ส่องโอกาส “กัญชา-กัญชง” จี้รัฐบาล วางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน

17 ก.ย. 2566 | 13:20 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ย. 2566 | 13:21 น.

นักวิชาการชี้เส้นทาง “กัญชา-กัญชง” ไทยยังไม่นิ่ง หลังนโยบายรัฐบาลกำหนดเป็น “กัญชาเพื่อการแพทย์และสุขภาพ” แนะเปิดรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน ก่อนวางยุทธศาสตร์เดินหน้าขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

ถูกจับตามองว่า “กัญชา” ภายใต้การขับเคลื่อนของรัฐบาลใหม่ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี จะสะดุดหรือเดินหน้าต่อ เมื่อหนึ่งในผู้ผลักดัน “กัญชาเสรี” อย่างพรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วย และหากเดินหน้าต่อ จะมีนโยบายอย่างไร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการตลอดจนสังคมโดยรอบ

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดี สถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต และโฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข และเคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง (ฉบับที่…) พ.ศ. …

เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กัญชาหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเดินหน้าต่ออย่างไร ประการแรกก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปรามยาเสพติดซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดใหญ่และคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ขึ้นมากำหนดว่า “กัญชา” จะเป็นยาเสพติดหรือไม่เป็นยาเสพติด

ส่องโอกาส “กัญชา-กัญชง” จี้รัฐบาล วางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน

ประการที่ 2 พรรคเพื่อไทยแม้จะมีท่าทีขัดแย้งกับนโยบายของพรรคภูมิใจไทยในช่วงรัฐบาลที่แล้ว ในเรื่องของนโยบายกัญชา แต่ในระหว่างการหาเสียงพรรคเพื่อไทยไม่ได้ประกาศว่ากัญชาจะต้องกลับไปเป็นยาเสพติด แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางด้านการแพทย์ ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่าคำว่าทางการแพทย์เป็นได้ทั้งยาเสพติดและไม่ใช่ยาเสพติด เพราะองค์การคณะกรรมการยาเสพติดระหว่างประเทศกำหนดว่าแม้จะเป็นยาเสพติดก็สามารถใช้ทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์ได้

“ปัญหาสำคัญคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่จะมองเห็นหรือไม่ว่าการใช้กัญชาไม่ควรถูกผูกขาดอยู่กับการแพทย์แผนปัจจุบันเพียงกลุ่มเดียว เพราะมีแนวโน้มว่าจะต้องใช้สิทธิบัตรยาจากต่างประเทศทั้งสิ้น ต่างจากสมุนไพรเต็มส่วนที่นำมาใช้ในทางแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านหรือแม้กระทั่งประชาชนสามารถใช้เพื่อการพึ่งพาตัวเองทางการแพทย์ได้

อย่างไรตาม รัฐบาลประกาศชัดเจนว่า “กัญชาเพื่อการแพทย์และสุขภาพ” ซึ่งคำหลังตีความไปไกลเกินกว่าทางการแพทย์ ทำให้ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ออกฤทธิ์ทางประสาทหรือทำให้เกิดการมึนเมาถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของหลายๆผลิตภัณฑ์ทั้งในรูปของสมุนไพร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือในระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล”

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

แม้กัญชาจะมีประโยชน์แต่ต้องมีมาตรการควบคุมที่ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ สิ่งที่สืบเนื่องจากรัฐบาลที่แล้วคือห้ามจำหน่ายในโรงเรียน ไม่ให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีได้ใช้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพื่อใช้เป็นกติกาเบื้องต้น แต่เป้าหมายของรัฐบาลชุดที่แล้วคือ ต้องการมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติออกมาควบคุมอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ

“คำถามคือรัฐบาลชุดนี้มีความคิดที่จะต่อยอดจากกฎหมายซึ่งได้มีการคัดกรองมีการปรับปรุงแก้ไขจากหลายพรรคการเมืองก่อนหน้านี้แล้วหรือไม่ ถ้าทำได้ก็จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่จะสามารถต่อยอดในสิ่งที่ดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จจากรัฐบาลชุดที่แล้วให้แล้วเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นข้อห่วงใยในสังคมเรื่องเด็กเยาวชน หรือการลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ที่จะมีบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นและเข้มข้นขึ้น ซึ่งต้องการกฎหมายเฉพาะยาสมุนไพรที่ต้องมีการควบคุมแต่ไม่ถึงขั้นเป็นยาเสพติด”

ทั้งนี้หากรัฐบาลจะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดจะมีผู้ได้รับผลกระทบอีกจำนวนมาก แต่กฎหมายที่ออกมาไม่ว่าจะอยู่ในระดับประกาศกระทรวงสาธารณสุขหรือจะออกมาในนามพระราชบัญญัติหรือแม้แต่เป็นยาเสพติดตราบใดที่ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ก็จะเกิดการใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ได้ ตอนนี้ท่าทีของรัฐบาลใหม่ยังเป็นการประกาศนโยบายแบบภาพรวม

ดังนั้นหากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับกัญชาควรเริ่มจากการรับฟังความคิดเห็นที่รอบด้านไม่ใช่แค่กลุ่มหมอหรือแพทย์ชนบทเพียงกลุ่มเดียวซึ่งต่อต้านกัญชามาตลอด แต่ควรฟังประชาชนผู้ใช้กัญชา ผู้ประกอบการและชาวบ้านที่พึ่งพาตัวเองด้วยกัญชาว่ามีความคิดเห็นอย่างไร

ส่องโอกาส “กัญชา-กัญชง” จี้รัฐบาล วางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน

ล่าสุดเยอรมันที่เคยตามหลังกัญชาของไทยได้ทำการปลดล็อคกัญชาเป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมาย และมีแนวโน้มเกิดขึ้นทั่วโลกเพราะประชาชนจำนวนมากได้รับประโยชน์ทางการแพทย์ ทำให้การใช้ยาแผนปัจจุบันลดลงในหลายกลุ่มอาการ แน่นอนว่าการใช้ยาที่ลดน้อยลงกระทบต่อกลุ่มทุนบริษัทยาและกลุ่มทุนทางการแพทย์จำนวนมาก

ทำให้มีกระบวนการทำลายกัญชาไม่ให้ประชาชนเข้าถึงนี่คือ ประเด็นสำคัญถ้ารัฐอ่านไม่ขาดก็จะต้องตัดสินใจว่าจะให้ผูกขาดอยู่กับกลุ่มทุนทางการแพทย์และบริษัทยาไม่กี่แห่ง หรือจะมองว่ากัญชาเป็นเรื่องของสมุนไพรพื้นฐานที่มีทั้งประโยชน์และโทษเหมือนกับสมุนไพรชนิดอื่นพร้อมกับการให้ความรู้ได้

เป้าหมายหลักสำคัญของกัญชาทางการแพทย์คือความมั่นคงทางการยาในครัวเรือนของประชาชน ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพายาและค่าใช้จ่ายของประชาชนได้ ที่สำคัญไปกว่านั้นคือการที่จะเกิดกระแสเกี่ยวกับกัญชานั้นจะต้องไม่ใช่เกิดเพราะการเมืองที่เน้นการโจมตีเพื่อเอาชนะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและทำให้เกิดผลเสียของกัญชา

ส่องโอกาส “กัญชา-กัญชง” จี้รัฐบาล วางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน

เมื่อบรรยากาศการเลือกตั้งจบแล้วก็ควรหันหน้ามาคุยกันด้วยสภาพข้อเท็จจริง เพราะในช่วงที่มีการแก้ไขพ.ร.บกันชง กัญชาก่อนการเลือกตั้งทุกพรรคเห็นด้วยทั้งหมดกับนโยบายการออกกฎหมายเพื่อใช้กัญชาโดยไม่ใช้ยาเสพติด แต่พอใกล้การเลือกตั้งก็กลับมาเป็นประเด็นทางการเมือง”

ทั้งนี้จากข้อมูลของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีการประเมินมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมกัญชา-กัญชง ณ ปี 2565 นับตั้งแต่ต้นน้ำถึงผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ มีมูลค่ารวมกว่า 28,000 ล้านบาท แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ต้นน้ำมูลค่า 9,615 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์กลางน้ำ 14,690 ล้านบาท

ส่วนผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ 3,750 ล้านบาท แบ่งเป็น ยารักษาโรคและอาหารเสริม มูลค่า 1,500 ล้านบาท อาหารและเครื่องดื่ม 1,200 ล้านบาท เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคล 800 ล้านบาท เครื่องนุ่งห่มและของใช้ส่วนตัว 250 ล้านบาท และยังมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดในอีก 2 ปีข้างหน้า จะโตได้ 10-15% คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 42,800 ล้านบาท

ขณะเดียวกันทางฝั่งของผู้ประกอบการกัญชาทางการแพทย์ยังคงมีการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น บูทิค คอร์ปอเรชั่น (BC) ที่ขยายการเปิดสาขาคณา เพียว (KANA PURE) เพิ่มอีก 3 สาขาใหม่ล่าสุด จากเดิมที่มี 7 สาขาและจะทยอยเปิดสาขาให้ครบ20 สาขา ตามแผนที่วางไว้ในช่วงครึ่งปีหลัง

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,923 วันที่ 17 - 20 กันยายน พ.ศ. 2566