค หรือตัวแทน ติดโผรัฐมนตรี

หลัง ร.อ.ธรมนัส สุ่มเสี่ยงมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติการเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะ “นายกฯอุ๊งอิ๊ง” มีนโยบายให้ตรวจสอบคุณสมบัติอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา “ขัดต่อมาตรฐานจริยธรรม” อย่างที่ เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ เจอมาแล้ว จนทำให้ “ครม.” ต้องพ้นเก้าอี้กันทั้งคณะ

สำหรับโผ รมต. ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ที่ “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ให้ส่งรายชื่อไป ประกอบด้วย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะยังอยู่ในตำแหน่งเดิม นายสันติ พร้อมพัฒน์ จาก รมช.สาธารณสุข จะได้ขึ้นเป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์ แทน ร.อ.ธรรมนัส นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์ ยังจะอยู่ที่เดิม ขณะที่ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ คาดว่าจะได้นั่งเก้าอี้ รมช.สาธารณสุข แทน นายสันติ

“พลังประชารัฐ”แตก

เมื่อเวลา 11.45 น.วันที่ 20 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เดินออกจากลิฟต์ พร้อมด้วยนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ รวมไปถึง นายอรรถกร ศิริรยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกรรมการบริหารพรรค โดยก่อนแยกย้าย ร.อ.ธรรมนัส ได้กล่าวกับ นายสันติ ว่า เดี๋ยวเจอกันนะ

จากนั้นผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่า ได้มีการเคลียร์ใจกับ นายสันติ หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เราไม่ได้มีแผลถึงขนาดต้องเคลียร์กัน พร้อมปฏิเสธบอกตัวเลข สส. ที่จะมาร่วมแถลงข่าวในช่วงบ่ายวันนี้

เมื่อถามว่ายังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า “ผมพอแล้ว”

เมื่อถามย้ำว่าพอแล้วในทางการเมือง หรือ พอแล้วกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า “ผมเพิ่งเดินทางกลับมาจากพะเยา ยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น อยากจะบอกกับทุกท่านว่า ผมไม่ทะเลาะกับใคร ประสบการณ์ 6 ปีที่ผ่านมา ผมรับใช้บุคคลๆ หนึ่ง พรรคๆ หนึ่ง มาพอสมควรแล้ว มันถึงเวลาที่ผมต้องเดินออกมาไม่ทะเลาะกับใคร เพราะบทเรียนในรัฐบาลชุดที่แล้วสอน เราไม่ทะเลาะกับพี่กับน้อง ไม่ฆ่าน้อง ฟ้องนาย ขายเพื่อน อย่างเด็ดขาด 

ผมรักใครก็รักเกินไปจนลืมดูตัวเองและครอบครัว บทเรียนทำให้ครอบครัวเราต้องลำบาก ครั้งนี้จึงเลือกที่จะไม่ทะเลาะกับใคร ยอมถอยออกมาอยู่ในที่ของตัวเอง และครั้งนี้ผมได้บอกกับนายสันติ ว่า ท่านก็เดินของท่านไป ผมก็อยู่ของผม เราไม่ได้ทะเลาะกัน”

“ตาอยู่เอาไปกิน”

เมื่อถามว่าให้ทางพรรคเพื่อไทย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจใช่หรือไม่  ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า “ถูกต้อง การที่เราจะเสนอใครยังไม่รู้ว่าเขาจะเอาพรรคประชารัฐหรือไม่ ยังไม่มีคำตอบ แล้วเราก็เดินไปไกลโดยไม่ถามเจ้าของบ้านเลยว่าเขาจะเอาหรือไม่ ถือเป็นมารยาททางการเมืองที่เขาไม่ทำกัน”

เมื่อถามว่าจะแบ่งโควตารัฐมนตรีคนละ 2 ที่นั่งหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ แต่คิดว่างานนี้ตาอยู่เอาไปกิน

เมื่อถามย้ำว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะมาเสียบแทนใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า “เอาเป็นว่าเป็นตาอยู่ที่ไม่ได้อยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล”

                           ตั้ง“ครม.อุ๊งอิ๊ง 1” พลังประชารัฐแตก ปชป.รอเทียบเชิญร่วมรัฐบาล

"ธรรมนัส"นำ 31 สส.ร่วมรัฐบาล

บ่ายวันเดียวกัน ที่กระทรวงเกษตรฯ ร.อ.ธรรมนัส แถลงยืนยันว่า กลุ่มของตนเข้าร่วมรัฐบาล ขอยืนยันว่า สส.พลังประชารัฐ ที่ยืนอยู่ตรงนี้จำนวน 22 คน และมีอีก 7 คน ที่กำลังเดินทางมา เป็นรัฐบาลทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีตัวแทนพรรคเล็กมาร่วมด้วย

“พวกเราเป็นแนวร่วมจัดตั้งรัฐบาล ให้เกียรติผู้นำ เป็นอำนาจนายกฯ ว่าจะเลือกใครเป็นรัฐมนตรี ...ไม่มีใครอยากเป็นฝ่ายค้าน เพราะเวลาลงพื้นที่เหนื่อย” ร.อ.ธรรมนัส ระบุ 

ทั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัส ได้นำ 26  สส. จากพลังประชารัฐ และพรรคเล็ก 5 คน เข้าร่วมรัฐบาลเพื่อไทย และได้ส่งชื่อรัฐมนตรีในโควต้าไปแล้ว ส่วนเรื่องพรรคพลังประชารัฐรอแค่ขับพ้นพรรค 

สำหรับรายชื่อสส.ในกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส จากพรรคพลังประชารัฐ26 คน ประกอบด้วย 

1.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา 2.นายอนุรัตน์ ตันบรรจง สส.พะเยา 3. นายจีรเดช ศรีวิราช สส.พะเยา 4.นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ สส.เชียงใหม่ 5.นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร 6.นายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ สส.กำแพงเพชร 7.นายปกรณ์ จีนาคำ สส.แม่ฮ่องสอน 8.นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข สส.ตาก 9.นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา สส.ราชบุรี

10.นายจตุพร กมลพันธ์ทิพย์ สส.ราชบุรี 11. นายชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ สส.ราชบุรี 12.นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ สส.นราธิวาส 13.นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส 14. นายชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว สส.สงขลา 15.น.ส.พิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ สส.เพชรบูรณ์ 16.นายจักรัตน์ พั้วช่วย สส.เพชรบูรณ์

17.นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ สส.เพชรบูรณ์ 18.นายวรโชติ สุคนธ์ขจร สส.เพชรบูรณ์ 19.นายบุญชัย กิตติธาราทรัพย์สส.เพชรบูรณ์ 20.นายอัคร ทองใจสดสส.เพชรบูรณ์  

21.นายจำลอง ภูนวนทา สส.กาฬสินธ์ 22.นางรัชนี พลซื่อ สส.ร้อยเอ็ด 23. นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สส.ชัยภูมิ

24.นายสะถิระ เผือกประพันธุ สส.ชลบุรี 25.นายองอาจ วงษ์ประยูร สส.สระบุรี  26.นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา

ส่วนอีก 5 คน เป็นสส.บัญชีรายชื่อ มาจากพรรคเล็ก ประกอบด้วย

27.นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ พรรคพลังสังคมใหม่ 28.นายสุรทิน พิจารณ์ พรรคประชาธิปไตยใหม่ 29.นายกฤดิทัช แสงธนโยธิน พรรคใหม่ 30.นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล พรรคท้องที่ไทย 31.นายปรีดา บุญเพลิง  พรรคครูไทยเพื่อประชาชน

สำหรับพรรคพลังประชารัฐ มีสส.รวม 40 คน ทำให้กลุ่ม พล.อ.ประวิตร เหลือสส.ในสังกัดเพียง 14 คน

ปชป.รอเทียบเชิญร่วมรัฐบาล

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2567 ถึงกรณีมีข่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมรัฐบาล ว่า พรรคประชาธิปัตย์พร้อมที่จะเป็นทั้งฝ่ายค้าน และรัฐบาล แต่วันนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุย ถ้ามีการประสานงานมา จะต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค และขอมติจากทั้งกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.พรรค ทันที หากที่ประชุมว่าอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น 

“ขอย้ำว่า ต้องเป็นมติพรรค และทุกคนต้องปฏิบัติตามมติพรรค เพราะผมเป็นหัวหน้าพรรคที่ยึดในหลักการของพรรค”

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า "ถ้าไปร่วมก็ต้องไปทั้งพรรค แล้วจริงๆ ผมไม่เคยออกมาพูดเลยว่ากี่คนกี่คน เพราะผมเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์มีระเบียบมีวินัย ไม่อย่างนั้นเราจะตั้งข้อบังคับพรรคกันทำไม เพราะข้อบังคับพรรคจะต้องผ่านการจดทะเบียนจาก กกต.ไม่ใช่อยู่ดีๆ เราจะตั้งขึ้นมาเองได้ ทุกอย่างมีกฎหมายมีระเบียบรองรับทั้งหมด" 

ส่วนที่มีข่าวว่า ผู้ใหญ่ หรือ ส.ส.อาวุโสของพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันไม่ร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย  อาจจะไม่ยอมร่วมด้วยนั้น นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ก็ต้องไปถามท่านเหล่านั้น ตนตอบแทนไม่ได้ แต่ส่วนตัวในฐานะที่อยู่พรรคประชาธิปัตย์มา 20 กว่าปี ก็ยังเชื่อมั่นว่าคนของพรรคประชาธิปัตย์มีระเบียบมีวินัยและเคารพในกฎกติกา 

“ถ้าเราบอกว่าเราเป็นประชาธิปไตยแล้ว หากไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ของพรรคก็จบเห่ ซึ่งจะเห็นว่าตอนที่ลงมติเลือกนายกฯ  ส.ส.ทุกคน ก็ปฏิบัติตามมติของพรรค เป็นมติของ ส.ส.ไม่ใช่มติของกรรมการบริหารพรรค”

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า วันนี้ประเทศต้องเดินไปข้างหน้า เพราะขณะนี้ศรษฐกิจแย่ยิ่งกว่าการเมือง ดังนั้น จึงคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ประเทศเดินไปได้ ซึ่งในส่วนของพรรค ปชป. ยืนยันไม่ว่าเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่

เมื่อถามย้ำว่าถ้ามีการเชิญร่วมรัฐบาลก็พร้อมที่จะทำงานใช่หรือไม่ นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ต้องรอให้ถึงเวลานั้นก่อน ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ และเชื่อว่าไม่น่าจะมีการไปดิวกับแกนนำคนอื่น เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีกลุ่มนั้นกลุ่มนี้แล้ว เนื่องจากมอบอำนาจให้ตนในฐานะหัวหน้าพรรคในการตัดสินใจ 

นายเฉลิมชัย ย้ำด้วยว่า ในฐานะที่นั่งหัวหน้าพรรค หากมีการตัดสินใจใดๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ จะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งถึงขั้นพรรคแตกอย่างแน่นอน ตนมั่นใจ

สำหรับพรรค ปชป. มี สส. 25 เสียง แต่ที่ผ่านมาจะมี สส.อยู่ 4 เสียง ที่ไม่เห็นด้วยกับการร่วมรัฐบาลเพื่อไทย ประกอบด้วย นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 3 สส.บัญชีรายชื่อ และ นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา