ครม.จัดตั้งศาลภาษีอากร ให้อำนาจ ดำเนินคดีอาญาได้

16 ก.ค. 2567 | 15:39 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ค. 2567 | 16:09 น.

ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากร ให้อำนาจพิพากษาคดีอาญาเกี่ยวกับภาษีอากรได้ ลดภาระ เวลาค่าใช้จ่ายของคู่ความ เพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายภาษีอากร

วันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การพิจารณาพิพากษาคดีอาญาเกี่ยวกับภาษีอากร) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร

นายคารมกล่าวว่า สาระสำคัญของร่างฯ เป็นการกำหนดให้ศาลภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอาญาที่เกี่ยวกับภาษีอากร และให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวโดยอนุโลม

นายคารมกล่าวว่า แก้ไขเพิ่มเติมการรับทราบกำหนดนัดของศาลในคดีภาษีอากรไม่ใช้กับคดีอาญาที่เกี่ยวกับภาษีอากร และแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในคดีภาษีอากร เพื่อให้คู่ความดำเนินคดีไปคราวเดียวไม่ต้องแยกไปดำเนินคดีในอีกศาลหนึ่ง (ปัจจุบันคดีภาษีอากรในส่วนแพ่งดำเนินกระบวนพิจารณาโดยศาลภาษีอากร ส่วนคดีภาษีอากรในส่วนอาญาดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลยุติธรรมอื่น)

นายคารมกล่าวว่า เป็นการลดภาระทั้งด้านเวลาและค่าใช้จ่ายของคู่ความ ศาล และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายภาษีอากรเพื่อจัดเก็บผลประโยชน์ของรัฐและการให้ศาลภาษีอากรซึ่งเป็นศาลชำนัญพิเศษด้านภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่เกี่ยวกับภาษีอากรจะเป็นผลให้การดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวกับอากรมีความถูกต้องและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น อันเป็นการยกระดับในการคุ้มครองสิทธิของคู่ความในคดีอาญาที่เกี่ยวกับภาษีอากร

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมได้มติเห็นชอบด้วยแล้ว 

นายคารม กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นการเพิ่มอำนาจให้ศาลภาษีอากรสามารถพิจารณาคดีอาญาที่เกี่ยวกับภาษีอากร โดยจะมีการปรับปรุงอาคารที่ทำการศาลหรือก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลซึ่งจะมีผลกระทบด้านงบประมาณ เนื่องจากต้องมีการเพิ่มกรอบอัตรากำลังของข้าราชการตุลาการและข้าราชการศาลยุติธรรม เห็นควรมอบหมายให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมและคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมร่วมกับสำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมต่อไป