“สรรเพชญ”กระทุ้งรัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา“อควาเรียมหอยสังข์” และปัญหาประมง

25 ก.ค. 2567 | 13:19 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ค. 2567 | 13:22 น.

“สรรเพชญ”กระทุ้งรัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา “อควาเรียมหอยสังข์” และปัญหาประมง ที่ ส.ส.นำเสนอ ซัด 1 ปี ไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา เสมือนรัฐบาลไม่ใส่ใจกับปัญหาของประชาชน

วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 นายสรรเพชญ บุญญามณี ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้หารือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งสารไปยังนายกรัฐมนตรี ให้เร่งติดตามแก้ไขปัญหาที่ตนได้เคยอภิปรายไว้ในสภาผู้แทนราษฎร หลังผ่านมากว่า 1 ปีเต็มแล้วไม่มีความคืบหน้า ใน 2 เรื่อง ได้แก่ 

เรื่องโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาเพาะพันธุ์สัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา หรืออ ควาเรียมหอยสังข์ ซึ่งเป็นปฏิมากรรมที่แสดงถึงความฉ้อฉลทุจริตการก่อสร้างโครงการของรัฐ ที่มีความล่าช้ากว่า 15 ปี และกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 16 โดยใช้งบประมาณกว่า 1,400 ล้านบาท และโครงการยังไม่แล้วเสร็จ

อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือ เรื่องปัญหาของชาวประมง ที่กำลังรอคอยคำตอบจากรัฐบาล โดยเฉพาะในเรื่องของการรับซื้อเรือคืนจากชาวประมง ซึ่งใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท เนื่องจากชาวประมงได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ทำให้ชาวประมงไม่สามารถประกอบอาชีพ และต้องประสบปัญหาทางการเงินในครอบครัว กู้เงินนอกระบบ ขายที่ดินทรัพย์สินที่มีเพื่อส่งเสียให้บุตรหลานได้เรียนหนังสือต่อ 

อีกทั้งเรือที่เป็นอุปกรณ์ทำมาหากิน ก็เอาออกทะเลไปประกอบอาชีพไม่ได้ ซ้ำร้ายปัจจุบันก็กำลังจะประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ที่จะทำลายระบบนิเวศและสัตว์พื้นถิ่นซ้ำเติมปัญหาของชาวประมงอีก 

นอกจากนี้ นายสรรเพชญ ได้ขอให้นายกรัฐมนตรีได้กำชับไปยังรองนายกรัฐมนตรี ที่เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงและอุตสาหกรรมการประมง ให้เร่งประชุมคณะกรรมการเพื่อหาทางออก และมีมติในการช่วยเหลือชาวประมงโดยเร่งด่วนที่สุด

นายสรรเพชญ กล่าวย้ำว่า ทั้ง 2 เรื่องนี้ได้เคยหารือในสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2567 ซึ่งบัดนี้ผ่านมา 1 ปีเต็มที่ตนได้เคยหารือ ได้ใช้ทุกกลไกของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ทั้งการหารือ การตั้งกระทู้ถาม การเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลในกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ การยื่นหนังสือเพื่อติดตามความคืบหน้าถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

“ปัจจุบันผ่านมา 1 ปีแล้วยังไม่มีความคืบหน้า ผมเกรงว่าหากเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้จะส่งผลเสียต่อฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะหากผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนของประชาชน ไม่สามารถทำอะไรได้แล้วประชาชนจะพึ่งใครได้” 

นายสรรเพชญ กล่าวว่า การที่รัฐบาลละเลยปัญหาที่เป็นเสียงสะท้อนจากประชาชนผ่านผู้แทนราษฎรและหารือในสภานั้น อาจแสดงถึงความไม่จริงใจ ไม่ใส่ใจของรัฐบาลในการทำงาน เสมือนเป็นการละเลยเสียงสะท้อนจากประชาชน 

“อีกทั้งยังมีอีกหลาย ๆ ปัญหาที่รัฐบาลทำตัวดินพอกหางหมูไม่เร่งแก้ไขให้แล้วเสร็จ ถนัดทำแต่เรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง สุดท้ายแล้วประชาชนก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นายสรรเพชญ กล่าว