เปิดผลกระทบ "นำช่อดอก"กัญชา-กัญชง" เป็นยาเสพติด

06 ก.ค. 2567 | 12:58 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2567 | 13:22 น.

"ปานเทพ"้เปิดผลกระทบนำช่อดอกกัญชา-กัญชง เป็นยาเสพติด เตือนจะสร้างปัญหาใหม่ที่ร้ายแรง แนะทางออกควรตราเป็นพ.ร.บ. กัญชา กัญชง เป็นการเฉพาะมากกว่า

วันที่ 6 ก.ค. 2567 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก "ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์" เกี่ยวกับร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่จะนำดอกกัญชา และกัญชง กลับเป็นยาเสพติด ดังนี้...

คำแถลงเตือนครั้งสุดท้าย ประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่ได้เหมาะกับการแก้ไขปัญหากัญชา กัญชง และจะสร้างปัญหาใหม่ที่ร้ายแรงกว่า  / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


 

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ผมได้เป็น 1 ใน 2 คนผู้เป็น "เสียงข้างน้อย" ในคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด โดยในที่ประชุมจำนวน 18 คนเสียงข้างมากได้เห็นชอบให้เสนอแนะประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้ช่อดอกกัญชา และช่อดอกกัญชงให้กลับไปเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5  ผมขอยืนยันว่าได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ในที่ประชุมแล้วด้วย

และไม่ได้แปลว่าผมเห็นด้วยกับการปล่อยเสรีกัญชา หรือกัญชง แต่ในทางตรงกันข้ามผมเสนอให้ร่างเป็นพระราชบัญญัติในการควบคุมกัญชา และกัญชง เป็นการเฉพาะแทน

และความเห็นที่ผมได้ให้ไปว่าการนำช่อดอกกัญชา และกัญชงกลับไปเป็นยาเสพติด จะเกิดปัญหาอย่างไรบ้างในอนาคตนั้น ได้อยู่ในบันทึกในรายงานการประชุมแล้ว

แต่มีอยู่ 1 ประเด็นที่ผมเห็นว่าสังคมไทยไม่ได้ตระหนักรับรู้ว่า ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับปัจจุบัน ไม่ได้เหมาะกับการใช้เพื่อแก้ไขปัญหา กัญชาและกัญชงแล้ว

ขอย้ำว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยมีพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ และประมวลกฎหมายยาเสพติด 

แต่ต่อมาราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ได้มีการยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดหลายฉบับให้มาอยู่รวมในฉบับเดียวคือ ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับปัจจุบัน

แต่เนื่องจากในปีนั้น ได้เกิดสถานการณ์ที่มีผู้ใช้กัญชาใต้ดินอย่างมหาศาล โดยผลสำรวจของศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติดได้รายงานว่าผลการสำรวจในปี 2563-2564 ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องเสี่ยงใช้กัญชาอย่างผิดกฎหมายเพราะเข้าไม่ถึงกัญชาทางการแพทย์ และแพทย์ส่วนใหญ่ไม่จ่ายกัญชา 

โดยมีผู้ใช้กัญชานอกข้อบ่งใช้ในโรคที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขมากถึงร้อยละ 84 (ใช้อย่างผิดกฎหมาย) แต่มีผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นถึงดีขึ้นมากรวมร้อยละ 93 อีกทั้งยังลดและเลิกใช้ยาแผนปัจจุบันร้อยละ 58 แต่คนเหล่านี้ย่อมเสี่ยงเป็นอาชญากรอย่างไม่เป็นธรรม

เปิดผลกระทบ \"นำช่อดอก\"กัญชา-กัญชง\" เป็นยาเสพติด

ด้วยเหตุผลนี้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับปัจจุบันในมาตรา 29 จึงไม่ได้ระบุ ”ชื่อพืช“  กัญชา หรือ กัญชง ให้อยู่ใน “ตัวอย่าง“เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ซึ่งแตกต่างจากพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ และประมวลกฎหมายยาเสพติดให้โทษก่อนหน้านั้นทุกฉบับ ด้วยเพราะว่าต้องการ “เปิดช่อง“ให้กัญชาและกัญชงสามารถถูกปลดล็อกออกจากยาเสพติดและมีกฎหมายควบคุมเฉพาะที่แตกต่างจากยาเสพติดอื่นๆได้

กระบวนการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดจึงเกิดขึ้นหลังจากนั้นอีกประมาณ 3-4 เดือน และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เพราะในเวลานั้นมีผู้ป่วยใช้กัญชาเป็นผู้กระทำผิดต่อประมวลกฎหมายยาเสพติดจำนวนมาก  แต่ก็ใช้กฎหมายชั่วคราวอื่นๆควบคุมไปพรางก่อน โดยหวังว่าร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ซึ่งควรจะถูกตราขึ้นโดยสภาผู้แทนราษฎรให้ได้โดยเร็ว ก็กลายเป็นเกมการเมือง จนทำให้ไม่มีกฎหมายควบคุมในระดับพระราชบัญญัติจนถึงวันนี้

อย่างไรก็ตาม ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับนี้ ไม่ได้ออกมาเพื่อการใช้แก้ไชปัญหากัญชา และกัญชง ยิ่งฝืนทำไปก็จะมีผู้ที่ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ เกษตรกร ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน จะต้องได้รับความเดือดร้อนยิ่งกว่าเดิมอย่างแน่นอน โดยจะขอยกตัวอย่าง 2 กรณี

หากคณะกรรมการ ป.ป.ส. หรือรัฐบาล ยืนยันว่าจะนำช่อดอกกัญชา และช่อดอกกัญชงกลับไปเป็นยาเสพติด จะส่งผลทำให้ “สถานพยาบาลที่จำหน่ายกัญชาอยู่แล้ว” เช่น คลินิกกัญชา (รวมถึงคลินิกแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์) ที่จำหน่ายช่อดอกกัญชา ช่อดอกกัญชง หรือสารสกัดที่มี THC เกิน 0.2 อยู่ในปัจจุบัน จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 40 และ 95 ของประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่บัญญัติว่าผู้ได้รับใบอนุญาต “การจำหน่าย” กัญชา กัญชงและสารสกัด จะต้องมี “เภสัชกรประจำและตลอดเวลาทำการ” 

นอกจากจะทำให้สร้างภารต่อสถานพยาบาลเหล่านี้แล้ว ยังอาจเข้าข่ายทำให้เกิดความขัดแย้งกับผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย และแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่เดิมเคยจ่ายยาสมุนไพรด้วยตัวเองได้  แต่กลับต้องอาศัยเภสัชกรในสถานพยาบาลแทน

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมาตรา 1 ของประมวลกฎหมายยาเสพติด กำหนดว่าการ “ผลิต” ได้มีความหมายรวมถึงการ “ปลูก”ด้วย แปลว่านอกจากเกษตรกรผู้ที่ปลูกเพื่อให้ได้ช่อดอกกัญชา หรือช่อดอกกัญชง แม้เพียง 1 ต้นขึ้นไปจะต้องขออนุญาตแล้ว  จะต้องมี “เภสัชกรประจำและตลอดเวลาทำการ” ในแปลงเพาะปลูกกัญชา กัญชงทั่วประเทศอีกด้วย ตามมาตรา 40 และ 95 ของประมวลกฎหมายยาเสพติด เราจะแก้ปัญหาได้ดีขึ้นจริงหรือ

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นผมจึงเห็นว่าร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เสนอให้นำช่อดอกกัญชา และช่อกัญชงกลับไปเป็นยาเสพติด นอกจากจะมีปัญหาเพราะไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ง่ายแล้ว

หากมีส่วนที่จะบังคับใช้กฎหมายได้ก็กลับสร้างภาระให้กับสถานพยาบาลที่จำหน่ายกัญชาอยู่ทั่วประเทศ และยังสร้างภาระให้กับเกษตรกรรายย่อยอีกด้วย  และจะส่งผลทำให้มีผู้ป่วยและเกษตรกรที่กระทำผิดกฎหมายเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น เพราะประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหากัญชา กัญชง

ทางออกในเรื่องนี้จึงควรตราเป็นพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง เป็นการเฉพาะมากกว่า เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะออกแบบการใช้ประโยชน์ การห้ามใช้ และการคุ้มครองกลุ่มคนที่ไม่ได้ใช้กัญชาหรือไม่ควรใช้กัญชาอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่การออกแบบภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับนี้ที่จะสร้างปัญหามากกว่า