เปิดฉบับเต็มคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล

07 ส.ค. 2567 | 18:09 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ส.ค. 2567 | 18:23 น.

ศาลรัฐธรรมนูญมติเอกฉันท์ “ยุบพรรคก้าวไกล” ตัดสิทธิ์ 11 กก.บห. ชี้นโยบายหาเสียงแก้ ม.112 มีเจตนาทำสถาบันอ่อนแอ เป็นการกระทำล้มล้าง-เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ อัดนักวิชาการ-ทูต ต้องมีมารยาท รธน.และบริบทกฎหมายแต่ละประเทศแตกต่างกัน

วันนี้( 7 ส.ค. 67) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงด้วยวาจา และลงมติกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรค และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ 

หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือพ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง 
เนื่องจากมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิบัติต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

โดยนายอุดม สิทธิวิรัช ตุลาการศาล เริ่มอ่านคำวินิจฉัยว่า พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 45 วรรค 1 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมือง ตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่กฎหมายบัญญัติ มีความมุ่งหมายเพื่อรับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองให้กับประชาชน 

เนื่องจากพรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความมุ่งหมายในการหล่อหลอมความคิด อุดมการณ์ เจตจำนงและความต้องการของประชาชน ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เข้าไว้ด้วยกันกำหนดเป็นนโยบายของพรรคเพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนผ่านผู้แทน 

พรรคการเมืองจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามแม้บุคคลจะมีเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 45 รับรองไว้ แต่เสรีภาพดังกล่าวไม่ใช่เสรีภาพอันไร้ขอบเขตหรือไม่มีเขตแดนจำกัด เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองจะถูกกำกับโดยรัฐธรรมนูญและวิถีทางทางการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่กฎหมายบัญญัติเสมอ 

รัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 บัญญัติว่าบุคคลจะใช้สิทธิ์หรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคหนึ่งบัญญัติว่าเมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น ดังต่อไปนี้ 
(1)กระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ หรือจะทำการโดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

(2)กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และวรรค 2 บัญญัติว่าเมื่อศาลแล้วจะธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการตามวรรค 1ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น 

รัฐธรรมนูญมาตรา 49 ได้บัญญัติรับรองสิทธิ์ให้แก่บุคคลในการต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งการกระทำใดๆ ที่บุคคลหรือพรรคการเมืองอ้างการใช้สิทธิ์เสรีภาพล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้มีการตรวจสอบและวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำที่เป็นอันตรายต่อการปกครอง โดยเป็นมาตรการในการป้องกันล่วงหน้า ส่วนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรค 1 (1) และ (2) เป็นกฎเกณฑ์ที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 49 และมีความสัมพันธ์กับหลักประชาธิปไตยที่ปกป้องตนเองได้ 

โดยมีการบัญญัติให้มีการยุบพรรคการเมือง อันถือเป็นหนึ่งของกลไกการปกป้องตนเองได้เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากพรรคการเมืองที่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การยุบพรรคการเมืองจึงเป็นมาตรการตอบโต้เพื่อหยุดยั้งทำลายหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอีกต่อไปในภายภาคหน้า 

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ศาลรัฐธรรม นูญมีคำวินิจฉัย 3/2567วันที่ 31 ม.ค.67 วินิจฉัยว่าการที่ส.ส.สังกัดพรรคผู้ถูกร้องเพียงพักเดียว รวม 44 คน เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่...พ.ศ....)(แก้ไขเกี่ยวกับฐานความผิดหมิ่นประมาท) ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีเนื้อหาแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 112จากเดิมที่เป็นหมวด 1 ลักษณะ 1ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรให้เป็นลักษณะ 1/2 ความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ของพระมหากษัตริย์ ของพระราชินี ลักษณะญาติและพระเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเสนอเพิ่มบทมาตราให้ผู้กระทำผิดพิสูจน์เหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษ 

อีกทั้งให้ความผิดตามมาตรา112 เป็นความผิดอันยอมความได้ โดยให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์และให้ถือว่าเป็นผู้ใช้เพียงหน่วยงานเดียว ผู้ถูกร้องใช้นโยบายพรรคที่มีเนื้อหาในลักษณะทำนองเดียวกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป 2566 และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งยังมีพฤติการณ์รณรงค์ทางการเมืองโดยการเข้าร่วมชุมนุมจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการให้ยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมีกรรมการบริหารพรรคสส.สมาชิกพรรคผู้ถูกร้องเป็นนายประกัน ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือตกเป็นผู้ต้องหาในความผิดดังกล่าวเสียเอง และแสดงความคิดเห็นในการแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ผ่านกิจกรรมทางการเมืองหรือสื่อสังคมออนไลน์ หลายครั้งอันเป็นความมุ่งหมายใช้สิทธิ์เสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง 

และศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้ผู้ถูกร้องเลิกการแสดงความคิดเห็น การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งมิใช่กระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย

รัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 2 ผู้ร้องได้พิจารณาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่3/2567 แล้วจึงมีมติในการประชุมครั้งที่ 10/2567 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 67 ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องกระทำการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญพรรคการเมือง มาตรา92 วรรค 1 (1) และ(2)ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อยุบพรรคผู้ถูกร้อง

มีประเด็นต้องวินิจฉัยก่อนว่ารัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องผู้ร้องไว้วินิจฉัยหรือไม่ ในประเด็นนี้ผู้ถูกร้องยื่นคำโต้แย้งว่าศาลรัฐธรรมนูญมีเขตอำนาจวินิจฉัยคดีเฉพาะตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เนื่องจากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำของผู้ถูกร้องตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 3/2567

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการใช้สิทธิ์เสรีภาพล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 บทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการสั่งเลิกการกระทำนั้นๆ มิได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมือง การที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง าตรา 92 (1) และ( 2)ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ใช้บังคับมิได้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยคดีนี้ 

เห็นว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ เป็นกฎเกณฑ์ที่เป็นการจัดระเบียบอำนาจสูงสุดของรัฐ โดยวางกรอบการใช้อำนาจ ที่ให้อำนาจและบทบาทขององค์กรต่างๆ และกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครอง กฎเกณฑ์ดังกล่าวอาจอยู่ในรูปแบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรหรือที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อกำหนดรายละเอียดและแนวทางการปฏิบัติต่างๆเฉพาะแต่ละเรื่องภายในขอบเขตที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้มีเนื้อหาสาระโดยตรงเกี่ยวข้องกับที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ทำหน้าที่ขยายเนื้อความในรัฐธรรมนูญให้มีความสมบูรณ์และสามารถบังคับใช้ได้ เพื่อให้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

อีกทั้งยังทำให้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดบัญญัติแต่เพียงหลักการสำคัญกระชับได้ใจความ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐธรรม นูญเป็นอย่างยิ่ง รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 เป็นบทบัญญัติที่มุ่งหมายคุ้มครองการปกครองของประเทศ โดยการรับรองสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญให้ประชาชนปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

บทบัญญัติลักษณะนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 63 วรรค 1 ซึ่งบัญญัติว่าบุคคลจะใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ วรรค 2 บัญญัติว่าในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรค 1ผู้รู้เห็นการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิ์ยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว และวรรค 3 บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกการกระทำดังกล่าวตามวรรค 2 ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้

รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 68 และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังคงบัญญัติหลักการเดิมไว้ โดยมาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าบุคคลจะใช้สิทธิ์เสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ และวรรค 2 บัญญัติว่าผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรค 1 ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ สำหรับว่าด้วยพรรคการเมือง มีเหตุผลในการประกาศใช้เนื่องจากรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญบัญญัติให้บุคคลมีสิทธิ์เสรีภาพ ในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่กฎหมายบัญญัติ 

รวมทั้งต้องมีมาตรการในการกำกับดูแลสมาชิกของพรรคการ เมืองให้ไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งจึงสมควรกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดตั้งพรรคการเมืองและการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยมาตรา 92 บัญญัติหน้าที่และอำนาจของกกต.ในการควบคุมตรวจสอบพรรคการเมือง ที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองนั้นได้ ได้แก่ 

( 1) ทำการอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มา หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง โดยวิถีทางที่ไม่ได้เป็นไปตามทีาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 

(2)กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

นายจิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ดังนั้น แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 210 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจในการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ของกฎหมาย และร่างกฎหมาย พิจารณาและวินิจฉัยกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน้าที่และอำนาจอื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดย มาตรา 210 วรรคท้าย ให้นำความตามมาตรา 188 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า ให้การพิจารณา พิพากษา คดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ มาใช้บังคับเขตศาลรัฐธรรมนูญด้วยโดยอนุโลม และมาตรา 49 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยสั่งการให้บุคคลที่ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เลิกกระทำการดังกล่าว 

โดยไม่ได้บัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองที่มีการกระทำล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้ในรัฐธรรมนูญโดยตรงดังเช่นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ 2540 มาตรา 63 วรรคสาม หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ 2550 มาตรา 68 วรรคสาม ก็ตาม 

แต่เจตนารมณ์ในการคุ้มครองปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดย่อมแสดงออกโดยการรับรองสิทธิ พิทักษ์รัฐธรรมนูญให้กับประชาชน และให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองได้ หากมีข้อเท็จจริงว่า มีบุคคลหรือพรรคการเมืองจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 49 จะไม่มีข้อความว่า หากมีกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการ ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้ จากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแ ละตามบทบัญญัติของกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมี หน้าที่และอำนาจ พิจารณา วินิจฉัยคดีดังต่อไปนี้ 

อนุมาตรา 13 คดีอื่นๆ ที่รัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น กำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาล และพ.ร.ป.ว่า ด้วยพรรคการเมืองพ.ศ 2560 มาตรา 92 ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยคดี และสั่งยุบพรรคการเมืองได้ ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องฟังไม่ขึ้น

ประเด็นพิจารณาวินิจฉัยต่อไปมีว่า ผู้ร้องได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องได้มีโอกาสโต้แย้ง และแสดงพยานหลักฐานยืนยันหักล้างหรือไม่ ในประเด็นนี้ ผู้ถูกร้องได้ยื่นคำโต้แย้งว่า ผู้ร้อง ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 93 ประกอบระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ 2566 ข้อ 7 ทำให้ผู้ถูกร้องไม่มีโอกาสทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และไม่มีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

เห็นว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคการเมืองนั้น และมาตรา 93 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็น ต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์วิธีการที่คณะกรรมการกำหนด 

จะเห็นได้ว่า การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้นได้ 2 กรณี ได้แก่ กรณีที่ 1 คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดได้กระทำการที่เข้าลักษณะตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง อนุมาตรา 1 ถึงอนุมาตรา 4 และ กรณีที่ 2 เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าพรรคการเมืองใด กระทำการตามมาตรา 92 นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เพื่อเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมืองพ.ศ 2566 

จึงเป็นกรณีที่กฎหมายวางกฎเกณฑ์ของผู้เริ่มกระบวนการและลักษณะของข้อเท็จจริงไว้แตกต่างกัน ดังนั้นหากคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองมีการกระทำที่เข้าลักษณะที่กฎหมายบัญญัติคณะกรรมการการเลือกตั้งย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ 

ในทางตรงข้ามหากเพียงความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง นายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ก่อนการยื่น ต่อศาลรัฐธรรมนูญ 

คดีนี้ผู้ร้องมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า มีการกระทำอันเป็นเหตุยุบพรรคการเมือง ผู้ถูกร้องโดยอาศัยข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 อันเป็นพยานหลักฐาน ที่ไม่อาจรับฟังเป็นอย่างอื่นได้ผู้ร้องในฐานะคณะกรรมการการเลือกตั้ง สามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคหนึ่ง 

ประกอบกับผู้ร้องชี้แจงตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง และความเห็นเป็นหนังสือว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2566 นายพัชรนนท์ ธนาโชติโภคิน ผู้ร้องเรียนได้ร้องเรียนต่อผู้ร้องว่า ผู้ถูกร้องได้ใช้นโยบายการแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นนโยบายการหาเสียงเลือกตั้ง ที่สวนสาธารณะเทศบาลแหลมฉบัง อำเภอศรีราชาจังหวัดชลบุรี ผู้ร้องรับคำร้องไว้และส่งเรื่อง ให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง คณะที่ 2 ตามคำสั่งนายทะเบียนพรรคการเมืองที่ 1/ 2566 เพื่อตรวจสอบแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน 

ต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงคณะที่ 2 ตรวจคำร้องและเอกสาร ประกอบคำร้องแล้วมีความเห็นไม่รับคำร้องไว้ดำเนินการเนื่องจากคำร้อง ไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลเพียงพอว่าผู้ถูกร้องกระทำการอันอาจเป็นปฏิบัติต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง  มาตรา 92 วรรคหนึ่ง อนุมาตรา 2 วันที่ 26 ก.ย 2566 สำนักกิจการพรรคการเมืองรายงานต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องกรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกสร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ในประเด็นเดียวกับคำร้อง ของนายพัชรนนท์ ธนาโชติโภคิน จึงให้รอการดำเนินการเกี่ยวกับคำร้องนี้ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยก่อน หลังมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 วันที่ 31 ม.ค. 2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และนายธีรยุทธ สุวรรณเกสร ยื่นคำร้องต่อผู้ร้องขอให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญในมูลกรณีเดียวกัน 

คณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมืองคณะที่ 6 มีการประชุมครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2567 พิจารณาคำร้อง 3 ฉบับแล้วเห็นว่า ผู้ร้องมีมติในการประชุมครั้งที่ 10/2567 วันที่ 12 มี.ค. 2567 ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้มีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง อนุมาตรา 1 และอนุมาตรา 2 กรณีไม่มีเหตุต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเสนอต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง และไม่มีเหตุที่นายทะเบียนพรรคการเมือง ต้องเสนอให้ผู้ร้องพิจารณาตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมืองพ.ศ 2566 ข้อ 7 และข้อ 9 

แม้การดำเนินการของผู้ร้องในคดีนี้แรกเริ่ม เป็นคดีที่มีความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งต้องดำเนินการพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูว่าด้วย พรรคการเมือง 2560 มาตรา 93 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง 2566 ข้อ 5 ซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการตาม กระบวนการดังกล่าวโดยแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงคณะที่ 2 แล้วก็ตาม 

แต่เมื่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 มีข้อเท็จจริงเป็นมูลกรณีเดียวกัน และเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่ผู้ร้องเห็นว่าไม่อาจโต้แย้งเป็นอย่างอื่นได้ เป็นกรณีมีพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องกระทำการอันเป็นเหตุ ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอันเป็นการดำเนินการตามมาตรา 92 เหตุดังกล่าวทำให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของนายทะเบียนพรรคการเมืองยุติการรวบรวมพยานหลักฐาน การดำเนินการของนายทะเบียนพรรคการเมือง ตามมาตรา 93 จึงยุติลง ผู้ร้องไม่จำเป็นต้องย้อนกระบวนการเพื่อให้นายทะเบียนพรรคการเมืองรวบรวม ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานก่อน ขั้นตอนดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่ากระบวนการยื่นคำร้องของผู้ร้องตามมาตรา 92 และมาตรา 93 เป็นคนละส่วนกัน 

อย่างไรก็ตาม แม้คดีนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่ได้ดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน และให้โอกาสผู้ถูกร้องรับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ หรือโต้งแย้งแสดงหลักฐานของตนก็ตาม แต่เมื่อคดีนี้กับคดีตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 เป็นคดีที่มีมูล กรณีและผู้ถูกร้องเป็น บุคคลเดียวกันการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณา คดีตามคําวินิจฉัยที่ 3/2567 โดยการแต่งสวนพยานหลักฐานต่อหน้าผู้ร้องและผู้ถูกร้องทราบข้อกล่าวหาข้อเท็จจริง และมีโอกาสตรวจคัดค้าน พยานหลักฐานในสำนวนทั้งหมดรวมทั้ง ได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนอย่างเต็มที่ต่อหน้าศาลแล้วจึงถือว่าเป็นกระบวนการไต่สวนคดี รัฐธรรมนูญที่ให้ความเป็นธรรมยิ่งไปกว่าการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องจึงไม่อาจรับฟังได้

นายวิรุฬห์ แสงเทียน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัย ว่า ส่วนข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องที่ว่าผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอาศัยข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า หากปล่อยให้ผู้ถูกร้องกระทำการต่อไปย่อมไม่ไกลเกินกว่าเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ การกระทำของผู้ถูกร้องจึงยังไม่มีผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯและภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้ผู้ถูกร้องเลิกการกระทำ

ผู้ถูกร้องได้นำนโยบายเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ออกจากเว็บไซต์ของพรรคผู้ถูกร้อง อีกทั้งมาตรฐานการพิสูจน์คดีตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2567 ใช้มาตรฐานชัดเจนและน่าเชื่อถือ คดีนี้ย่อมต้องใช้มาตรฐานที่ระดับเดียวกับคดีอาญาที่ต้องพิสูจน์จนสิ้นสงสัย จึงไม่อาจนำข้อเท็จจริงหรือผลของคำวินิจฉัยที่ 3/2567 มาผูกพันการพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญต้องไต่สวนพยานหลักฐานใหม่ทั้งหมดนั้น 

เห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 49 บัญญัติขึ้นลักษณะป้องกันมิให้บุคคลใดอ้างสิทธิหรือเสรีภาพของตนเพื่อใช้ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นผลเสียหายอย่างร้ายแรงที่คาดการณ์ได้อย่างแน่นอนว่าจะเกิดขึ้น หากการกระทำนั้นยังคงดำเนินการอยู่ และให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุดังกล่าวเกิดขึ้น

แม้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะยังไม่ถูกยกเลิกไปหรือสิ้นไปก็ตาม แต่หากมีข้อเท็จจริงที่ว่าการกระทำเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 เกิดขึ้นแล้ว การกระทำนั้นจะเป็นความผิดสำเร็จทันทีโดยไม่ต้องรอให้มีผลการกระทำปรากฎขึ้นก่อน 

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยที่ 3 / 2567 ว่า ผู้ถูกร้องมีส่วนร่วมการกระทำหลายพฤติการณ์ประกอบกันต่อเนื่องเป็นกระบวนการ ตั้งแต่เสนอร่างกฏหมายฯ ที่มีเนื้อหาลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ และใช้เป็นนโยบายและในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง การชุมนุมเรียกร้อง การจัดกิจกรรมทางการเมือง การรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หากยังปล่อยให้ผู้ถูกร้องกระทำการต่อไปย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ 

การกระทำของผู้ถูกร้องจึงเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ โดยเป็นความผิดสำเร็จตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 แม้ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ สั่งการให้เลิกการกระทำและผู้ถูกร้องได้นำนโยบายออกจากเว็บไซต์ของพรรคผู้ถูกร้องก็ตาม 

เมื่อพิจารณามาตรฐานการพิสูจน์ที่ใช้แต่ละคดี ย่อมหมายถึงมาตรฐานหรือระดับความน่าจะเป็นไปได้ที่จะใช้พิสูจน์ ข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งว่าเป็นความจริงหรือไม่ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานที่นำสืบเพื่อให้ศาลช่างพยานน้ำหนักหลักฐานการวินิจฉัยชี้ขาดคดี มาตรฐานการพิสูจน์คดีแต่ละประเภท แตกต่างกัน แต่สัมพันธ์กับความมุ่งหมายของคดีและวัตถุประสงค์ หากเป็นคดีประเภทเดียวกันย่อมมีมาตรฐานการพิสูจน์อย่างเดียวกัน 

เมื่อคดีนี้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง จะแตกต่างจากคำวินิจฉัยที่ 3 / 2567 เป็นการพิจารณาวินิจฉัยเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เลิกการกระทำ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง เป็นคดีรัฐธรรมนูญ ที่มีมูลคดีเดียวกัน แต่แตกต่างกันที่มาตรการ ที่ ศาลรัฐธรรมนูญ จะใช้บังคับ คดีนี้กับคดีตามคำวินิจฉัยที่ 3 / 2567 จึงเป็นคดีรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน 

ศาลรัฐธรรมนูญย่อมต้องใช้ มาตรการพิสูจน์พยานหลักฐานรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 27 บัญญัติให้ การพิจารณาคดีของศาลใช้ระบบไต่สวน ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจค้นหาความจริงโดยการพิจารณาวินิจฉัยคดีตามคำวินิจฉัยที่ 3 / 2567 ศาลรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงอย่างเข้มข้นตามมาตรฐานการพิสูจน์ขั้นสูงสุดแล้ว ข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาและผลของคำวินิจฉัย คดีตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3 / 2567 จึงรับฟังในคดีนี้ได้ ไม่จำต้องไต่สวนพยานใหม่ เพื่อมาตรฐานในการพิสูจน์ที่แตกต่างไปดังอ้าง 

สำหรับข้อโต้แย้ง ผู้ถูกร้องที่ว่าพรรคผู้ถูกร้องมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง2560 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง การกระทำใดๆ ต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการบริหารพรรคจึงจะผูกพันและถือเป็นการกระทำของพรรค เมื่อการกระทำตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3 / 2567 เป็นการกระทำของส.ส.สังกัดพรรคผู้ถูกร้อง ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ได้ตกอยู่ใต้อาณัติของพรรคตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 อีกทั้งการแสดงความคิดเห็น การเป็นนายประกัน หรือการเป็นผู้ต้องหา จำเลยคดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของส.ส. เป็นการกระทำในฐานะส่วนตัว การกระทำตามคำวินิจฉัยที่ 3/2567 จึงไม่ใช่การกระทำของพรรคผู้ถูกร้องนั้น เห็นว่า ผู้ถูกร้องเป็นพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อดำเนินกิจการทางการเมืองตามหลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยฯ 

เมื่อข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ฟังเป็นยุติแล้วว่า การเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ .. พ.ศ. … (แก้ไขความผิดฐานหมิ่นประมาท) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 มีเนื้อหาลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการดำเนินการโดยส.ส.สังกัดพรรคผู้ถูกร้องทั้งสิ้นเพียงพรรคเดียว และผู้ถูกร้องเบิกความต่อศาลยอมรับว่านำเสนอนโยบายทำนองเดียวกับร่างนโยบายดังกล่าวต่อผู้ร้อง โดยใช้เป็นนโยบายรณรงค์หาเสียงการเลือกตั้งส.ส. และนโยบายนี้ปรากฎอยู่บนเว็บไซต์พรรค ถือได้ว่าผู้ถูกร้องได้ร่วมกับสมาชิกส.ส.สังกัดพรรคผู้ถูกร้อง เสนอนโยบายดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ถูกร้องเสนอนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ยื่นต่อผู้ร้องและใช้เป็นนโยบายของพรรคหาเสียง การรณรงค์ การแสดงความคิดเห็นบนเวทีปราศรัยหรือสื่อสังคมออนไลน์หลายครั้ง 

หรือเป็นนายประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีมาตรา 112 หรือเป็นผู้ต้องหาและจำเลยความผิดดังกล่าวเสียเอง แม้การกระทำต่างๆเหล่านี้จะไม่ได้กระทำโดยกรรมการบริหารพรรค แต่คณะกรรมการบริหารพรรคมีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลไม่ให้สมาชิกพรรคกระทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเช่นนี้ จึงเป็นการกระทำที่มุ่งหวังผลักดันเพื่อให้นโยบายของพรรคผู้ถูกร้องสำเร็จลงตามความมุ่งหมาย ถือเป็นการกระทำความผิดโดยอ้อมของพรรคผู้ถูกร้อง โดยใช้สส.หรือสมาชิกพรรคเป็นตัวแทนหรือเป็นเครื่องมือในการกระทำผิด 

อีกทั้งผู้ถูกร้องลงนามข้อตกลงร่วมจัดตั้งรัฐบาลและสัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับนโยบายพรรคในการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และแสดงบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองสอดรับกับกลุ่มการเมืองต่างๆ โดยการรณรงค์ ปลุกเร้า ยุยง ปลุกปั่น เพื่อสร้างกระแสสังคมให้ร่วมสนับสนุนการยกเลิกหรือแก้ไข ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขุ่นเคืองขึ้นในหมู่ประชาชน และนำมาซึ่งความแตกแยกระหว่างชนในชาติ อันมีลักษณะยุยงให้เกิดการเกลียดชัง ย่อมส่งผลให้หลักการคุณค่าของรัฐธรรมนูญที่รองรับการดำรงอยู่ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของรัฐต้องถูกล้มเลิกและสูญเสียไป ผู้ถูกร้องไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดได้ ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้อง จึงไม่อาจรับฟังได้ 

นายนพดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยว่า ประเด็นพิจารณาวินิจฉัยมีว่า การกระทำของผู้ถูกร้องตามข้อเท็จจริงในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ไม่เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ เป็นการกระทำอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2) และข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองไม่ได้สัดส่วน และจำเป็นถึงขนาดต้องยุบพรรคผู้ถูกร้อง ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตามข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องหรือไม่ 

เห็นว่าผู้ถูกร้องยื่นชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาโต้แย้งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 โดยอ้างข้อเท็จจริงว่าการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดผู้ถูกร้อง มีเนื้อหาให้เปลี่ยนฐานความผิดออกจากลักษณะหนึ่ง ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ การเสนอให้มีบทยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษ และการเสนอให้ความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดอันยอมความได้ ไม่ได้เป็นการลดทอนความคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ 

ผู้ถูกร้องไม่มีเจตนามุ่งหมายจะแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเป็นชาติไทยออกจากกัน แต่เป็นแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายทั่วไปและหลักสากลเท่านั้น หรือผู้ร้องไม่เคยสั่งห้ามมิให้ผู้ถูกร้องใช้นโยบายการเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นนโยบายการหาเสียงของพรรคผู้ถูกร้อง และผู้ร้องเคยมีความเห็นไม่รับคำร้องกรณีมีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับการหาเสียงด้วยนโยบายดังกล่าว 

หรือสมาชิกสังกัดพรรคผู้ถูกร้องเข้าร่วมรณรงค์ทางการเมือง หรือจะเป็นความเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการกระทำเฉพาะตัวและเข้าไปเพื่อสังเกตการณ์เพื่อรับฟังข้อเรียกร้องจากประชาชน เป็นนายประกัน หรือการเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต้องด้วยหลักการที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด หรือการติดสติ๊กเกอร์ในช่องยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ บนเวทีปราศรัยหาเสียง ที่จังหวัดชลบุรี เป็นการบริหารสถานการณ์ในการปราศรัยเท่านั้น 

อีกทั้งการที่ผู้ถูกร้องคัดค้านพยานหลักฐานหมายเลข ศ1 (ศ21 - ศ37)  ซึ่งพยานหลักฐานที่ใช้พิจารณาวินิจฉัยคดีตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ข้อเท็จจริงต่างๆที่ผู้ถูกร้องยกขึ้นกล่าวอ้างหรือคัดค้าน ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่เดิมหรือเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ถูกร้องเคยยกขึ้นต่อสู้ในชั้นพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในคดีตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 มาแล้วทั้งสิ้น 

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญฟังข้อเท็จจริงอาจเป็นที่ยุติแล้ว ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่าพฤติการณ์ดังกล่าวของผู้ถูกร้องเป็นการใช้สิทธิประสิทธิภาพเพื่อการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทำเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 211 วรรคสี่บัญญัติว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมต้องผูกพันศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ด้วย

ส่วนการกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่นั้น เห็นว่าการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ย่อมร้ายแรงกว่าการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เนื่องจากการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองหมายถึงจะทำตน ต่อต้าน เป็นฝ่ายตรงข้าม 

ฉะนั้นเมื่อข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยที่ 3/2567 รับฟังได้ว่าผู้ถูกร้องกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ย่อมเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วย เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่า คำว่าปฏิปักษ์ไม่จำเป็นจะต้องรุนแรงถึงมีเจตนาที่จะล้มล้างทำลายให้สิ้นไป ทั้งยังไม่จำเป็นต้องถึงขนาดตั้งตนเป็นศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น เพียงแค่เป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการขัดขวางหรือสกัดกั้นมิให้เจริญก้าวหน้า หรือเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดผลเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายและอ่อนแอลง ก็เข้าลักษณะของการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์แล้ว

การนำสถาบันพระมหากษัตริย์ไปใช้เพื่อความได้เปรียบและมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมือง จึงเป็นการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่าพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งโดยใช้ประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อหวังผลคะแนนเสียงและชนะการเลือกตั้ง เป็นการมุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะผู้ขัดแย้งกับประชาชน 

ผู้ถูกร้องมีเจตนาเซาะกรอนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์หรือทำให้อ่อนแอลง อันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด การกระทำของผู้ถูกร้องจึงเข้าลักษณะการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอีกด้วย 

นับแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 เป็นต้นมาการปกครองของประเทศไทยได้ดำรงเจตนารมณ์ยึดมั่นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต่อเนื่องมาตลอด แสดงให้เห็นถึงการตระหนักและยอมรับค่านิยมนานาชาติว่าด้วยการปกครองระบอบประชาธิปไตย 

ดังจะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 2 ที่บัญญัติว่าประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งการยึดหลักนิติธรรมอันเป็นสากลด้วยดังปรากฏในมาตรา 3 วรรคสอง ตลอดจนปกป้องสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 4 และหลักการว่าด้วยความเป็นอิสระของศาลตามมาตรา 188 วรรคสอง 

ในขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐจะกระทำไม่ได้

ดังนั้น เมื่อข้อเท็จรับฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคผู้ถูกร้องร่วมกันเสนอร่างกฎหมาย แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีเนื้อหาลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ และใช้เป็นนโยบายพรรคผู้ถูกร้องยังมีพฤติการณ์เข้าร่วมรณรงค์ทางการเมืองให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยมีกรรมการบริหารพรรค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกพรรคผู้ถูกฟ้อง เป็นนายประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือตกเป็นผู้ต้องหาในจำเลยในการกระทำความผิดดังกล่าวเสียเอง

อีกทั้งยังเคยแสดงความเห็นให้แก้ไขและยกเลิก ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ผ่านการจัดกิจกรรมทางการเมือง และสื่อสังคมออนไลน์หลายครั้ง ด้วยเจตนามุ่งหมายที่จะแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเป็นชาติไทยออกจากกัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐอย่างมีนัยยะสำคัญ ลดทอนสถานะความคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ และใช้ประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อหวังผลคะแนนเสียงและชนะการเลือกตั้ง มุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกโจมตี ติเตียน เป็นการทำร้ายจิตใจของชาวไทยที่มีความเคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์เพราะต้องเป็นประมุขและศูนย์รวมความเป็นชาติ และนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 จึงเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 211 วรรคสี่

เมื่อพรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมืองของประชาชน ที่มีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตย การยุบพรรคการเมืองจึงต้องเคร่งครัด ระมัดระวังให้ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ความรุนแรงของพรรคการเมือง การยุบพรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายและขึ้นอยู่กับการกระทำของพรรคการเมืองนั้นๆ ผู้ถูกร้องมีการกระทำอันฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2) กฎหมายดังกล่าวต้องใช้กับพรรคการเมืองทุกพรรคไม่ว่าพรรคการเมืองนั้นจะได้รับการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม 

แต่ทุกพรรคการเมืองต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับเดียวกันอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน อันเป็นพฤติการณ์แล้วข้อกฎหมายที่ได้สัดส่วน และจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามเพื่อหยุดยั้งการทำลายพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามที่กฎหมายให้กระทำโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 

"แม้นักวิชาการสาขาต่างๆ นักการเมือง หรือนักการทูตของต่างประเทศต่างก็มีรัฐธรรมนูญ และกฎหมายภายในประเทศ รวมทั้งข้อกำหนดของตนที่แตกต่างกัน ตามบริบทของแต่ละประเทศ การแสดงความเห็นใดๆย่อมต้องมีมารยาททางการทูต"

กรณีจึงมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องจะทำการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1)(2) อันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (2)

นายปัญญา อุดชาชน ตุลการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านว่า ประเด็นที่สองคณะกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยกจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคสองหรือไม่เพียงใด ผู้ถูกร้องได้ยื่นโต้แย้งว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคสอง ไม่ได้บัญญัติและระยะเวลาในการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคไว้อย่างชัดแจ้ง จึงต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับหลักพอสมควรแก่เหตุโดย กำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคผู้ถูกฟ้อง และให้เพิกถอนสิทธิรับสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องชุดที่ 1 และชุดที่ 2 เท่านั้น 

เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง  มาตรา 92 วรรคสอง บัญญัติในลักษณะบังคับว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้วมีพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพรรคการเมืองและสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น เมื่อผู้ถูกร้องกระทำการเป็นเหตุให้สั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง

ศาลรัฐธรรมนูญต้องสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคหนึ่ง(1)(2) เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคแล้ว ชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้อง ที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอยู่ในระหว่างวันที่ 25 มี.ค. 2564 ถึงวันที่ 31 ม.ค. 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคสอง 

มีประเด็นพิจารณาต่อไปว่า เมื่อวินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคแล้ว จะต้องสั่งเพิกถอนสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งเป็นระยะเวลาเท่าใด 

เห็นว่า การกำหนดระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิทธิทางการเมืองอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้อาสาเข้ามาทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องพิจารณาให้เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนให้พอเหมาะพอควรระหว่างพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำให้ได้สัดส่วนตามโทษที่ได้รับ ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคล แม้การกระทำของผู้ถูกร้องตามคำวินิจฉัยที่3/2567 จะเป็นการกระทำต่อสถาบันหลักของชาติซึ่ งเป็นสถาบันสร้างและกอบกู้ชาติไทยและเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนคนไทยชาวไทยก็ตาม 

แต่เมื่อการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่พ.ศ. แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาทเมื่อ วันที่ 25 มี.ค.2564 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคผู้ถูกร้องต่อสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่ได้รับการบรรจุเข้าวาระการใช้เป็นนโยบายของพรรคผู้ถูกร้อง หรือการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวยังต้องผ่านกระบวนการนิติบัญญัติและรัฐสภา จึงยังมิก่อให้เกิดความเสียหาย ร้ายแรงต่อการปกครองของประเทศชาติ 

นอกจากนี้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่3/2567 เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2567 สั่งการให้ผู้ถูกร้องเลิกการกระทำดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องได้นำนโยบายการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ออกจากเว็บไซต์ของพรรคผู้ถูกร้อง และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกร้องได้ทำการที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งห้ามอีกเลย 

ดังนั้นให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องผู้ดำรงตำแหน่งอยู่ในระหว่างวันที่ 25 มี.ค. 2564 ถึงวันที่ 31 ม.ค.2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคของผู้ถูกร้องมีกำหนดเวลา 10 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง สอดคล้องกับระยะเวลาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 94 วรรคสอง

ประเด็นที่สามผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกฟ้องที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกทั้งนี้ภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่พรรคผู้ถูกร้องถูกยุบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 94 วรรคสองหรือไม่

เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 94 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่าห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งด้วยเหตุดังกล่าวไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือไปเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ทั้งนี้ภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ 

บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวเป็นบทบัญญัติว่าด้วยผลของการฝ่าฝืนกฎหมายซึ่งมิได้ให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องและเพิกถอนสิทธิ์การสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกฟ้องแล้วต้องให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกฟ้องที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวในระหว่างวันที่ 25 มี.ค. 2564 ถึงวันที่ 31 ม.ค.2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ทั่วไปจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ ภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 94 วรรคสอง

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นศาลรัฐธรรมนูญมติเป็นเอกฉันท์สั่งให้ยุบพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1)(2) และวรรคสอง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกฟ้องที่ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 25 มี.ค. 2564 ถึงวันที่ 31 ม.ค. 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องตามมาตรา 92 วรรคสอง มีกำหนดเวลา 10 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง และห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องช่วงเวลาดังกล่าวไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกภายในกำหนด 10 ปีนับนับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตามมาตรา 94 วรรคสอง

ทั้งนี้มติยุบพรรคดังกล่าวแบ่งเป็นมติเอกฉันท์ 9 เสียงที่เห็นว่าพรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิถีทางที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา92(1)

ส่วนที่เห็นว่าพรรคก้าวไกลกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 92วรรคหนึ่ง(2) นั้นเป็นมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 โดย นายนายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ เป็นตุลาการเสียงข้างน้อย

และมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 เสียง สั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในระหว่างวันที่ 25มี.ค.64 -วันที่31 ม.ค.67 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคมีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งสอดคล้องกับระยะเวลาตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 94 วรรคสองโดยผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงดังกล่าว จะไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ ภายในกำหนด 10ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรรมการบริหารพรรค ที่ถูกตัดสิทธิมีทั้งสิ้น 11 คน  ประกอบด้วย ส.ส.บัญชีรายชื่อ 5 คน  คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ขณะนั้น  นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคขณะนั้น  น.ส.เบญจา แสงจันทร์   นายสุเทพ อู่อ้น นายอภิชาต ศิริสุนทร   

ส.ส.เขต  1 คน คือ นายปดิพัทธ์ สันติ ภาดา สส.พิษณุโลก    ซึ่งถูกขับพ้นพรรคและปัจจุบันสังกัดพรรคเป็นธรรม

ส่วนกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่ไม่ได้ เป็น ส.ส.ในปัจจุบัน ประกอบด้วย ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค นายณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค  นายสมชาย ฝั่งชลจิตร  นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล และ นายอภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์